ค่านิยมเป็นการตัดสินใจ หรือการลงความเห็นของบุคคลและของส่วนรวมว่า อะไรเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาและควรแสวงหา
ค่านิยมเป็นเครื่องจูงใจให้บุคคลเลือกกระทำหรือหลีกเลี่ยงการกระทำ ค่านิยมมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคล เป็นมาตรฐานที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกของมนุษย์ เมื่ออยู่ในสถานการที่ต้องเลือก ค่านิยมเป็นตัวกำหนดว่าอะไร"ถูก" อะไร"เหมาะ"อะไร"ที่จะปฏิบัติ" อะไร"ที่จะเชื่อ"
ในแง่ของการทำงาน นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า นอกจากคนเราจะทำงานเพื่อชีวิตรอดแล้ว เหตุจูงใจที่สำคัญที่จูงใจให้คนเราทำงานคือค่านิยม ค่านิยมต่ออาชีพจึงเป็นรากแก้วของปัญหาการว่างงาน
เนื่องจากแต่ละสังคมมีค่านิยมที่แตกต่างกัน ค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแต่ละสังคมจึงแตกต่างกันด้วย
เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ค่านิยมทำหน้าที่ 2 ประการ คือ ประการแรก ค่านิยมทำให้เกิดเป้าหมายทั้งเป้าหมายส่วนบุคคลและเป้าหมายสาธารณะ ค่านิยมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องเป็นค่านิยมที่ส่งเสริมการผลิต ประการที่สอง ค่านิยมทำให้เกิดนิสัยชอบ หรือทำให้เกิดกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจ
ฉะนั้น แม้จะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หากปราศจากการมีระบบค่านิยมที่เหมาะสม ก็ไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจได้ ระบบค่านิยมที่เหมาะสมจึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
ส่วนสถาบันมีความหมายเป็น 2 นัย คือในแง่รูปธรรม สถาบันหมายถึง องค์การหรือสมาคม ส่วนในแง่นามธรรม สถาบันหมายถึง ระเบียบหรือระบบการปฏิบัติที่ปฏิบัติกันอยู่ในสังคมหนึ่งๆ เป็นระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่ปฏิบัติกันมาจนเคยชินและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมนั้น
สถาบันต่างๆของ ระบบการเมือง ระบเศรษฐกิจ และระบบสังคม มีอิทธิพลต่อความพยายามและความตั้งใจในการทำงานของมนุษย์
สถาบันเป็นตัวกำหนดทัศนคติ แรงจูงใจ และเงื่อนไขในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าสถาบันกระตุ้นให้คนแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ต้องการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความกระตือรือร้นที่จะทำงาน ย่อมจะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้น อย่างไรก็ตาม หากสถาบันทำให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม จะก่อให้เกิดอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจ
นั่นคือ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ จำเป็นจะต้องมีสถาบันที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงจะเกิดการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว โดยสถาบันจะกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ ตลอดจนมีการใช้ทุนอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสถาบันทางสังคมที่เหมาะสม
โดยทั่วไปค่านิยมและสถาบันมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะต่อไปนี้
1.มีอิทธิพลต่อทัศนคติที่เกี่ยวกับการใช้ความพยายามทางเศรษฐกิจทั่วๆไป เช่น ทัศนคติต่อการทำงาน การเสี่ยงในการลงทุน เป็นต้น
2. มีอิทธิพลต่อผลิตภาพของแรงงาน สถาบันที่เหมาะสมจะเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน ส่วนสถาบันที่มักจะเป็นอุปสรรคต่อคุณภาพหรือผลิตภาพของแรงงาน เช่น ระบบการแบ่งทรัพย์สินให้บุตรเท่ากันทุกคน ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ เป็นต้น
3. มีอิทธิพลต่อการออมและการลงทุน ค่านิยมและสถาบันบางลักษณะไม่เอื้อต่อการออมและการลงทุน อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การทำบุญเกินกำลัง ลักษณะมุ่งปัจจุบัน เป็นต้น
4. มีอิทธิพลต่อการขยายตัวของผู้ประกอบการ การขยายตัวของผู้ประกอบการขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสถาบันและค่านิยม การมีค่านิยมและสถาบันที่เหมาะสม จะช่วยให้เกิดการขยายตัวของผู้ประกอบการได้มาก เช่น ค่านิยมในการสะสมความมั่งคั่ง เป็นต้น
5. มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลทางเทคโนโลยีจะเกิดได้อย่างรวดเร็ว ก็ต่อเมื่อทัศนคติของคนในระบบสังคมยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งใหม่ๆ และสถาบันได้มีการส่งเสริมการวิจัยเพื่อแสวงหาสิ่งใหม่ๆมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ
นอกจากนั้น จากการศึกษาพบว่า ความแตกต่างของอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา เกิดจากความแตกต่างในรูปแบบของสังคมและวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยค่านิยมและสถาบันในประเทศพัฒนามีลักษณะเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา
ด้วยเหตุนี้ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ จำเป็นจะต้องพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เป็นสังคมและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มิฉะนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ยาก
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
ถ้าเป็นสถานการณ์ที่ยาก และไม่มีคำแนะนำใดๆ พอเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติ ลักษณะเฉพาะของคนไทยก็แสดงออกมาทันที คือจะ"เลี่ยง" หรือ"ถอยหนี"จากสถานการณ์ที่ยากนั้น
Blanchard
*********************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น