วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เกี่ยวกับการทำงานโรงเรียนฝึกอบรมเด็กไทยอย่างไร

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า การศึกษามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง และถ่ายทอด ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม  และพฤติกรรมในการทำงาน   ให้กับมนุษย์  โดยเริ่มตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นต้นไป

แต่ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ไม่สัมพันธ์กับความต้องการอันจำเป็นของท้องถิ่นและตลาดแรงงาน ตลอดจนมีหลักสูตรที่ไม่จบในตัวเอง ทำให้ต้องมีการเรียนต่อในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ

ระบบการศึกษาไทยทำให้ดูเหมือนว่า มีการแยกเรื่องวิชาการและการปฏิบัติออกจากกัน มีผลทำให้เกิดงานสองประเภทในสังคม คืองานใช้สมองและงานใช้แรงงาน นอกจากนั้่น ยังมีผลทำให้เกิดความคิดที่ว่า ผู้ทำงานประเภทแรกเป็นบุคคลชั้นสูง และประเภทหลังเป็นบุคคลชั้นต่ำ

ระบบการศึกษาในปัจจุบัน เป็นระบบที่สร้างคนให้มืออ่อนตีนอ่อน ตอนแรกพอจะทำอะไรได้บ้าง แต่พอจบการศึกษาออกมาแล้ว ทำอะไรไม่ได้เลย ระบบการศึกษาไม่ได้สอนให้คนทำงาน

หากดูหลักสูตรจะพบว่า หลักสูตรมีเนื้อหาสาระที่เน้นหนักในด้านวิชาสามัญ ทำให้เด็กมุ่งเรียนในระดับสูงขึ้น  เนื้อหาที่จัดให้เรียนและวิธีสอน ส่วนใหญ่ให้ความรู้เพื่อ"รู้ไว้ใช่ว่า" มิใช่ "รู้เพื่อการปฏิบัติ" การปฏิบัติอย่างที่มีในชีวิตจริงมีน้อยมาก เด็กไทยจึงไม่อาจทำงานใดๆ เมื่อจบการศึกษาในแต่ละขั้นตอน การวัดผลนักเรียนก็มิได้วัดผลการพัฒนา แต่วัดเพื่อหาคำตอบว่าได้หรือตกเท่านั้น

การเรียนการสอนจะเน้นการจำ จำความดีที่มีมาในอดีตซึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีค่าควรแก่การเรียนรู้ กิจกรรมในการเรียน คือ การจำแบบนกแก้วนกขุนทอง กระบวนการเล่าเรียนจึงเป็นกระบวนการท่องจำ และแสดงความเห็นจากความจำที่ได้เรียนมาเท่านั้น

 นักเรียนมีกิจกรรมที่สำคัญคือ ฟัง สังเกต อ่าน ท่อง และเขียน กิจกรรมของครูคือ บรรยาย อบรมความประพฤติ ให้งานนักเรียนทำ และสอบ  โดยนักเรียนแต่ละคนมีกิจกรรมเหมือนๆกัน

 แม้แต่การเรียนการสอนในเรื่องที่ตรงกับสภาพการณ์ที่ผู้เรียนเผชิญอยู่ในโลกของความเป็นจริง ก็เป็นการสอนให้รู้ปัญหาและวิธีแก้ปัญหาได้อาศัยแต่เพียงคำพูดเท่านั้น โดยไม่มีการปฏิบัติจริง

การเรียนการสอนในโรงเรียน เน้นที่ความรู้ เน้นการแข่งขัน  การเรียนการสอนจึงพยามปรับปรุงเพื่อให้มีการสอนความรู้มากขึ้น ให้ดีขึ้น ถ้าเปรียบเด็กเหมือนขวด ครูพยายามกรอกน้ำใส่ขวด โดยไม่สนใจว่าเด็กแต่ละคนเรียนได้หรือไม่ ขอแค่ครูได้สอนให้จบหลักสูตรก็แล้วกัน

ครูจำนวนมากใช้วิธีบอกความรู้แก่เด็ก ทำให้เด็กไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักสังเกต ไม่รู้จักหาความรู้ด้วยตนเอง ไม่รู้จักวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินใจด้วยตนเอง นอกจากนั้น สิ่งที่ครูสอนมักจะไม่ค่อยสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันเท่าไรนัก

