วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562

รัฐกับการจัดการศึกษา

นักเศรษฐศาสตร์มีแนวโน้มที่จะมองว่า การศึกษาเป็นสินค้ากึ่งสาธารณะ ฉะนั้น ความรับผิดชอบการศึกษาจึงเป็นทั้งของรัฐบาลและของผู้เรียน โดยรัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ผู้พัฒนาและผู้ทำให้เกิดความเป็นธรรม ด้วยการดำเนินการจัดการศึกษาในลักษณะต่อไปนี้คือ 1) พัฒนาโครงสร้างของการบริการของรัฐและของสถาบันการศึกษา 2) สร้างความเป็นธรรมทางการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ในการจัดการศึกษา จะมีสถานการณ์ 2 แบบ ที่เป็นปัญหาถกเถียงจนเกิดความเครียดและความขัดแย้งในสังคม ปัญหาดังกล่าวคือ

1. ความยุติธรรมและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ในระบบการศึกษาการจัดการศึกษาเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพื่อความเท่าเทียมกันในโอกาสมักจะคู่กันเสมอ แต่ไม่ง่ายที่จะทำไปพร้อมๆกัน เพราะการเพิ่มจำนวนประชากร ความกดดันของผู้ปกครองและการเมือง ทำให้เกิดปัญหาระหว่างความยุติธรรมและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ

2. ปริมาณและคุณภาพ ในการจัดการศึกษาจะมีความขัดแย้งเรื่องปริมาณและคุณภาพอยู่เสมอเมื่อทรัพยากรมีจำกัด เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความต้องการขยายการศึกษาและปรับปรุงคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น เรามักจะต้องการเพิ่มจำนวนนักเรียน ครู อาคารสถานที่ พร้อมทั้งปรับปรุงสภาพต่างๆ เช่น มีตำราเรียนที่ได้มาตรฐาน มีครูที่มีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ที่ได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างดี มีอาคารเรียนที่มีอุปกรณ์ครบครัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

ฉะนั้น ในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการศึกษา จะต้องเป็นการตัดสินใจที่สร้างความสมดุลในเรื่องต่อไปนี้ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสมอภาค คุณภาพกับปริมาณ และ การคัดเลือกกับการเปิดกว้างสำหรับทุกคน

ในกรณีที่จำเป็นจะต้องเลือก นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า ควรเน้นการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา ควรขยายระบบอุดมศึกษา เพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

เนื่องจากการศึกษาเป็นการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์ ให้มีความสำนึกถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมและการมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  การศึกษาจึงต้องช่วยให้ทุกคนสามารถที่จะมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเสรี มีประสิทธิผล ส่งเสริมความเข้าใจ มีความอดทนในความแตกต่าง เกิดความสามัคคีระหว่างคนในชาติและนานาชาติ จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐในการที่จะประกันสิทธิทางการศึกษา ด้วยการจัดการศึกษา ดังนี้

1. การศึกษาขั้นพื้นฐาน จะต้องกระตุ้นให้มีการศึกษาอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกระบบโรงเรียน การประถมศึกษาจะต้องเป็นการศึกษาภาคบังคับและจัดให้ฟรีสำหรับทุกคน ส่วนระดับมัธยมศึกษาควรจัดในรูปแบบต่างๆทั้งสามัญศึกษา ช่างเทคนิค และอาชีวศึกษา และจัดให้ทั่วถึงสำหรับทุกคนโดยใช้วิธีที่เหมาะสม

2.  การศึกษาระดับอุดมศึกษา จะต้องเปิดโอกาสให้ทุคน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของสมรรถภาพของแต่ละบุคคลและใช้วิธีที่เหมาะสม

3. การศึกษาในระบบ สื่อการสอน และครู จะต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางและความรับผิดชอบของรัฐในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่วนจะจัดได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับทรัพยากร รวมทั้งสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                             สาระคำ

การศึกษ คือ ความเจริญงอกงาม (Education is growth.)

