แม้จะทำงานหนักมากเท่าที่จะทำได้ คือทำตั้งแต่เช้ามืดจนกระทั่งล้มตัวลงนอนในตอนกลางคืน แต่ก็ดูเหมือนว่า ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำในสิ่งที่ต้องการจะทำ
ความจริงเวลาไม่สามารถจะเพิ่มได้ คือวันหนึ่งมีเพียง 24 ชั่วโมง และสัปดาห์หนึ่งก็มีเพียง 7 วัน แต่ที่จะทำได้คือ การรู้จักบริหารจัดการเวลา
การบริหารจัดการเวลา ก็คือการควบคุมเวลาและงาน มากกว่าที่จะให้เวลาและงานมาเป็นตัวควบคุม ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ จะต้องมีจิตสำนึกในการบริหารจัดการเวลา
แต่การบริหารจัดการเวลาจะมีประสิทธิผลได้ ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมของตน
สำหรับการบริหารจัดการเวลาที่มีประสิทธิผล มีแนวทางดังต่อไปนี้
แนวทางที่ 1 ทำให้วัตถุประสงค์มีความชัดเจน วัตถุประสงค์ต่างกับเป้าหมายที่ว่า เป้าหมายเปรียบเสมือนเป็นเป้า(target) หรือเป็นผล (end) ที่จะไปให้ถึง ส่วนวัตถุประสงค์ เป็นขั้นที่นำไปสู่เป้าหมาย การทำวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน หมายถึงการตัดสินใจอย่างมีขั้นตอน ว่ามีอะไรบ้างที่จำเป็นจะต้องทำเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ตลอดจนคาดคะเณว่าจะต้องใช้เวลาแต่ละขั้นตอนมากเท่าไร แล้วจัดสรรเวลาเพื่อทำให้เสร็จในแต่ละขั้นตอน เป็นการจัดทำงบประมาณเวลา ว่าเวลาที่มีอยู่จะใช้ทำอะไรบ้าง ตอนไหนมากตอนไหนน้อย
แนวทางที่ 2 วิเคราะห์นิสัยการใช้เวลา เป็นการดูว่าในการทำงานแต่ละชิ้น ใช้เวลาในการทำงานมากน้อยเพียงใด จะทำให้พบว่ามีบางเวลาที่สูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ และมีบางเวลาที่มีผลิตภาพสูง ตลอดจน ระบุนิสัยที่ทำให้เวลาสูญเปล่าโดยไร้ประโยชน์ และเลิกนิสัยดังกล่าวเสีย
แนวทางที่ 3 จัดทำรายการที่จะต้องทำในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ เป็นการเลือกที่จะใช้เวลาว่า เวลาไหนควรทำอะไร ตลอดสัปดาห์ แทนการทำไปเรื่อยๆตามงานที่เข้ามา ซึ่งจะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงความเครียด การคับข้องใจอันเกิดจากการทำงานหนักแต่มีผลสำเร็จน้อย
แนวทางที่ 4. จัดตนเองให้เป็นระบบ กล่าวกันว่า คนที่ไม่เป็นระบบที่สุด คือคนที่อยู่ในกลุ่มที่ทำงานหนักที่สุด เป็นคนทำงานทั้งวัน โดยพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่าง เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องทำงานหนักและนานกว่าทุกๆคน ก็เพราะทำทุกสิ่งตามบุญตามกรรม ไม่มีระบบ โดยอ้างว่ามีอิสระ ทำได้ตามที่ตนเองต้องการจะทำ ความจริงการจัดตนเองให้เป็นระบบ จะช่วยให้ตนเองมีเสรีภาพ ทำงานได้ง่าย ทำงานได้มากกว่า และทำให้ตนเองมีคุณค่า
แนวทางที่ 5 ปลูกฝังนิสัยการบริหารจัดการเวลา ทุกคนมีเวลาวันละ 1440 นาที 168 ชั่วโมง ใน 1 สัปดาห์ และมี 8760 ชั่วโมงใน 1 ปี แต่จะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มากน้อยขึ้นอยู่กับการบริหารจัดเวลา ซึ่งมีวิธีง่ายๆ เช่น ใช้เวลาทุกนาทีเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย ทำทุกสิ่งให้ถูกต้องครั้งแรก รู้จักมอบหมายงานให้คนอื่นรับผิดชอบ เป็นต้น
แนวทางที่ 6 ใช้เวลาทั้งหมดรวมทั้งเวลาพักผ่อนเพื่อไปสู่เป้าหมาย มนุษย์เป็นสัตว์สังคม นอกจากจะใช้เวลาเพื่อการทำงานแล้ว จะต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่ง เพื่อการพักผ่อน สันทนาการ สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น การเรียนรู้เพื่อการเจริญเติบโต ตลอดจนเวลาที่ใช้เพื่อดูความสวยงามของโลก การใช้เวลาเพื่อกิจกรรมเหล่านี้ ควรใช้เพื่อประโยชน์ในการบรรลุเป้าหมายด้วย
การรับผิดชอบต่อชีวิต หมายถึงความรับผิดชอบต่อการใช้เวลา การเรียนรู้ที่บริหารจัดการเวลา จะทำให้ชีวิตดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถนำชีวิตไปสู่เป้าหมายอย่างมีความสุข
------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
ถ้าคนเราไม่สามารถจัดการเวลาได้ ก็ไม่สามารถจัดการเรื่องอื่นๆได้
Peter Drucker
------------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น