การรู้คุณค่าแห่งตน คือ การตัดสินของแต่ละบุคคลต่อการมีหรือไม่มีคุณค่าของตน เป็นความรู้สึกในเชิงบวกหรือลบ การมีความคิดเห็นเกี่ยวกับตนในทางบวก เป็นการรู้คุณค่าแห่งตนสูง ส่วนการมีความเห็นเกี่ยวกับตนในทางลบ เป็นการรู้คุณค่าแห่งตนต่ำ ซึ่งการรู้คุณค่าแห่งตนมีผลมาจากการประเมินตนเอง
นักจิตวิทยาต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การรู้คุณค่าแห่งตน เป็นส่วนประกอบที่เกี่ยวกับอารมณ์และความคิดรวบยอดเกี่ยวกับตน และเป็นแกนนำที่แท้จริงของบุคลิกภาพของมนุษย์ การรู้คุณค่าแห่งตนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่มีผลต่อการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์
การรู้คุณค่าแห่งตนขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ที่อยู่ในใจของบุคคลนั้นๆ บุคคลที่มีภาพลักษณ์แห่งตนในเชิงบวก เป็นบุคคลที่ชอบและยอมรับตนเองอย่างแท้จริง จะแสดงออกถึงการรู้คุณค่าแห่งตนในเชิงบวกสูง และจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในเชิงสร้างสรรค์
นักจิตวิทยา ยังได้สรุปถึงการรู้คุณค่าแห่งตนว่า มีลักษณะดังนี้
1) การรู้คุณค่าแห่งตน สามารถเปลี่ยนแปรตามสถานการณ์ เหตุการณ์ สุขภาพ ฯลฯ
2) การณุ้คุณค่าแห่งตนเป็นส่วนผสมระหว่างความเชื่อมั่นภายในกับผลสัมฤทธิ์ภายนอก
3) การรู้คุณค่าแห่งตนเป็นสิ่งที่บุคคลสามารถเพิ่มได้และรักษาให้อยู่ในระดับสูงๆได้
4) การรู้คุณค่าแห่งตน มีผลกระทบมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก
5) ระดับการรู้คุณค่าแห่งตน จะสะท้อนจากการตัดสินใจของบุคคลนั่นเอง
6) ความเชื่อและค่านิยมบางอย่าง ทำให้ยากต่อการรักษาการรู้คุณค่าแห่งตนให้อยู่ในระดับสูงได้
เกี่ยวกับบุคลิกภาพ การรู้คุณค่าแห่งตนมีผลต่อบุคลิกภาพของบุคคล คนที่มีการรู้คุณค่าแห่งตนต่ำจะพยายามชดเชยความรู้สึกที่ว่าตนด้อยความสามารถ ด้วยการกระทำที่แสดงถึงการมีปมด้อยและปมเด่น การรู้คุณค่าแห่งตนต่ำ มีผลโดยตรงกับระดับสติปัญญา อารมณ์ การจูงใจ และพฤติกรรม จึงมีผลกระทบในเชิงลบต่อบุคลิกภาพของมนุษย์
นักจิตวิทยาส่วนมากเชื่อว่า การรู้คุณค่าแห่งตนต่ำเป็นปัจจัยสำคัญกว่าปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของความไร้ระเบียบ ไม่ยอมรับว่าตนเองมีคุณค่า จึงแสดงออกด้วยการคับข้องใจ และความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น
คนที่รู้คุณค่าแห่งตนต่ำ อาจทำให้ตนเองเล็กลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะประสบความสำเร็จแล้วก็ตาม ในขณะที่คนรู้คุณค่าแห่งตนสูง อาจเปลี่ยนแปลงความล้มเหลวให้เป้นความสำเร็จในเวลาไม่นาน
บุคคลที่รู้คุณค่าแห่งตนต่ำ มีความโน้มเอียงที่จะเกิดความยุ่งยาก เช่น มีเอกลักษณ์ของตนไม่มั่นคง จะมีความทุกข์ อันเกิดจากอาการทางจิตใจในลักษณะต่างๆ เช่น วิตกกังวล กลัว นอนไม่หลับ ปวดหัว กัดเล็บใจสั่น ส่วนคนที่รู้คุณค่าแห่งตนสูงจะไม่มีความทุข์ยากจากอาการเหล่านี้
คนที่รู้คุณค่าแห่งตนต่ำ จะรู้สึกตื่นกลัว และรู้สึกไม่สบายเมื่ออยู่ในสังคม และจะทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงความอาย เป็นคนที่ต้องการการยอมรับอย่างมาก นอกจากนั้น คนที่รู้คุณค่าแห่งตนต่ำ มีแนวโน้มที่จะชักจูงได้ง่าย มีแนวโน้มที่จะพยายามทำอะไรเหมือนคนอื่น มีทัศนคติที่จะทำให้ตัวเองพ่ายแพ้ เกิดความรู้สึกไร้ค่า
คนที่มีการรู้คุณค่าแห่งตนสูงจะเรียนรู้ว่าอะไรสำคัญในชีวิต จะไม่รู้สึกไขว้เขวเพราะรู้สึกผิด กลัว หรือมีความสงสัยในตน(self-doubt) สามารถตัดสินใจได้โดยปราศจากการประนีประนอม ค่านิยม จริยธรรม และมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน
ด้วยเหตุนี้ การรู้คุณค่าแห่งตนจึงได้รับการยอมรับว่า เป็นตัวกำหนดลักษณะที่คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะแตกต่างไปตามความแตกต่างของการรู้คุณค่าแห่งตนของแต่ละคนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
นอกจากนั้น การรู้คุณค่าแห่งตนจะเป็นตัวกำหนดในเรื่องต่อไปนี้ คือ การเลือกคู่ครอง การเลือกอาชีพ การเลือกเพื่อน การเลือกกิจกรรมในยามว่าง ทัศนคติที่มีต่อคนเองและคนรอบข้าง สมรรถนะในการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ การกระทำแลปฏิกิริยาโต้ตอบ ความสุขหรือการขาดความสุข ความสัมพันธ์ในครอบคัว ความสัมพันธ์ในอาชีพ และความสัมพันธ์ทั้งหลายที่เกี่ยวกับการสวดมนต์อ้อนวอน การละเล่นและชมชน
จะเห็นว่า การรู้คุณค่าแห่งตนมีความสำคัญต่อความสำเร็จของชีวิตอย่างมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้่างและพัฒนา การรู้คุณค่าแห่งตนในเชิงบวกขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและความเชื่อที่มีต่อตนเองไปในทิศทางบวกอย่างจริงจัง มิฉะนั้นความสำเร็จในชีวิตจะเกิดขึ้นได้ยาก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
ความเจ็บป่วยทางจิตใจ เป็นอันตรายร้ายแรงกว่า ความเจ็บป่วยทางร่างกายมากนัก
ซิเซโร
*********************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น