                                                                  John Dewey

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2562

รูปแบบการเรียนรู้ในคริสต์ศตวรรษที่ 21

ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีวิธีการสื่อสาร การสะสม และการเผยแพร่ข้อมูลมากมาย อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หากจะจัดการศึกษาโดยวิธีดั้งเดิม ซึ่งมุ่งในเรื่องปริมาณและอาศัยความรู้เป็นหลัก ย่อมจะไม่มีความเหมาะสมอีกต่อไป

และหากจะป้อนความรู้ให้แก่เด็กตั้งแต่เยาว์วัย เพียงเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในภายหน้านั้นย่อมไม่เพียงพอ จะต้องสอนให้ทุกคนพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และเจตคติของตน ตลอดจนสามารถปรับตัวไปตามกระแสที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และผันแปรตลอดเวลา รวมทั้งทุกคนจะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน

คณะกรรมาธิการนานาชาติว่าด้วยการศึกษาในศตวรรษที่ 21 พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาและอุปสรรคที่จะต้องเผชิญในคริสต์ศตวรรษที่ 21  จำเป็นจะต้องเปลี่ยนจุดมุ่งหมายของการศึกษา เปลี่ยนความคาดหวังจากการศึกษา ด้วยการจัดการศึกษาที่อาศัยวิธีการเรียนรู้ 4 แบบ ที่เป็นเสาหลักขององค์ความรู้ คือ

1. การเรียนรู้เพื่อรู้

การเรียนรู้แบบนี้เป็นการเรียนรู้วิธีแสวงหาความรู้ ซึ่งเป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายร่วมกัน

การเรียนรู้เ้พื้่อรู้ในฐานะที่เป็นวิธีการ จะช่วยให้เข้าใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพียงพอที่จะให้สามารถมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี พัฒนาทักษะเพื่อการประกอบอาชีพ และสามารถติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างดี

ในฐานะที่เป็นเป้าหมาย การเรียนรู้ประเภทนี้ อาศัยความพอใจที่ได้เข้าใจ ได้รู้ และได้ค้นพบสิ่งต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความรู้มีมากมายหลายแบบ จึงไม่มีประโยชน์ที่พยายามรู้ทุกอย่างหลังจากการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า การเชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่งจะต้องตัดความรู้ทั่วไปออกเสียเลย เพระผู้เชี่ยวชาญจะต้องมีภูมิหลังที่กว้าง เพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้ ร่วมมือกับผู้อื่นได้

2. การเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติ

การเรียนรู้เพื่อรู้กับการเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติ แทบจะแยกออกจากันไม่ได้ แต่การเรียนรู้เพื่อการปฏิบัตินั้นมีความสัมพันธ์กับการฝึกวิชาชีพมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้แต่เพียงให้มีความชำนาญด้านวิชาชีพเท่านั้น ย่อมไม่เป็นการเพียงพอ ต้องสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ตลอดจนการปฏิบัติงานเป็นหมู่คณะ การเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติ เป็นการเรียนรู้ใหม่โดยอาศัยประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งอาจเป็นการเรียนนอกระบบโรงเรียนหรือในระบบโรงเรียน ที่ใช้หลักสูตรซึ่งประกอบด้วยการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติสลับกับการฝึกปฏิบัติงาน

3. การเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน

การเรียนรู้ประเภทนี้ เป็นประเด็นสำคัญมากประเด็นหนึ่งสำหรับการศึกษาในปัจจุบัน เพราะหลายครั้งที่โลกของเรากลายเป็นโลกแห่งความรุนแรง

จึงเป็นไปได้หรือไม่ที่จะวางระบบการศึกษาที่ช่วยไม่ให้เกิดความขัดแย้ง หรือขจัดความขัดแย้งด้วยสันติวิธี สอนให้เข้าใจผู้อื่น ตลอดจนตระหนักว่ามนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดำเนินโครงการ และเรียนรูวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆร่วมกัน

4. การเรียนรู้เพื่อชีวิต

ในคริสต์ตวรรษที่ 21 จำเป็นจะต้องมีบุคคลที่มีความสามารถและมีบุคลิกภาพอันหลากหลาย ทำให้จำเป็นจะต้องจัดให้เด็กได้มีโอกาสมากที่สุดที่จะคิดค้นและทดลองในด้านต่างๆ เพื่อจะได้ปรับปรุงบุคลิกภาพให้ดีขึ้น ดำเนินงานโดยอิสระเสรียิ่งขึ้น มีดุลยพินิจและความรับผิดชอบต่อตนเองมากขึ้น

ทั้งนี้จะต้องไม่ละเลยศักยภาพเกี่ยวกับความจำ การใช้เหตุผล ความซาบซึ้งในสุนทรียภาพ สมรรถนะทางร่างกายและการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น

