พฤติกรรมการทำงาน เป็นพฤติกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก แนวความคิด ความเชื่อ และค่านิยม ที่เกี่ยวกับการทำงาน รวมทั้งการสั่งสอนอบรมเพื่อให้รู้จักการทำงาน แต่ละวัฒนธรรมจึงมีพฤติกรรมการทำงานที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับพฤติกรรมการทำงานของคนไทยนั้น มีลักษณะแตกต่างไปจากพฤติกรรมการทำงานของชาวตะวันตก ของญึ่ปุ่น หรือของเวียดนาม ที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือคนไทยมีพฤติกรรมปัจเจกชนนิยม ขาดความสม่ำเสมอ ขาดระเบียบวินัยโดยตั้งใจ และไม่ชอบทำงานร่วมกับคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้น คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดสำนึกเรื่องเวลาแบบที่มีอยู่ในสังคมอุตสาหกรรม
ลักษณะปัจเจกชนนิยมของคนไทย เป็นลักษณะที่ถือตนเองเป็นใหญ่ แสดงพฤติกรรมในลักษณะที่มุ่งสนองความต้องการของตนเป็นสำคัญ ไม่เคารพระเบียบกฎเกณฑ์ และกฎหมายบ้านเมืองเท่าที่ควร ผู้ใดสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายได้ โดยไม่ถูกลงโทษ ถือว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนมีฝีมือ แต่ในทางตรงกันข้าม คนที่พยายามทำตามกฎเกณฑ์ ระเบียบ กฎหมาย กลับกลายเป็นคนโง่ คนซื่อ หรือคนเถรตรง คนประเภทนี้ แม้ว่าจะมีคนทั่วไปพูดถึงอยู่บ้าง แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยม เพราะเห็นว่าเป็นคนไม่"ฉลาด"
ตามคติของคนไทย คำว่า"ฉลาด"ของคนไทย จึงมีความหมายรวมถึง การรู้จักเอาตัวรอดด้วยเสมอ และความสามารถในการเอาตัวรอดนี้ ไม่มีการจำกัดวิธี คือจะใช้วิธีการใดๆก็ได้ แม้ว่าจะต้องคดโกงหรือหลอกลวง ขอแต่ให้บรรลุจุดหมายปลายทาง เพื่อความอยู่รอดของตนเป็นใช้ได้
ลักษณะปัจเจกชนนิยมของคนไทย ถ้าพิจารณาอย่างลึกซึ้ง จะเห็นว่าเป็นลักษณะความต้องการที่จะสนองความสำคัญของตน (ego-centrism) ซึ่งคนไทยเรียกว่า"ความเป็นไท" คือ การที่แต่ละคนจะคิดหรือทำอะไรได้ตามที่ตนเห็นดีเห็นชอบ มากกว่าที่จะผูกพันกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ
ลักษณะของความเป็นไท หรือความต้องการสนองความสำคัญของตนนี้มีอยู่ในสังคมไทย จะแสดงออกแตกต่างกันในเรื่องความมากน้อย ความนิยมยกย่องในเรื่องความเป็นไทนี้ มีอยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม จนมีคำพังเพยว่า"พูดได้ตามใจคือไทยแท้"
ในการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงความเบื่อหน่าย คนไทยจะทำงานแตกต่างไปจากรูปแบบที่กำหนดไว้ จึงขาดวินัย ขาดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ คนไทยแต่ละคน มีวิธีการทำงานเป็นของตนเอง(very individualistic at work) จึงยากที่จะทำงานเป็นกลุ่ม
คนไทยอาจเปลี่ยนงานเพราะอยากมีรายได้สูง แต่พอลองทำดูแล้ว พบความยากลำบาก จะเลิกทำ กลับมาทำงานที่ได้เงินน้อยแต่สบาย และถ้าความสบายนั้นช่วยเพิ่มความเป็นตัวของตัวเองจะยิ่งชอบ คนไทยจะไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่เห็นผลหรือไม่สอดคล้องกับประโยชน์ของตน
คนไทยยอมรับว่า อุดมการณ์ หลักการ หรือกฎหมายมีความสำคัญ แต่จะปฏิบัติหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ในประเทศไทย หาการกระทำที่เสมอต้นเสมอปลายไม่ค่อยได้ ทั้งผู้ใหญ่และเด็กมักมีนิสัยติดตัวคล้ายคลึงกัน คือไม่ให้ความสำคัญเรื่องระเบียบวินัย เพราะไม่มีระเบียบวินัยจนติดเป็นนิสัย เคยชินกับความหย่อนบ้างตึงบ้าง จึงเกิดค่านิยมถือความสะดวกสบายเป็นเกณฑ์ และไม่เกิดค่านิยมในทางที่กวดขันกับตัวเอง กิจกรรมต่างๆจึงทำแต่พอเสร็จ ไม่มุ่งความสมบูรณ์และความเยี่ยมยิ่ง
นอกจากนั้น ในการทำงานคนไทยยังขาดความพยายาม เช่น ข้าราชการไทยจะทำงานด้วยความกระตือรือร้นทำตามโครงการต่างๆเพียงระยะแรก หลังจากนั้น ความกระตือรือร้นจะหมดไป โครงการนั้นจะหยุด การบริหารราชการพลเรือนของไทย จึงไม่ได้มุ่งถึงความสำคัญของโครงการมากนัก แต่กลับมุ่งถึงรายละเอียดที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
นักบริหารไทยเชี่ยวชาญยิ่งนักในเรื่อง"จริงจังครั้งเดียว" การวางแผนและการดำเนินงานตามแผนในระยะยาวเป็นคนละเรื่อง การปฏิบัติตามแผนไม่ค่อยจะยึดเป็นเรื่องจริงจังมากนัก
นอกจากนั้น การให้ความดีความชอบในวงราชการไทยเกือบจะไม่ได้ตั้งอยู่บนประสิทธิผลของการปฏิบัติตามโครงการ แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์อันดีกับผู้บังคับบัญชามากกว่า
การแก้ปัญหาต่างๆในสังคมไทยนั้น เน้นความสัมพันธ์ส่วนตัว มากกว่าใช้สมรรถภาพในการทำงาน ยึดความสัมพันธ์ส่วนตัวไปสู่ความสำเร็จ มากกว่าใช้ปัจจัยอื่น
ในสังคมไทย การกำหนดปัญหาให้ชัดไม่ได้เป็นเครื่องชี้ว่าจะแก้ปัญหาได้ หรือทำให้การแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น หรือทำให้การบริหารงานง่ายขึ้น
-----------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก: ไพศาล ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
---------------------------------------------------------------------
สาระคิด
การที่ต้องพิจารณาเรื่องใดๆในระยะยาว เป็นการกระทำที่ไม่ง่ายนักในประเทศไทย เพราะคนไทยนั้นจะสนใจกับอนาคตใกล้ๆ
Nicholas Bennett
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น