ในการพัฒนาเศรษฐกิจ การกระจายรายได้เป็นเป้าหมายที่สำคัญ เพราะหากมีการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ไม่เสมอภาคจะก่อให้เกิดปัญหาตามมากมาย จนยากที่จะแก้ไข ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาการกระจายรายได้ระหว่าบุคคลไม่เสมอภาค ได้แก่
1. การกระจายกรรมสิทธิ์ในทรัพยากร ทั้งนี้เนื่องจากการมีระบบเจ้าขุนมูลนาย ทหาร และข้าราชการชั้นสูง เป็นกลุ่มอิทธิพลและเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ คนเหล่านี้จะได้รับผลตอบแทนจากทรัพย์สินในอัตราสูง และมีโอกาสสะสมทรัพย์สินเพื่อให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้นไปได้อีก ตรงกันข้ามกับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีที่ดินถือครองต่ำ หรือบางรายไม่มีที่ดินเลยต้องเช่าที่ดินทำกิน และเมื่อประเทศพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม เจ้าของที่ดินรายใหญ่ จะเปลี่ยนฐานะเป็นพ่อค้า หรือนายทุนอุตสาหกรรม มีรายได้จากการประกอบการสูง ส่วนเกษตรกรและกรรมกร ไม่มีโอกาสที่จะทำงานให้มีรายได้สูงกว่าเดิม ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้ระหว่าบุคคลมากขึ้น
2. ความเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจต่างๆเป็นไปอย่างไม่สมดุล เนื่องจากภาคเศรษฐกิจบางภาค ได้รับการพัฒนาให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ในขณะที่บางภาคเศรษฐกิจถูกละเลย ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เช่น กรณีรัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม มีผลทำให้ผู้ประกอบอาชีพใน ภาคอุตสาหกรรมมีรายได้สูงกว่าผู้ประกอบอาชีพในภาคเศรษฐกิจอื่น ที่ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร เช่น ภาคเกษตรกรรมซึ่งมีผลผลิตต่ำอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างรายได้ระว่างบุคคลยิ่งห่างออกไปอีก
3. การกระจายตัวของประชากร ในชนบทมักจะมีอัตราการเพิ่มของประชากรในอัตราที่สูง การมีลูกหลานเพิ่มขึ้นก่อให้เกิดปัญหาการจัดสรรที่ดินให้กับลูกหลาน มีผลทำให้ที่ดินถูกแบ่งเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย ทำให้การปรับปรุงที่ดินทำได้ลำบาก มีผลทำให้ประสิทธิภาพการผลิตต่ำลงกว่าเดิม ทำให้มีรายได้ลดลง แต่ต้องเลี้ยงดูแรงงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำลง ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้เพิ่มขึ้น
4. การศึกษาอบรม ผู้ที่ได้รับการศึกษาอบรมจะมีความรู้ความชำนาญ ทำให้มีโอกาสทำงานและประกอบอาชีพที่มีรายได้สูง เช่น แพทย์ วิศวกร นักธุรกิจ เป็นต้น ส่วนผู้ที่ไม่มีการศึกษา หรือการศึกษาน้อย ต้องทำงานที่มีรายได้ต่ำ ยิ่งกว่านั้นการศึกษาในชนบท มักจะขาดครูและอุปกรณ์ทางการศึกษา ผู้จบการศึกษาขาดความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้ต่ำ มีผลทำให้ความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้เพิ่มขึ้น
5. การแข่งขันของตลาดเป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์ เป็นผลทำให้บุคคลบางกลุ่มบางพวกมีอำนาจผูกขาด อยู่ในฐานะได้เปรียบทางเศรษฐกิจ และมีโอกาสที่จะมีรายได้สูงกว่า ทั้งนี้ เพราะผู้ประกอบการมีน้อย และมักจะรวมตัวกันขึ้นราคาสินค้า เพื่อให้ได้กำไรสูงขึ้น นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังมีอำนาจที่จะกำหนดค่าจ้างแรงงาน คนงานมักจะถุกนายจ้างเอาเปรียบ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จึงตกอยู่กับผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย การกระจายรายได้จึงไม่เสมอภาค
เหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การมีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่ไม่เป็นธรรม คนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ จะมีอำนาจมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆอีกด้วย หากไม่มีการแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคของการกระจายรายได้ระหว่างบุคคลอย่างจริงจัง ถึงจุดหนึ่ง การต่อสู้เพื่อการแย่งชิงอำนาจจะเกิดขึ้นตามมา ส่งผลให้บ้านเมืองไม่มีปกติสุข
--------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคำ
ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถใช้ปัจจัยการผลิต เพื่อก่อให้เกิดการผลิต ปัจจัยการผลิต นอกจากผู้ประกอบการแล้ว ยังมี ที่ดิน(ทรัพยากรธรรมชาติ) แรงงาน และทุน
*****************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น