ที่ผ่านมา การศึกษาจะมุ่งในเรื่องการเรียนรู้เพื่อรู้เป็นส่วนใหญ่ โดยให้ความสนในใจการเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติน้อย ส่วนอีก 2 หลักการ ถูกละเลย หรือเหมาเอาเองว่าเป็นผลพลอยได้ของ 2 หลักการแรก  ซึ่งความจริงแล้วในการเรียนรู้ควรให้ความสำคัญแก่ทุกหลักการโดยเท่าเทียมกัน เพื่อการศึกษาจะได้เป็นประสบการณ์โดยรวมตลอดชีวิต
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                      สาระคำ

การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเนื่องมาจากการมีประสบการณ์

ประสบการณ์ หมายถึง ผลที่ได้จากการสัมผัสด้วยอวัยวะสัมผัส

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2562

วิธีสร้างอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในเชิงบวกด้วยการเป็นคู่คิดโดยการบอกเตือน

การเป็นคู่คิดโดยการบอกเตือนเป็นวิธีการหนึ่งในสามวิธี อันได้แก่ การเป็นตัวแบบเพื่อให้คนอื่นเห็น การสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจังเพื่อให้คนอื่นรู้สึก และการเป็นคู่คิดโดยการบอกเตือนเพื่อให้เขาได้ยิน จากหนังสือ Principle-centered Leadership ของ Stephen R.Covey ประกอบด้วยวิธีการต่อไปนี้

1.เตรียมจิตใจก่อนจะเตรียมคำพูด  เพราะสิ่งที่จะพูดอาจไม่สำคัญเท่าวิธีพูด ด้วยเหตุนี้ก่อนจะพูดกับคนอื่นจะต้องเตรียมจิตใจให้พร้อม คือทำตัวให้มีลักษณะน่าสนใจและสนุกสนาน ตลอดจนมีความสนใจความต้องการของคนที่จะพูดด้วยอย่างเต็มที่ โดยถามตัวเองก่อนว่า จะทำให้คนอื่นมีความสุขได้อย่างไร

2.หลีกเลี่ยงการต่อสู้หรือหนี ในการบอกเตือน บุคคลหลายคนไม่ต่อสู้ก็หนีเมื่อไม่เห็นด้วย การต่อสู้สามารถทำได้หลายลักษณ ตั้งแต่ใช้ความรุนแรง แสดงความโกรธ และความเกลียดชังอย่างเปิดเผย ใช้คำที่ทำให้คนอื่นเป็นตัวตลก จนถึงการมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างอื่น ส่วนการหนีอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น ถอยหนีไปเลย รู้สึกเสียใจกับตนเอง เย็นชาไม่ยุ่งเกี่ยว ฯลฯ การกระทำในลักษณะนี้ จะทำให้เกิดการแก้แค้นหรือการแก้เผ็ดในอนาคต ด้วยเหตุนี้ จึงควรพูดตามที่เห็นแตกต่าง โดยไม่มีพฤติกรรมต่อสู้หรือถอยหนี

3. ยอมรับและใช้เวลาเพื่อจะสอน  การสอนจะต้องเลือกเวลา บางเวลาก็ควรสอนบางเวลาก็ไม่ควรสอน เวลาที่ควรสอนได้แก่เวลาซึ่ง 1) คนอื่นไม่รู้สึกถูกคุกคาม 2) ตัวเราเองไม่มีความรู้สึกโกรธหรือคับข้องใจ และ 3) เมื่อคนอื่นต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุน

4. ตกลงเรื่องข้อจำกัด กฎเกณฑ์ ความคาดหวัง และผลที่ตามมา ความมั่นคงของบุคคลเกิดจากความสำนึกของความยุติธรรม การรู้ว่าควรจะคาดหวังอะไร อะไรคือข้อจำกัด กฎเกณฑ์ และผลที่จะตามมา เพราะจะทำให้ชีวิตไม่มีระเบียบหากมีความคาดหวังที่ไม่แน่นอน หรือเปลี่ยนข้อจำกัดหรือกฎเกณฑ์บ่อยๆ วันนี้เป็นอย่างหนึ่งอีกวันเป็นอีกอย่างหนึ่ง

5. อย่าเลิกและอย่ายอมจำนน เป็นการกระทำที่ไม่ดีนักที่ปกป้องไม่ให้บุคคลได้รับผลจากการกระทำของตนเอง เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการสอนให้เขาเป็นคนอ่อนแอ ถ้าเรายอมจำนนกับพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้วินัยของบุคคลเสียไป