เราเคยมีโครงการโรงเรียนมัธยมแบบประสม ก็มีหลักสูตรที่ไม่จบในตัวเอง จึงทำให้นักเรียนไม่สามารถไปประกอบอาชีพได้อย่า่งแท้จริง ประกอบกับเนื้อหาที่เปิดสอนไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น การฝึกและการปฏิบัติไม่ทำกันอย่างจริงจัง ทำให้เด็กไม่สามารถทำงานได้เป็นชิ้นเป็นอัน

หากมองในภาพรวมของการบริหาร โรงเรียนมีปัญหามากที่สุดอันดับหนึ่ง คือการไม่สามารถบริหารหลักสูตรได้เต็มที่ เพราะปัญหาต่างๆ เช่น ขาดครู อุปกรณ์ และอาคารสถานที่

นั่นคือ จากที่กล่าวมาทั้งหมด สรุปได้ว่า การศึกษาไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมเด็กเพื่อการทำงาน แต่ให้ความสำคัญต่อการให้ความรู้เพื่อการสอบและการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                       สาระคิด

วิธีสอนของระบบการศึกษาไทย ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการป้อน และมีลักษณะเผด็จการ นักเรียนแทบไม่มีโอกาสอภิปราย นักเรียนถูกกำหนดให้ยอมรับสิ่งที่ครูสอนว่าถูกต้อง เพราะครูเป็นบุคคลที่รู้ทุกอย่าง

                                                              ไกรยุทธ ธีรตยาคีนันท์
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

โรงเรียนกับการฝึกอบรมเด็กให้รู้จักการทำงาน


การศึกษาเป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของชีวิต โดยพัฒนาคุณภาพในตัวบุคคลแต่ละคน ให้เป็นคนที่เจริญเต็มที่ และมีความสามารถในการผลิต

การศึกษาเพื่อการฝึกอบรมคนให้รู้จักการทำงานเพื่อการผลิต จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

 จริงอยู่ ทักษะ ความรู้ และสมรรภาพในการทำงานของมนุษย์สามารถพัฒนาได้หลายทาง แต่ที่เด่นที่สุด ก็คือ การพัฒนาโดยอาศัยการศึกษาในระบบ โดยเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา และการศึกษาจะสร้างค่านิยมที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อการทำงาน

ฉะนั้น ประเทศที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง จะต้องยอมรับว่าการศึกษาและการทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และควรเริ่มตั้งแต่เกิดจนตาย

แต่ในความเป็นจริงปรากฎว่า สิ่งที่การศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาทำได้ มักเป็นแค่การผลิตคน ที่มีความรู้ทางทฤษฎีโดยอาศัยการท่องจำ  เป็นคนที่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง ทำอะไรไม่ค่อยเป็น หรือไม่กล้าทำอะไร รวมทั้งไม่ค่อยชอบทำงานหนัก อันเป็นลักษณะที่ไม่ส่งเสริมการพัฒนา

หากพิจารณาการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาในทุกแง่ทุกมุม สามารถสรุปได้ว่าประเทศกำลังพัฒนาจะมีปัญหาการศึกษาในลักษณะต่อไปนี้

               1) การเรียนการสอนไม่ได้เสริมสร้างทักษะเพียงพอ

               2) โรงเรียนไม่ช่วยให้เกิดความก้าวหน้า เพราะจบการศึกษาโดยปราศจากการฝึกอบรมเพื่ออาชีพ

               3) การเรียนการสอนจะเป็นไปตามตำรา มีผลทำให้ผู้จบการศึกษามีทัศนคติชอบการทำงานในสำนักงาน

ที่เป็นเช่นนี้เกิดจากปัจจัยหลายประการ  แต่สาเหตุหนึ่งเกิดจากความมุ่งหมายในการตั้งโรงเรียนครั้งแรก ที่ไม่ได้ตั้งขึ้นเป็นการศึกษาเพื่อมวลชน แต่จัดขึ้นเพื่อชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นลูกหลานของคนกลุ่มน้อยที่เป็นเจ้าของอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่เชื่อว่างานใช้มือเป็นเรื่องของคนรับใช้ เพราะฉะนั้นโรงเรียนจึงมีขึ้นเพื่อฝึกอบรมนักปราชญ์ ผูัปกครอง และไม่เกี่ยวข้องกับงานที่ใช้มือไม่ว่าโดยวิถีทางใดๆ

