วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ชีวิตที่พอดี:ตอน 2

ในตอนก่อนได้กล่าวถึงเรื่องชีวิตที่พอดี โดยเน้นที่การกระทำหรือพฤติกรรมของคนเรา ว่าจะทำอะไรให้นึกถึงความพอดี คือไม่มากหรือน้อยเกินไป ชีวิตก็จะดำเนินไปได้อย่างปกติสุข และพอดีได้เจอบทความเรื่อง "ความสุขอยู่ที่รู้ว่าความพอดีอยู่ที่ไหน" ซึ่งเขียนโดย "กาแฟดำ" เห็นว่าสอดคล้องกับเรื่อง"ชีวิตที่พอดี" ที่เขียนไว้เป็นตอนแรก  จึงขออนุญาตมาเล่าสู่กันฟัง

กาแฟดำบอกว่าเรื่องที่เขียนได้อ้างอิงจากหนังสือ "เต๋าแห่งสุขภาพ:ปาฏิหารริย์แห่งการฟังร่างกายอยู่เสมอ"  ซึ่งเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการดูแลชีวิต ตามวิถีธรรมชาติด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีนโบราณ  เป็นความพอดีที่เน้นเรื่องจิตใจเป็นสำคัญ  มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

หากโกรธเกินไปมีผลต่อตับ ทำให้เลือดทั้งร่างกายสับสน

หากเศร้าโศกเกินไปจะมีผลต่อปอด ทำให้เจ็บหน้าอก และระบบหายใจกับผิวหนังผิดปกติ

หากสนุกสนานมากเหินไป  จะทำให้หัวใจอ่อนแอ เกิดโรคหัวใจได้

หากกลัวเกินไปทำให้พลังใจเหือดหาย กระดูกสันหลังเสื่อม ระบบกระเพาะปัสสาวะและอวัยวะเพศได้รับผลกระทบกระเทือน

หากคิดมากเกินไป  จะทำให้ความแจ่มใจของสมองเสื่อมคลาย

หากพูดมากเกินไป  จะทำให้เปลืองพลัง  ทำให้หมดเรี่ยวแรงเอาง่ายๆ

หากจมอยู่กับอดีตมากเกินไป  จะทำให้พลังชีวิตเสื่อมถอย  ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำอะไร

หากรีบเร่งมากเกินไป  จะทำให้ร่างกายสึกหรอเร็วขึ้น

หากนินทาว่าร้ายคนอื่นมากเกินไป  จะทำให้นิสัยและรูปลักษณ์หม่นหมองขุ่นมัวอยู่เป็นอาจิณ

หากพักผ่อนมากเกินไป จะทำลายความมุ่งมั่นตั้งใจจริง

หากยึดติดกับสิ่งใดหรือเรื่องใดมากเกินไป จะตกอยู่ในสภาพเสพติด แล้วจะกลายเป็นทาสของสิ่งนั้น ไม่มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง

หากมีความปรารถนามากเกินไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่งรวมทั้งกิจกรรมทางเพศ  จะทำให้สมอง
และจิตวิญญาณสังสนและเสื่อมถอย

นั่นคือ  ความพอดีทั้งความคิดและการกระทำ เป็นวิถีชีวิตที่นำไปสู่ความสุข หากมากหรือน้อยเกินไป จะทำให้ชีวิตเสียสมดุล นำไปสู่ปัญหาในการดำเนินชีวิตอย่างแน่นอน
                                     -----------------------------------------------------

                                                       สาระคิด

ความพอดีเป็นที่ตั้งแห่งชีวิต  ความรอดตาย ความสงบสุข  ทุกคนจงสนใจเรื่องความพอดี  อย่าทำอะไรชนิดที่มันเกินพอดี  แต่เพราะเรามันโง่  มันจึงยากที่จะรู้ว่าอะไรพอดี

                                                                                          พุทธทาสภิกขุ
                                                 ------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น