6. กระทำด้วยความรอบคอบ การตัดสินใจเพื่อให้เกิดผลระยะยาว ไม่ควรตัดสินใจด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ในกรณีที่ต้องเผชิญกับบุคคลที่ใช้อารมณ์และเพื่อรักษาการมีอิทธิพลของเราไว้ เราควรปฏิบัติดังนี้ ประการแรก คิดก่อนที่จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบ คืออย่าโต้แย้งด้วยอารมณ์ หรือทำอะไรก็ตามที่กระทบต่อความสัมพันธ์ ประการที่ 2 . จะต้องเข้าใจว่าคนทุกคนมีแนวโน้มที่จะทำตามความรู้สึกมากกว่าทำตามที่รู้ ทำตามหัวใจมากกว่าทำตามสมอง เมื่อรู้สึกว่าเหตุผลของเราไม่สามารถสื่อสารกับอารมณ์ของเขาได้ เราจะต้องพยายามเข้าใจเขา โดยไม่ตำหนิหรือปฏิเสธ การสื่อสารด้วยการยอมรับตามที่เขาเป็น จะทำให้การป้องกันตนของเขาลดลง ลดการต่อสู้ และมีความปรารถนาที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง

7. พูดภาษาของเหตุผลและภาษาของอารมณ์ ภาษาของเหตุผลและภาษาของอารมณ์มีความแตกต่างกัน เมื่อใดที่รู้สึกว่าเราไม่มีภาษาร่วมกันคือพูดคนละภาษา คนหนึ่งใช้ภาษาเหตุผลแต่อีกคนหนึ่งใช้ภาษาอารมณ์ อาจจะต้องสื่อสารกันในลักษณะต่อไปนี้ 1) ให้เวลา 2) อดทน 3) พยายามเข้าใจ และ 4) แสดงความรู้สึกอย่างเปิดเผย

8. มอบหมายงานอย่างมีประสิทธิผล ในกรณีที่เป็นผู้บริหาร การมอบหมายงานอย่างมีประสิทธิผลจะต้องมีความกล้าในระดับหนึ่ง ในการที่จะอนุญาตให้บุคคลที่ได้รับมอบหมายทำผิดพลาดเกี่ยวกับ การใช้เวลา เงิน และชื่อเสียง ความกล้าในที่นี้ประกอบด้วย ความอดทน การควบคุมตัวเอง ความศรัทธาในศักยภาพของคนอื่น ตลอดจนการยอมรับในความแตกต่างระหว่า่งบุคล สำหรับการมอบหมายที่มีประสิทธผลมี 2 ทาง คือ ให้ผู้ที่รับมอบหมายรับผิดชอบกับรับผิดชอบด้วยตนเอง

9. เกี่ยวข้องกับคนอื่นในโครงการที่มีความหมาย โครงการที่มีความหมายมีอิทธิพลในการส่งเสริมบุคคล  โครงการจะมีความหมายก็ต่อเมื่อทุกคนที่เกี่ยวข้องมีส่วนในการวางแผนและคิดกระบวนการ มนุษย์ทุกคนอยากเกี่ยวข้องกับสิ่งดีๆ เพราะถ้าชีวิตไม่มีโครงการดีๆชีวิตจะไม่มีความหมาย

10. ฝึกอบรมตามกฎของการเก็บเกี่ยว หมายถึง การฝึกให้เข้าใจตามหลักการทำการเกษตร ว่าในการทำการเกษตรจะต้องมีการ เตรียมดิน ไถ ปลุก รดน้ำ้ กำจัดวัชพืช แล้วจึงเก็บเกี่ยว อันเป็นกระบวนการการทำการเกษตร ในการทำงานก็เช่นเดียวกัน จะต้องมีขั้นตอนในการทำงาน เพราะหากมีกระบวนการและขั้นตอนที่เหมาะสม จะได้รับผลตอบแทนที่ดี เพราะในการทำงานผลที่ได้รับ จะเป็นผลจากที่บุคคลได้ทำลงไป

11. ปล่อยให้ผลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติสอนพฤติกรรมความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นวิธีสอนวิธีหนึ่งที่สอนให้เกิดความรับผิดชอบได้ กล่าวคือเมื่อบุคคลตัดสินใจทำอะไรลงไป จะต้องรับผิดชอบผลที่เกิดจากการกระทำนั้น คนอื่นไม่ควรรับผิดชอบแทน

อนึ่ง ในการใช้วิธีสร้างอิทธิพลเหนือคนอื่นในเชิงบวกของ Covey ทั้ง 3 วิธี ให้เกิดประสิทธิผล จะต้องใช้ทั้งสามวิธี  ตามควรแ่ก่เหตุ แม้วิธีการเป็นคู่คิดโดยการบอกเตือนค่อนข้างจะยาก ก็ตาม เพราะคนส่วนมากไม่ค่อยจะยอมรับคำเตือนจากบุคคลอื่น