ในปัจจุบัน ระบบการศึกษาก็ยังไม่ได้สลัดการตั้งข้อรังเกียจงานใช้มือออกไป นักเรียนไม่มีโอกาสที่จะใช้ทฤษฎีและการปฏิบัติควบคู่กันไป เป็นผลให้นักเรียน เกิดความคิดต่อไปว่า เขาไม่จำเป็นจะต้องทำงานจนกว่าจะเรียนหนังสือจบ

สำหรับการจัดการศึกษาเพื่อการทำงานนั้น มีผู้แสดงความคิดเห็นหลายทัศนะดังนี้

           ทัศนะที่ 1. จัดโดยการรวมการเรียนการสอนเข้าเป็นหน่วยเดียวกันกับการทำงาน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำงานครึ่งหนึ่งเรียนครึ่งหนึ่ง โดยผู้เรียนเรียนทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติควบคู่กันไป

          ทัศนะที่ 2 จัดโดยเชื่อมเนื้อหาเข้ากับการนำไปใช้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะสอนเฉพาะเรื่องที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติได้จริง หรือทุกสิ่งที่สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในวันใดวันหนึ่ง ไม่สอนเพียงเพื่อให้รู้ โดยเฉพาะความคิดที่เป็นนามธรรม ไม่ควรสอน

           ทัศนะที่ 3 จัดโดยการกำหนดเนื้อหา จากปัญหาในการปฏิบัติ และมีความต้องการที่จะแก้ปัญหานั้น ซึ่งหมายถึงว่า โรงเรียนจะต้องเริ่มด้วยการสำรวจปัญหาของชุมชนแล้วหาทางแก้ปัญหา เป็นการเรียนรู้เพื่อแสวงหาคำตอบ

จีนเป็นประเทศหนึ่งที่จัดการศึกษาเพื่อการทำงาน โดยการศึกษาของจีน การทำงานด้วยมือ จะถูกสอดแทรกอยู่ในทุกระดับการศึกษา เช่น

ระดับประถมศึกษา จะมีสวนครัวขนาดใหญ่เพื่อปลูกถั่วเหลือง ผัก และ ผลไม้ชนิดต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงไก่เอาไข่ เลี้ยงแพะเพื่อรีดนม อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาการขาดอาหารของนักเรียนอีกทางหนึ่งด้วย

ระดับมัธยมศึกษา นักเรียนจะถูกแบ่งเวลาออกเป็นการทำงานเพื่อการผลิต และเวลาเพื่อการศึกษาค้นคว้า แต่ละโรงเรียนจะมีโรงฝึกงาน เพื่อสอนงานไม้ งานโลหะ และการฝึกอบรมทักษะอื่นๆ โรงฝึกงานจะผลิตสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้จะเป็นทุนเพื่อใช้จ่ายในโรงเรียน

ทุกวันนี้โรงเรียนของจีนทั้งในเมืองและชนบท ได้รวมการศึกษาในห้องเรียนเข้ากับแรงงานการผลิต ระบบการศึกษาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมเด็กทางด้านเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อปฏิรูปสังคมไปด้วย โดยลดความแตกต่างระหว่างงานใช้มือและงานใช้สมอง และเป็นการเน้นให้เห็นว่าการทำงานด้วยมือมีความสำคัญเท่าๆกับการทำงานด้วยสมอง

นั่นคือ ถ้าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในประเทศ  จะต้องสร้างหลักสูตร การเรียนการสอน ให้การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนทำให้การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในทุกระดับ
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

เนื้อหาที่จัดให้เรียนและวิธีสอน(ของไทย) ส่วนใหญ่เป็นการให้ความรู้เพื่อ"รู้ไว้ใช่ว่า"มิใช่"รู้เพื่อปฏิบัติ"และถ้าจะเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของผู้เรียน ก็มักจะเล็งไปที่"สิ่งไม่ควรประพฤติ" มากกว่า"วิธีที่จะประพฤติให้เหมาะสม"

                                                                      เฉลียว บุรีภักดี
*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เกี่ยวกับการทำงานครอบครัวไทยอบรมเลี้ยงดูเด็กอย่างไร

การอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็กมีอิทธิพลต่อการทำงานมาก ฉะนั้น การจะเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานของคนไทยได้อย่างกระจ่างชัด จำเป็นจะต้องเข้าใจการฝึกอบรมเพื่อการทำงานในวัยเด็กอย่างชัดเจนก่อน

สังคมไทยเน้นพฤติกรรมของคนไทยในวัยต่างๆไม่เหมือนกัน คือในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาว จะเน้นหนักเรื่องการเที่ยว การเล่นสนุกสนาน หาความสุขจากการรื่นเริงบันเทิงต่างๆ วัยผู้ใหญ่และวัยกลางคน จะเน้นในเรื่องการทำงานทำการ สร้างหลักฐานให้แก่ครอบครัว การเที่ยวสนุสนานลดน้อยลง  ส่วนวัยชรา จะเน้นหนักในเรื่องการทำบุญ  สะสมบุญ ซึ่งเปรียบเหมือนการแสวงหาทรัพย์ติดตัวไปใช้ในชาติหน้า

ซึ่งสอดคล้องกับนักสังคมวิทยาบางคน ที่ได้แบ่งวัยของคนไทยออกเป็น วัยเล่น วัยเรียน วัยทำงาน และวัยทำบุญ ซึ่งช่วยให้เห็นชัดเจนว่า ในวัยเด็กการอบรมเลี้ยงดูเด็กของครอบครัวไทย  ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมเด็กให้รู้จักการทำงานเท่าที่ควร

เด็กไทยไม่ได้ถูกสอนให้พึ่งตนเองตามประสาเด็ก แต่ค่อนข้างจะถูกสอนให้พึ่งผู้อื่นเพื่อความพอใจของตนเอง เด็กจะถูกสอนให้รู้จักแหล่งที่พึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ เด็กถูกสอนทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมว่า แม่เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เด็กกำพร้าจึงเป็นเด็กที่น่าสงสารมาก เนื่องจากไม่มีที่พึ่ง เด็กจึงเติบโตขึ้นมาด้วยความดีของคนอื่น จากการที่เด็กนับถือและเชื่อฟังผู้ใหญ่

การอบรมเลี้ยงดูเด็กของคนไทย ไม่เน้นการฝึกให้พึ่งตนเอง การให้เด็กรู้จักทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง และการรับผิดชอบตนเองอย่างจริงจัง แต่เน้นให้รู้จักพึ่งผู้ใหญ่ ครอบครัวจะอบรมแบบให้ความปกป้องคุ้มครอง ให้ความรัก แต่ไม่เน้นให้เหตุผล

แม่คนไทยมักจะปกป้องเด็กมากเกินไป จึงทำให้ค่านิยมความเป็นอิสระที่มีผลทำให้มีความกล้าเสี่ยง กล้าเผชิญ  ทำให้เด็กรู้จักช่วยตัวเอง มีความสำคัญรองจากค่านิยมอื่นๆ

พ่อแม่จะสงสารและเป็นห่วงลูกมากเกินไป และมักจะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เด็ก แม้เด็กจะโตพอที่จะทำบางสิ่งบางอย่างด้วยตนเองแล้วก็ตาม

พ่อแม่ได้สร้างค่านิยมแบบผิดๆให้กับเด็ก เช่น ถ้าลูกไปโรงเรียน กลับมาบ้านจะไม่ยอมให้ทำงานอื่นๆ เน้นการเรียนอย่างเดียว เพราะอยู่ในวัยเรียน จีงเป็นการสร้างนิสัยหยิบโหย่งขึ้นมาเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการบางคนเห็นว่า การอบรมเลี้ยงดูเด็กไทย มีความแตกต่างไปตามฐานะของผู้ปกครอง กล่าวคือ

ครอบครัวชาวไร่ชาวนา มีการอบรมเลี้ยงดูเด็กแบบไม่มีพิธีรีตอง และไม่เข้มงวดมากนัก ส่วนใหญ่มักจะเน้นหนักเฉพาะการปฏิบัติต่อญาติพี่น้อง ต่อผู้มีอำนาจ ต่อผู้มีพระคุณ และต่อพระสงฆ์

