วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การศึกษากับการพัฒนาชนบท

ถ้าต้องการจะให้การพัฒนาประเทศเป็นความจริง จะต้องพัฒนาให้เกิดความสมดุลระหว่างชนบทกับเมือง แต่การพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับการสร้างภาวะทันสมัยและการพัฒนาเมือง ที่เชื่อกันว่าจะนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง ทำให้ละเลยการพัฒนาชนบทไป 

ดังนั้น หากต้องการจะพัฒนาประเทศให้เกิดความสมดุล จะต้องขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมในชนบท ด้วยการพัฒนาเกษตรกรรมซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะช่วยให้การพัฒนาชนบทประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เพราะประชากรในชนบทส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องไม่โดยตรงก็โดยอ้อมกับกิจกรรมการเษตร

และเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปตามเป้าหมาย  การพัฒนาชนบทจะต้องเริ่มด้วยการเปลึ่ยนโครงสร้างของสถาบัน ความสัมพันธ์ และกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นประการแรก

ทั้งนี้เพราะ เป้าหมายของการพัฒนาชนบทไม่ได้ติดอยู่กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว  แต่จะต้องพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้อยู่ในภาวะสมดุลเช่นเดียวกัน โดยเน้นการกระจายรายได้ที่ยุติธรรม พร้อมๆกับสร้างมาตรฐานการดำรงชีวิตให้สูงขึ้น ด้วยการเพิ่มโอกาสการจ้างงาน ความเป็นเจ้าของที่ดิน สนับสนุนการปรับปรุงเกี่ยวกับสุขภาพ โภชนาการ และที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น

และประการสุดท้าย จะต้องมีการขยายการศึกษาทั้งในและนอกระบบเพื่อผู้ใหญ่และเด็ก ทั้งนี้จะต้องเป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการ และความคาดหวังของผู้ที่อยู่ในชนบท

แต่ระบบการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ มักจะเป็นระบบการศึกษาที่ลอกเลียนระบบการศึกษาของประเทศพัฒนา ซึ่งมีเป้าหมายการศึกษาของประเทศพัฒนาเหล่านั้น อยู่ที่การเตรียมเด็กให้ผ่านการการสอบมาตรฐาน เพื่อจะได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น จึงเป็นหลักสูตรที่เอนเอียงไปทางสังคมเมืองอย่างมาก นับเป็นหลักสูตรที่ไม่สนองความต้องการของเด็กส่วนใหญ่ ที่อาศัยและทำงานในชนบท

สำหรับการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาชนบทนั้น ฟิลิป เอช คูมป์ส (Philip H. Coombs) นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา ได้จำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

               1. การศึกษาทั่วไปหรือการศึกษาพื้นฐาน เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการอ่านออกเขียนได้ เลขคณิต ตลอดจนวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

               2. การศึกษาเพื่อชีวิตครอบครัว เป็นการศึกษาในส่วนที่เป็นความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ที่มีประโยชน์ต่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตครอบครัวให้ดีขึ้น ได้แก่วิชา เกี่ยวกับสุขภาพ โภชนาการ การซ่อมแซมและตกแต่งบ้าน การดูแลเด็ก ตลอดจนการวางแผนครอบครัวและอื่นๆ

               3.การศึกษาเพื่อการปรับปรุงชุมชน เป็นการศึกษาเพื่อให้กระบวนการและสถาบันในท้องถิ่นและระดับชาติมีความเข้มแข็ง เช่น ให้การศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง การสหกรณ์ เป็นต้น

               4. การศึกษาเพื่ออาชีพ เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาความรู้และทักษะเฉพาะที่สัมพันธ์กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีพ

การศึกษาทั้ง 4 กลุ่มนี้ ประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากรวมทั้งไทย จะเน้นเฉพาะการศึกษาทั่วไป ส่วนประเภทอื่นๆ แทบจะไม่ได้รับความสนใจ

ดังนั้น หากประสงค์จะใช้การศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง จะต้องจัดการศึกษาให้ครบทั้ง 4 ประเภท โดยปรับหลักสูตรการเรียนการสอนการศึกษาในระบบ รวมทั้งนำการศึกษานอกระบบมาใช้กับประชาชนที่อยู่นอกวัยเรียนอย่างจริงจัง การพัฒนาชนบทจึงจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

                         ระบบการศึกษาที่ลอกเลียนจากประเทศอื่นก่อให้เกิดปัญหา                                                           มากกว่าที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒาประเทศ

*****************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น