อย่างไรก็ตาม จากความพยายามที่จะมีอิทธิพลเหนือคนอื่น มักจะมีความผิดพลาด 3 ประการ ได้แก่

ข้อผิดพลาดประการที่ 1 ให้คำแนะนำก่อนที่จะเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อบุคคลนั้น การแนะนำโดยไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์ต่อกันทำให้เกิดความผิดพลาดได้

ข้อผิดพลาดประการที่ 2 พยายามสร้างความสัมพันธ์โดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงความประพฤติหรือทัศนคติทั้ง 2 ฝ่าย

ข้อผิดพลาดประการที่ 3 สรุปเอาว่า เพียงแต่เป็นตัวอย่างและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็เพียงพอต่อการมีอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นแล้ว ไม่จำเป็นต้องสอน ใช้แรงจูงใจหรือกำหนดมาตรฐานเพิ่มขึ้นอีก 

ความผิดพลาดดังกล่าวนี้ เป็นเหตุให้การสร้างอิทธิพลในเชิงบวกเหนือบุคคลอื่นขาดประสิทธิผลได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                         สาระคิด

             การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นเรื่องที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

เพราะ ความสำเร็จ ความสุข ตลอดจนการมีชีวิตที่ดี ล้วนเกิดจากความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นทั้งสิ้น

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2562

วิธีสร้างอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในเชิงบวกด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจัง

การสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจัง เป็นวิธีการหนึ่งใน 3 วิธี อันได้แก่ การเป็นตัวแบบ การสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจัง และการเป็นคู่คิดโดยการบอกเตือน ซึ่งเป็นวิธีที่ Stephen R. Covey เห็นว่าเป็นวิธีการที่ใช้ในการสร้างอิทธิพลเหนือคนอื่นในเชิงบวก

สำหรับวิธีสร้างอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในเชิงบวกด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจัง เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าเราเข้าใจและเอาใจใส่ ประกอบด้วย

1. สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนอื่นเป็นคนดี เพราะการสันนิษฐานในทางที่ดีจะได้รับผลในทางที่ดี มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพและมีแนวโน้มที่จะตอบสนองตามลักษณะที่เราปฏิบัติต่อเขา และตามที่เรามีความเชื่อในตัวเขา เมื่อไรก็ตามที่มีศรัทธาที่ดี จะทำให้เกิดแรงจูงใจที่ดี มีความมั่นคงภายใน และดึงดูดให้คนอื่นศรัทธาในความดีนั้นเช่นกัน

2. แสวงหาความเข้าใจ  เราจะต้องเข้าใจคนอื่นก่อน ก่อนที่จะให้คนอื่นเข้าใจเรา คือเมื่อเราสื่อสารกับคนอื่นจะต้องให้ความสนใจอย่างเต็มที่ จะต้องสนใจทัศนะของคนอื่นด้วยความกล้า อดทน และมั่นคงภายใน เพราะปกติมนุษย์จะไม่ยอมให้บุคคลอื่นมีอิทธิพลเหนือตน ถ้าบุคคลนั้นไม่เข้าใจในตัวเขา

3. ยอมรับการแสดงออกที่เปิดเผยและคำถามที่ซื่อสัตย์ มีบ่อยครั้งที่บุคคลลงโทษความซื่อสัตย์ คำถาม และการแสดงออกที่เปิดเผยของบุคคลอื่น ด้วยการตัดสิน หรือทำให้บุคคลนั้นเกิดความอายจนต้องป้องกันตัวเอง  การวิพากษ์วิจารณ์และการตัดสินว่าถูกผิด เป็นการขัดขวางการสื่อสารที่ตรงไปตรงมามากที่สุด

4. การตอบสนองที่แสดงถึงความเข้าใจ การตอบสนองที่แสดงถึงความเข้าใจ จะได้รับการตอบสนองที่ดี 3 ลักษณะ คือ 1) เพิ่มความเข้าใจที่ชัดเจนถึงความรู้สึกและปัญหา 2) มีความกล้าใหม่ๆเกิดชึ้น และมีความเจริญเติบโตอย่างอิสระด้วยความรับผิดชอบ 3) สร้างความสัมพันธ์ที่มีความเชื่อมั่นอย่างแท้จริง การตอบสนองในลักษณะนี้จะมีคุณค่าใหญ่หลวงมาก เมื่อมีการพูดในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกที่แสดงถึงความไม่เข้าใจ