ครอบครัวผู้ดีเก่า จะอบรมเลี้ยงดูแตกต่างไปจากครอบครัวชาวไร่ชาวนา กล่าวคือ มีความเข้มงวดพิถีพิถันในเรื่องการอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับกิริยามรรยาท ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษากับเด็กชาย เพื่อให้สืบสกุล ส่วนเด็กหญิงไม่ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษามากนัก แต่ได้รับการทนุถนอมกว่าเด็กชาย  และ ครอบครัวผู้ดีเก่าจะถือว่า ลูกเป็นทรัพย์ที่มีค่ายิ่ง ควรแก่การทนุถนอมมากกว่าจะใช้งาน ซึ่งเป็นเหตุให้เด็กเป็นคนหลงตนเองหรือเห็นแก่ตัวเมื่อโตขึ้น

ครอบครัวชนชั้นกลาง ซึ่งพอจะถือได้ว่าเป็นตัวแทนของคนไทยสมัยใหม่ มีการอบรมเลี้ยงดูแตกต่างไปจากครอบครัวชาวไร่ชาวนาและครอบครัวผู้ดีเก่า ที่สำคัญคือ การเน้นเรื่องความสามารถในการศึกษาและการทำงาน ทำให้เด็กของครอบครัวชนชั้นกลาง มีทักษะในการแข่งขันมากกว่าเด็กในครอบครัวชาวไร่ชาวนาและครอบครัวผู้ดีเก่า

 ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่า เด็กไทยไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานอย่างจริงจังเท่าที่ควร โตขึ้นจึงไม่ค่อยจริงจังกับการทำงาน ไม่รักงาน ทำงานเพราะความจำเป็น การพัฒนาประเทศจึงไม่ก้าวไปข้างหน้าได้ดีเท่าที่ควร
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                   สาระคิด

ลักษณะที่พ่อแม่(ไทย)ต้องการให้ลูกมีมากที่สุดคือ เชื่อฟัง มีความประพฤติดี สำหรับลักษณะอื่นๆที่ต้องการ ได้แก่ มีความสุภาพ เล่นกับเด็กอื่นๆได้ดี นับถือพ่อแม่และญาติคนอื่นๆ ส่วนลักษณะที่ทำให้เด็กถูกลงโทษ มี ซน ไม่เชื่อฟัง ทะเลาะกับญาติพี่น้อง แตะต้องสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้าม

                                                             Henry M. Graham

*****************************************************************





วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

จำเป็นอย่างไรที่ครอบครัวจะต้องฝึกอบรมเด็กให้รู้จักการทำงาน

เป็นที่ยอมรับทั้งในหมู่นักสังคมศาสตร์และนักจิตวิทยาว่า ครอบครัวมีความสำคัญต่อบุคลิกภาพ ซึ่งหมายถึงมีความสำคัญต่อ ลักษณะและรูปแบบของ ความคิด ความรู้สึก และการประพฤติปฏิบัติของบุคคลแต่ละคนในเรื่องต่างๆ รวมทั้งเรื่องการทำงาน 

ครอบครัวมีอิทธิพลสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางบุคลิกภาพของเด็ก ลักษณะต่างๆของพ่อแม่ทั้งในทางดีและไม่ดี จะมีโอกาสถ่ายทอดไปยังตัวเด็กโดยการอบรมทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ความเชื่อและวิธีการต่างๆที่ใช้ในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก มีความสำคัญต่อการสร้างบุคคลให้เป็นกำลังสำคัญของสังคม จนกล่าวได้ว่า ความแตกต่างในระดับการพัฒนาและระบบการปกครองประเทศ อาจสืบไปได้ถึงความแตกต่างในวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสมัยนั้น

ถ้าเด็กเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่รู้จักเลี้ยงดูและอบรมเด็กอย่างถูกต้อง เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมต่อไป ในทางตรงกันข้าม เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่เลี้ยงดูและอบรมเด็กไม่ถูกต้อง เมื่อโตขึ้นเด็กจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ดีของสังคม

อย่างไรก็ตาม แต่ละวัฒนธรรมมีวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กของแต่ละสังคมแตกต่างกันออกไป จึงเป็นผลให้บุคลิกภาพของผู้ใหญ่ในแต่ละสังคมหรือแต่ละชาติต่างกัน และการจะเสริมสร้างลักษณะประจำชาติให้มีลักษณะส่งเสริมการพัฒนานั้น วิธีการให้ได้ผลที่สุดจะต้องเริ่มที่วิธีการอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก

ในแง่ของการทำงานก็เช่นเดียวกัน การอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็กมีอิทธิพลอยู่มาก การจะเข้าใจการทำงานและวัฒนธรรมการทำงานของคนในสังคมใด จะต้องเข้าใจการฝึกอบรมเพื่อการทำงานในวัยเด็ก

การทำงานเป็นพฤติกรรมทางวัฒนธรรมที่ได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี จนกล่าวได้ว่า เมื่อใดคนไม่มีสมรรถภาพและไม่พอใจที่จะทำงาน สามารถจะบอกได้ว่ามีสาเหตุมาจาก ความล้มเหลวของชีวิตภายในครอบครัวและชุมชน ที่ไม่สามารถสร้างประสบการณ์การทำงานให้กับคนที่อยู่ในวัยเด็ก

การฝึกอบรมเพื่อให้สมาชิกในสังคมรู้จักการทำงาน จึงเป็นภาระหน้าที่ของสังคมที่ต้องกระทำ แต่จะกระทำในลักษณะใดนั้น เป็นไปตามความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ความจริงเด็กเริ่มเรียนรู้การทำงานตั้งแต่เด็กมีอายุยังน้อย เรียนรู้ด้วยการสังเกตกิจกรรมการทำงานของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และทันทีที่เขาสามารถเดินได้ เด็กจะเลียนแบบการทำงานของคนเหล่านั้น เด็กสามารถจะช่วยงานเล็กๆน้อยๆก่อนที่เด็กจะมีทักษะใดๆด้วยซ้ำไป การสังเกตจากการทำงานของผู้ใหญ่ และการช่วยงานเล็กๆน้อยๆเป็นเหตุให้เด็กมีประสบการณ์ และเกิดความคุ้นเคยกับการทำงาน ตลอดจนได้รับการปลูกฝัง ค่านิยม และนิสัยการทำงานโดยไม่รู้ตัว

ฉะนั้น ถ้าจะให้เด็กมีทัศนคติ ค่านิยม และนิสัยการทำงานที่ดี ควรจะได้รับการพัฒนาตั้งแต่วัยเด็ก พ่อแม่ที่ทำให้เด็กเชื่อโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ว่าการทำงานเป็นเรื่องที่ต้องอดทนและควรหลีกเลี่ยงถ้าทำได้ จะทำให้ความมุ่งมาตรที่จะทำให้ตนเองก้าวหน้าด้วยการทำงานของลูกจะถูกทำลายไป ซึ่งความจริงลูกๆควรได้รับการสอนว่ากิจกรรมการทำงานเป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับมนุษย์

และเป็นเรื่องจำเป็น ที่เด็กควรได้รับการพัฒนาให้รู้สึกพอใจที่สามารถทำงานได้สำเร็จ และมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน ด้วยการกระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งการกระทำอย่างมีเป้าหมายเหล่านี้ จะทำให้เด็กเกิดลักษณะไม่กลัวการทำงาน หรือมีลักษณะที่ต้องการทำงานแต่น้อย แต่อยากได้ค่าจ้างสูงๆ เหล่านี้ เป็นต้น

นั่นคือ ถ้าต้องการให้คนในชาติมี ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และมีพฤติกรรมที่เอื้อต่อการทำงาน จำเป็นจะต้องให้การฝึกฝนอบรมเกี่ยวกับการทำงานตั้งแต่เด็กโดยครอบครัวมีบทบาทสำคัญ
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                        สาระคิด

การอบรมเลี้ยงดูเด็กไทย มีหลักที่ต้องปฏิบัติ 3 ประการ คือ (1) ทำทุกอย่างแทนเด็กโดยเฉพาะเด็กชาย (2) คุ้มครองไม่ให้เกิดอัตราย และ (3) ให้ความสนุกสนานแก่เด็ก

                                                                             Henry M.Graham

*****************************************************************

วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

พฤติกรรมการทำงานของคนไทยเป็นอย่างไร

พฤติกรรมการทำงานเป็นพฤติกรรมทางวัฒนธรรม ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิด ความเชื่อ และค่านิยม ที่เกี่ยวกับการทำงานที่ได้รับการอบรมถ่ายทอดกันมา ในแต่ละสังคมจึงมีพฤติกรรมการทำงานที่แตกต่างกัน ตามความแตกต่างของแต่ละวัฒนธรรม

