วิธีแก้ปัญหาเพื่อจัดการกับความต้องการที่ขัดแย้ง เป็นวิธีการร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีความต้องการที่ขัดแย้งกัน จึงต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา จะได้สนองความต้องการของแต่ละคน การแก้ปัญหาวิธีนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดปัญหาใหม่ ทางเลือกใหม่ๆ และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เหลื่อมล้ำกันอยู่ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะไม่มีใครต้องเสีย ไม่มีใครต้องยอม เนื่องจากทุกคนหรือทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์
วิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา สามารถนำไปใช้ได้ทั้งปัญหาระหว่างบุคคล ครอบครัว องค์การ และระหว่างสังคม วิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาจำเป็นต้องใช้ทักษะการฟัง การยืนยัน และวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง
วิธีแก้ปัญหาเพื่อจัดการกับความต้องการที่ขัดแย้ง มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 กำหนดปัญหาในรูปของความต้องการไม่ใช่ในรูปของวิธีแก้ปัญหา การกำหนดปัญหาที่ถูกต้องจะทำให้ขั้นตอนการแก้ปัญหาในขั้นตอนอื่นๆดำเนินไปได้ และเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายหรือทุกฝ่ายเป็นฝ่ายชนะ(win/win outcome) จึงต้องกำหนดปัญหาในรูปของความต้องการ สนองความพอใจทุกคน การรู้ความต้องการ จะช่วยให้ทราบปัญหาและความต้องการของแต่ละคน ขั้นกำหนดปัญหาจึงเป็นขั้นที่สำคัญและใช้เวลามาก สิ่งที่ต้องยึดถือในขั้นนี้คือ แต่ละคนจะต้องยึดมั่นในความต้องการของตน ฟังเสียงสะท้อนจากฝ่ายอื่น จนกระทั่งเข้าใจความต้องการของคนอื่น แล้วใช้ความต้องการทั้งหมดสรุปปัญหา โดยใช้ประโยคยาวๆ ปัญหาที่กำหนดไว้อย่างดี จะสามารถแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ครึ่งหนึ่ง
ขั้นที่ 2 การระดมสมอง การระดมสมองเป็นวิธีการที่ช่วยให้ได้ความคิดในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องสร้างความชัดเจน และไม่ต้องประเมิน เป็นความพยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้มากที่สุด การระดมสมองก็เพื่อแสดงว่า วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะไม่ได้มีวิธีเดียว
ขั้นที่ 3 เลือกวิธีแก้ปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของทั้ง 2 ฝ่ายได้ดีที่สุด วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดจะต้องเป็นวิธีการที่ได้รับฉันทามติที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ตลอดจนสามารถตรวจสอบผลที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลัง
ขั้นที่ 4 วางแผนว่าใครจะทำอะไรที่ไหนและเมื่อไร ทุกคนที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาจะต้องตัดสินใจว่า ใครทำอะไร ที่ไหนและเมื่อไร บางครั้งจะต้องตัดสินว่า จะใช้วิธีอะไรด้วย โดยเขียนข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งมีรายละเอียดว่า ใครจะทำอะไร เมื่อไร เพื่อไว้เตือนความจำ
ขั้่นที่ 5 นำแผนไปปฏิบัติ ในการปฏิบัติ จะต้องปฏิบัติให้เสร็จตามกำหนด และเป็นไปตามข้อตกลง
ขั้นที่ 6 ประเมินกระบวนการแก้ปัญหา เป็นการประเมินเพื่อทราบผลของการแก้ปัญา ว่าดำเนินไปได้ดีเพียงใด และหากการปฏิบัติตามแผนไม่ได้ผลดีควรมีการแก้ไขอย่างไร และจะมีการแก้ไขและวางแผนใหม่อย่างไร ซึ่งในขั้นนี้ ควรให้มีการอภิปรายประกอบการประเมิน ในเรื่องเกี่ยวกับ ความรู้สึกในกระบวนการแก้ปัญหา มีอะไรที่ชอบและที่ไม่ชอบ มีอะไรไที่ทำให้ไม่สบายใจ สิ่งที่อยากจะพุดแต่ไม่ได้พูด และมีอะไรที่จะทำให้ดีกว่านี้ในโอกาสต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าได้ดำเนินตาม 6 ขั้นตอนแล้วก็ตาม การแก้ปัญหาร่วมกันอาจไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจาก
1)ไม่จัดการแก้ปัญหาเรื่องอารมณ์ก่อนเริ่มการแก้ปัญหา ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายหรือกลุ่มมีอารมณ์รุนแรง
2) การกำนดปัญหาไม่เป็นไปตามความต้องการของแต่ละคน
3)ในระหว่างระดมสมองมีการขัดจังหวะ ด้วยการประเมิน การวิจารณ์ หรือให้ผู้เสนอยกตัวอย่าง เหล่านี้ทำให้แนวคิดถูกขวางกั้น
4) ทำรายละเอียดไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความขัดแย้ง ก่อให้เกิดความไม่ร่วมมือกัน
5).ไม่ติดตามผล ทำให้ไม่ทราบความก้าวหน้า
6) มีการปิดบังซ่อนเร้นสาระสำคัญ เนื่องจากทุกคนไม่ได้เปิดเผยปัญหาและความต้องการของตนออกมาทั้งหมด มีการปิดบังซ่อนเร้น
7) ดำเนินกระบวนการกลับไปกลับมา เพราะบางครั้งไม่สามารถหาฉันทานุมัติในการแก้ปัญหาได้ จึงต้องกลับไปทบทวนขั้นตอนต้นๆ ทำให้เสียเวลา ทำให้การแก้ปัญหาต้องล่าช้า
จะห็นว่า การแก้ปัญหาจะมีประสิทธิผลได้ นอกจากจะต้องดำเนินตามขั้นตอนในการแก้ปัญหาครบทั้ง 6 ขันตอนแล้ว ยังจะต้องขจัดสาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาขาดประสิทธิผลอีกด้วย การแก้ปัญหาเพื่อจัดการกับความต้องการที่ขัดแย้งจึงจะประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
บุคคลที่มีสติปัญญาเพื่อความสำเร็จ จะเผชิญกับปัญหาและวิเคราะห์ปัญหาด้วยความรอบคอบ
*********************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น