5. ถ้าถูกทำให้ขุ่นเคืองจงใช้ความริเริ่ม หากมีใครมาทำให้เกิดความขุ่นเคืองอย่างต่อเนื่อง จงริเริ่มที่จะทำให้เกิดความชัดเจน พยายามเข้าใจถึงความรู้สึกของตน แต่อย่าตัดสินใจหรือหมายหัวคนอื่น เพราะการทำเช่นนั้น ทำให้ศักดิ์ศรีและการยอมรับตนเองหมดไป จงตอบสนองและเรียนรู้โดยปราศจากการถูกคุกคามอันเนื่องมาจากความรู้สึกของตน

6.ยอมรับผิดแสดงความเสียใจและขอโทษ เมื่อความสัมพันธ์ในกลุ่มเกิดความตึงเครียด อาจมีความจำเป็นที่จะต้องยอมรับว่า ตนมีส่วนในการทำให้เกิดความตึงเครียดนั้น การยอมรับความผิดพลาดแสดงความเสียใจและขอโทษ ไม่กล่าวหาใคร ไม่แก้ตัว ไม่อธิบาย หรือปกป้องตัวเอง จะช่วยให้ความสัมพันธ์ดีชึ้น

7. อย่าสนใจการโต้แย้ง อย่าตอบโต้การโต้แย้งหรือข้อกล่าวหาที่ผิดๆ เพราะถ้าหากตอบโต้หรือให้เหตุผล จะทำให้เกิดศัตรูหรือความโกรธเกิดขึ้นได้  แต่ถ้าเงียบไม่ตอบโต้ คนอื่นจะเกิดการต่อสู้ภายในของเขาเอง พลังของการไม่ตอบโต้ทำให้ความสงบเกิดขึ้นภายใน ความสงบคือการดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบและยึดมั่นในมโนธรรม

8. สนใจคนบางคนเป็นพิเศษ มีเสมอที่เราละเลยคนบางคน แต่ให้ความเอาใจใส่กับคนจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อต้องการแสดงให้คนอื่นเห็นว่า ตนเองมีคุณค่าและมีความกตัญญูกตเวที ซึ่งความจริงแล้ว เราควรหาเวลาให้กับตนเอง เพื่อดูแลคนพิเศษบางคน เช่น พ่อแม่ ลูก ภรรยา ฯลฯ

9.ทบทวนความมุ่งมั่นที่มีร่วมกับคนอื่น การทบทวนความมุ่งมั่นที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เช่น เพื่อน ครอบครับ และเพื่อนร่วมงาน ความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันจะทำให้เกิดควมภักดีและความรู้สึกที่มั่นคง ฉะนั้น จึงควรมีการทบทวนความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันอยู่เสมอ

10. รับอิทธิพลจากคนอื่นก่อน จงมีอิทธิพลเหนือคนอื่นในระดับเดียวกับที่คนอื่นรู้สึกว่าเขามีต่อเรา เมื่อใดที่คนอื่นรู้สึกว่าเรามีความสนใจตัวเขาอย่างแท้จริง เขาจะรู้สึกว่าเขามีอิทธิพลเหนือเรา ทำให้เขาเปิดตัว ซึ่งจะทำให้เรามีอิทธิพลในเชิงบวกต่อเขามากขึ้น

11. ยอมรับบุคคลและสถานการณ์ ขั้นแรกของการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงบุคคลอื่นให้ดีขึ้น ก็คือการยอมรับเขาตามที่เขาเป็น เพราะไม่มีอะไรจะเสริมแรงพฤติกรรมการป้องกันตัวเองมากไปกว่า การตัดสิน การเปรียบเทียบ หรือการปฏิเสธ ความรู้สึกยอมรับในคุณค่า ทำให้บุคคลปลอดจากการป้องกันตัวเอง มีแนวโน้มที่จะปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น การยอมรับเป็นการยืนยันคุณค่าของบุคคลอื่น

วิธีสร้างอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในเชิงบวกด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจัง ทั้ง 11 ประการ ที่กล่าวมา หากบุคคลใดถือปฏิบัติอย่างจริงจัง จะเป็นการช่วยให้มีอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นในเชิงบวกได้มากขึ้นอีกระดับหนึ่ง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคิด

                                                 ตระเตรียมตนไว้ให้ดีก่อน แล้วต่อไปจะได้สิ่งที่รัก

                                                                                                   พุทธศาสนสุภาษิต

*********************************************************************************