วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

การพัฒนาประเทศ:ทัศนะที่แตกต่างระหว่างเศรษฐกิจทุนนิยมและสังคมนิยม

ความแตกต่างระหว่างเศรษฐกิจทุนนิยมและเศรษฐกิจสังคมนิยมในสาระสำคัญอยู่ที่ เศรษฐกิจทุนนิยม เป็นเศรษฐกิจที่ให้บุคคลมีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตและทำการผลิตโดยจ้างแรงงาน เพื่อแสวงหากำไร  ส่วนเศรษฐกิจสังคมนิยม เป็นเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานอยู่ที่ รัฐและสังคมร่วมกันเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และการกระจายผลผลิต

ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจทุนนิยมและเศรษฐกิจสังคมนิยม จึงมีทัศนะที่มีต่อการพัฒนาประเทศที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

การมองสภาพความด้อยพัฒนา ในแง่ของความด้อยพัฒนา ทุนนิยมจะมองว่าความด้อยพัฒนา อยู่ที่ความด้อยพัฒนาของบุคคล ฉะนั้นการพัฒนาประเทศจะต้องพัฒนาบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ยังไม่พัฒนาให้พัฒนาขึ้นมา  ส่วนสังคมนิยมมองว่า ปัญหาความด้อยพัฒนาอยู่ที่โครงสร้างของระบบสังคม แม้ว่าบุคคลจะดิ้นรนต่อสู้เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงตนเองเพียงใดก็ตาม หากโครงสร้างของระบบสังคมไม่เอื้ออำนวย บุคคลและกลุ่มบุคคลก็จะถูกครอบงำต่อไป

ยุทธวิธีในการพัฒนา ในการพัฒนาประเทศ การสร้างความเจริญทางวัตถุ ทุนนิยม มุ่งที่ประสิทธิภาพของความเจริญ ในขณะที่สังคมนิยม มุ่งที่ความเสมอภาคของความเจริญ ในด้านเสถียรภาพและความเรียบร้อยของสังคม ทุนนิยมยึดกฎระเบียบของรัฐเป็นหลัก ส่วนสังคมนิยมเห็นว่ากฎหมายของรัฐไม่อาจมีประสิทธิภาพสูงสุดในเรื่องของความเป็นกลาง  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่อยู่นอกเหนือกฎระเบียบของรัฐ คือ ใช้ความยุติธรรมทางสังคมเป็นตัวกำหนดความเสมอภาค

ด้านเสรีภาพ ในเรื่องเสรีภาพ ทุนนิยมเห็นว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์และจะขาดเสียมิได้ ส่วนสังคมนิยมเห็นว่าเสรีภาพจะต้องควบคู่กับวินัย และเงื่อนไขความเป็นจริงตามฐานะของบุคคล

วิธีการพัฒนา  สำหรับวิธีการพัฒนา ทุนนิยมมองว่าเสรีภาพและการแข่งขันเสรี เป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนา จึงต้องส่งเสริมบทบาทเอกชนที่จะเข้าช่วยดำเนินการพัฒนา โดยรัฐเข้าควบคุมและแทรกแซงในเรื่องที่จำเป็น ส่วนสังคมนิยมไม่เชื่อว่าจะมีการแข่งขันเสรีได้ตลอดไป เพราะในการแข่งขันเอง เมื่อดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง จะหนีการผูกขาดไม่พ้น เกิดการผูกขาดได้เสมอ

จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเลือกแนวทางทางการพัฒนาโดยใช้ทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งระหว่างแนวคิดเศรษฐกิจทุนนิยมกับเศรษฐกิจสังคมนิยม ก็ใช่ว่าจะดีกว่าอีกทางเลือกหนึ่งในทุกกรณี ฉะนั้นการจะเลือกทางเลือกใด ควรจะได้มีการวิเคราะห์ปัญหาของสังคมนั้นๆอย่างละเอียดเสียก่อน แล้วจึงจะกำหนดยุทธวิธีในการพัฒนา  และอาจเป็นทางเลือกการพัฒนาประเทศที่ดีกว่า หากมีการผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจทุนนิยมกับเศรษฐกิจสังคมนิยมเข้าด้วยกัน
---------------------------------------------------------------------------------

                                         สาระคิด

การพัฒนาที่ยึดแนวความคิด หรือลอกเลียนแบบจากต่างประเทศ โดยปราศจากการศึกษาวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ นำไปสู่ความขัดแย้ง
******************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น