สำหรับพฤติกรรมการทำงานของคนไทย จากการศึกษาพบว่า พฤติกรรมการทำงานของคนไทยมีลักษณะดังต่อไปนี้

คนไทยมีพฤติกรรมเอกชนนิยม ขาดความสม่ำเสมอ ขาดระเบียบวินัยอย่างตั้งใจ ไม่ชอบทำงานร่วมกับคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด และขาดความสำนึกในเรื่องเวลาตามแบบที่มีอยู่ในสังคมอุตสาหกรรม

คนไทยมีลักษณะปัจเจกชนนิยม เป็นลักษณะที่ถือตนเองเป็นใหญ่ แสดงพฤติกรรมในลักษณะที่มุ่งสนองความต้องการของตนเองเป็นสำคัญ โดยไม่มีการเคารพระเบียบกฎเกณฑ์ และกฎหมายของบ้านเมืองเท่าที่ควร

ในสังคมไทย ผู้ใดสามารถเลี่ยงกฎหมายได้โดยไม่ถูกลงโทษ ถือว่าเป็นคนเก่ง คนมีฝีมือ แต่คนที่พยายามทำตามกฎเกณฑ์ ระเบียบ และกฎหมาย กลับถือว่าเป็นคนโง่ คนซื่อ หรือคน"เถรตรง" คนประเภทนี้แม้ว่าจะมีคนพูดถึงอยู่บ้าง แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยม เพราะถือว่าเป็นคน"ไม่ฉลาด"

คำว่า "ฉลาด"ของคนไทย จึงมีความหมายรวมถึงการรู้จักเอาตัวรอดด้วยเสมอ และความสามารถเอาตัวรอดนี้ไม่มีการจำกัดวิธีการ คือ อาจใช้วิธีการใดๆก็ได้ แม้ว่าจะต้องคดโกง หรือหลอกลวง ขอแต่ให้บรรลุจุดหมายปลายทาง เพื่อความอยู่รอดของตนเป็นใช้ได้

หากพิจารณาลักษณะะปัจเจกชนนิยมของคนไทย อย่างลึกซึ้ง จะเห็นว่าเป็นลักษณะความต้องการ ที่จะสนองความต้องการความสำคัญของตน(ego-centrism) ซึ่งคนไทยมักเรียกว่า "ความเป็นไท" คือ การที่คนแต่ละคนจะคิดหรือจะทำอะไรได้ตามที่ตนเห็นดีเห็นชอบ มากกว่าที่จะผูกพันกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ ลักษณะความเป็นไทนี้มีอยู่ในคนไทยทุกคน จะแตกต่างในแง่ที่ว่าใครมีมากรือน้อยกว่ากัน

ความนิยมยกย่องในเรื่องความเป็นไทนี้มีอยู่ในคนไทยมาแต่ดั้งแต่เดิม ถึงกับมีคำพังเพยว่า "พูดได้ตามใจคือไทยแท้" แต่ความหมายจริงๆของความเป็นไท หมายถึงว่า จะทำอะไรรวมท้ังจะพูดอะไรก็ได้ตามใจ คือนิสัยที่แท้จริงของคนไทย

ในการทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความเบื่อหน่ายในการทำงานประจำวัน คนไทยจะทำงานแตกต่างกันไปจากรูปแบบที่กำหนดไว้ จนเป็นที่กล่าวกันว่า คนไทยขาดวินัย แก้ปัญหาอย่างไม่มีระบบ จนไม่สามารถทำตามวิธีดำเนินการที่ได้วางไว้ เนื่องจากคนไทยแต่ละคนมีวิธีการในการทำงานเป็นของตนเอง

การทำงานในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นไปได้ยากที่คนไทยจะรวมกลุ่มกันทำงาน เพราะคนไทยเป็นคนที่ทำอะไรตามสบาย ประกอบกับสังคมไทยมีโครงสร้างหลวม และมีทัศนคติ"ไม่เป็นไร" เหล่านี้ ทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะทำงานร่วมกัน

ด้วยความที่มีค่านิยมที่รักความเป็นอิสระ และการเล็งผลปฏิบัติ (pragmatism) ทำให้คนไทยมีการทดลองเปลี่ยนงานเพราะอยากมีรายได้สูง แต่ทดลองทำดูแล้วหากมีความยากลำบาก มีกฎเกณฑ์มากมาย จะเลิกทำ กลับมาทำงานที่ได้เงินน้อยแต่สบาย และถ้าความสบายนั้นเพิ่มความเป็นตัวของตัวเองก็ยิ่งชอบ

คนไทยจะไม่ยึดถือปฏิบัติสิ่งที่ไม่เห็นผล หรือไม่สอดคล้องกับประโยชน์ของตน คนไทยยอมรับว่า อุดมการณ์ หลักการ และกฎหมาย มีความสำคัญ แต่จะปฏิบัติหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในสังคมไทยหาการกระทำที่เสมอต้นเสมอปลายไม่ค่อยได้ ทั้งผู้ใหญ่และเด็กมีนิสัยติดตัวคล้ายคลึงกัน คือไม่เพ่งเล็งในเรื่องระเบียบวินัย  เพราะไม่มีระเบียบวินัยจนติดเป็นนิสัย  เคยชินกับการหย่อนบ้างตึงบ้าง      ไม่ว่ากิจกรรมใดๆจะทำแต่ให้พอเสร็จ ไม่มุ่งความสมบูรณ์และความเยี่ยมยิ่ง

การทำงานของข้าราชการไทยก็เช่นเดียวกัน คือจะทำงานโดยมีความกระตือรือร้นทำตามโครงการต่างๆเพียงระยะแรก หลังจากนั้นความกระตือรือร้นจะหมดไป โครงการนั้นจะหยุด

การบริหารราชการพลเรือนของไทยมิได้"มุ่งโครงการ"มากนัก แต่กลับมุ่งรายละเอียดที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเรื่อยๆไป การแก้ปัญหานั้นนักบริหารไทยเชี่ยวชาญยิ่งนักในเรื่อง"จริงจังครั้งเดียว" การวางแผนกับการดำเนินงานตามแผนในระยะยาวเป็นคนละเรื่อง และการปฏิบัติตามแผนไม่ค่อยจะยึดถือเป็นสิ่งจริงจังมากนัก

ส่วนการให้ความดีความชอบในวงราชการไทย เกือบจะไม่ได้ตั้งอยู่บนประสิทธิภาพของการปฏิบัติราชการตามโครงการ การปูนบำเหน็จรางวัลขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่กับผู้บังคับบัญชา และจะเน้นความสัมพันธ์ส่วนตัว มากกว่าใช้สมรรถภาพในการทำงาน ในสังคมไทยยึดความสัมพันธ์ส่วนตัวไปสู่ความสำเร็จมากกว่าองค์ประกอบอื่น

นอกจากนั้น การกำหนดปัญหาให้แน่นอน ไม่ได้เป็นเครื่องชี้ว่าจะแก้ปัญหาได้ หรือทำให้การแก้ปัญหาเร็วขึ้น หรือทำให้การบริหารงานง่ายขึ้น ในการทำงาน บางครั้งจึงมีการปล่อยส่วนที่ทำไม่เสร็จทิ้งไว้

จากทั้งหมด สามารถสรุปพฤติกรรมการทำงานของคนไทยได้ว่า ไม่ค่อยมีระเบียบวินัย ขาดความสม่ำเสมอ ขาดการวางแผน มีสมรรถภาพในการทำงานคนเดียว และขาดประสิทธิภาพในการทำงานเป็นกลุ่ม

จะเห็นว่าพฤติกรรมการทำงานของคนไทยในลักษณะดังกล่าว เป็นพฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม หรือ การเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ก็เห็นจะเป็นความล้มเหลวของระบบพรรคการเมือง และกระบวนการสหกรณ์ของไทย
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

คนไทยไม่สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ เมื่อเราทำงานร่วมกันเป็นทีม ก็มักมีปัญหาเรื่องความสมานสามัคคี ปัญหาเรื่องการใช้ปัญญาและเหตุผล ตลอดจนปัญหาการไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน

                                                         บรรจง  ชูสกุลชาติ
                                                  อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

*****************************************************************