วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2561

ปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา

หากจะมองย้อนกลับไปดูระบบการศึกษา จะเห็นว่า การศึกษาเป็นระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานและใช้เงินภาษีอากรมากที่สุด ร้อยละ 75 ของค่าใช้จ่ายในระบบการศึกษาถูกจ่ายเป็นค่าจ้างและเงินเดือน

นอกจากนั้น การศึกษายังเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับขึ้นได้ด้วยตนเอง การขยายการศึกษาชั้นประถมศึกษาทำให้เกิดแรงผลักดันที่จะขยายการศึกษาระดับมัธยมศึกษา เพิ่มผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษามากขึ้น ทำให้เกิดอุดมศึกษามากขึ้น และเมื่อขยายระดับอุดมศึกษาทำให้เกิดบัณฑิตศึกษามากขึ้น กลายเป็นความต้องการทางการศึกษาที่ไม่รู้จักพอ

การศึกษาเองก็ทำให้เกิดอุปสงค์ทางการศึกษา การศึกษายิ่งเจริญเติบโตมากขึ้นเท่าไร ประชาชนจะยิ่งต้องการการศึกษามากขึ้นเท่านั้น แต่การเจริญเติบโตทางการศึกษามีลักษณะ"เพิ่มขึ้นแบบเดิมๆ"ปัญหาและวิกฤตการณ์ทางศึกษาที่เกิดจากระบบการศึกษาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาจึงเกิดขึ้น

สำหรับปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มด้วยกัน และแต่ละกลุ่มจะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

          1.ผลผลิตของระบบการศึกษา เกือบทุกประเทศต่างมีความมุ่งมั่นที่จะไปสู่เป้าหมายการประถมศึกษาสำหรับทุกคน ปัญหาอยู่ที่ว่าจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้เร็วแค่ไหน เพราะในระยะแรกของการพัฒนา ความสำคัญตกอยู่ที่การศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา เพื่อผลิตกำลังคนระดับสูงที่จำเป็นต่อการพัฒนามากๆ และการขยายการศึกษาระดับประถมศึกษาเองก็จำเป็นจะต้องใช้ครู ซึงผลิตโดยระดับอุดมศึกษา

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ไม่มีประเทศใดที่สามารถบรรลุการศึกษาระดับประถมศึกษาสำหรับทุกคนได้โดยปราศจากการลงทุนทางการศึกษาในระดับสูงขึ้นไป

ไม่มีใครแย้งความคิดที่ว่า เด็กทุกๆคนควรมีโอกาสเรียนการศึกษาระดับประถมศึกษา แต่การจัดการศึกษาให้เด็กด้วยครูที่ไม่มีคุณภาพ ขาดตำราเรียน และอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมไม่เพียงพอ  จะเป็นการหลอกลวงมากกว่าที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในเรื่องคุณภาพของเด็กนักเรียน

ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เกิดปัญหาว่าจะเลือกการขยายโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำอย่างรวดเร็ว หรือจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างช้าๆ แต่พบว่ามักจะเลือกประการแรก ทั้งนี้เพราะเกิดจากความกดดันทางการเมือง และเมื่อขยายการศึกษาระดับประถมศึกษา ความกดดันที่จะให้ขยายการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปจะตามมา ผลก็คือจะได้ผู้เรียนที่จบจากระดับประถมศึกษาที่ด้อยคุณภาพ เพื่อเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา  ทำให้ได้ผู้จบการศึกษาในระบบของประเทศกำลังพัฒนาส่วนมาก ไม่ค่อยจะตรงกับความความต้องการของประเทศ

            2. การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา แทบทุกประเทศ จะพบว่าเด็กในเมืองมีโอกาสที่จะเรียนในโรงเรียนที่ดีกว่าเด็กในชนบท และกรณีที่มีการเก็บค่าเล่าเรียน เด็กที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยจะได้ประโยชน์กว่า การศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาจึงเป็นระบบการศึกษาสำหรับคนส่วนน้อยโดยค่าใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่ และหากพิจารณาในเรื่องความเท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษา จะพบว่าเป็นความเท่าเทียมกันในเชิงปริมาณมากกว่าเท่าเทียมกันในเชิงคุณภาพ

          3. จุดมุ่งของการศึกษา ในประเทศกำลังพัฒนาแทบจะทุกประเทศ จุดมุ่งของการศึกษาในระบบจะมีปัญหาว่าจะสอนอะไร จะเน้นเรื่องอะไร จะเรียนวิชาใด สาขาใด และมีเกณฑ์อะไรที่จะบอกว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งผลผลิตทางการศึกษาไม่เหมือนผลผลิตของระบบอื่นๆที่มีความชัดเจน

ในเรื่องโอกาสและจุดมุ่งทางการศึกษา จะต้องสามารถวัดได้จากคุณภาพไม่ใช่วัดจากค่านิยม แต่เป็นเรื่องยากสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เพราะในประเทศกำลังพัฒนา การได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยมีผลอย่างสำคัญต่อการมีรายได้สูง มีตำแหน่งสูง และการมีอำนาจ มากกว่ากรณีของประเทศพัฒนา การที่มีคนจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจึงไม่ได้หมายความว่า จะได้ผู้จบการศึกษาที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการกำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ

ประกอบกับในสถาบันอุดมศึกษาเองก็พอใจที่จะสอนวิชาศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ กฎหมาย และสังคมศาสตร์มากกว่าที่จะเปิดสอนวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ จนกลายเป็นคุณลักษณะของมหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมาก ที่ผลิตแพทย์ วิศวกร และบุคลากรที่เกี่ยวกับช่างเทคนิคน้อยมาก แต่ผลิตนักกฎหมาย ศิลปะ และนักมนุษยศาสตร์มากเกินพอ มากจนทำให้เกิดการว่างงานของผู้มีการศึกษา

นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่า การศึกษาระดับมัธยมศึกษาไม่สามารถเตรียมนักศึกษาเพื่อเรียนสาขาวิชาที่มีคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นฐานได้ ที่เป็นเช่นนี้ อาจมีสาเหตุมาจากค่าใช้จ่ายในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์สูงกว่าสาขาอื่นๆ หรืออาจจะเป็นเพราะการจัดการศึกษาที่ทีคุณภาพต่ำให้กับคนส่วนมากง่ายกว่าที่จะสอนวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์

          4. การจัดสรรงบประมาณ ประเทศกำลังพัฒนาเกือบทุกประเทศอยู่ภายใต้แรงกดดันให้เพิ่มการศึกษาในระบบ เหตุผลสำคัญก็คือ มีเด็กในวัยเรียนเพิ่มขึ้น มีอัตราผู้เข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกระดับ ประกอบกับแรงกดดันให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศกำลังพัฒนารุนแรงมาก ทำให้เกิดผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณ ที่ไม่อาจจัดสรรงบประมาณได้อย่างเป็นธรรมเพียงพอที่จะก่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาได้

           5. ข้อจำกัดขององค์การและคน เป็นการไม่ถูกต้องนักที่สรุปว่า ในการจัดการการศึกษา ข้อจำกัดทางการเงินสำคัญที่สุด ซึ่งความจริงแล้ว ทรัพยากมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูอาจารย์และผู้บริหารเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การศึกษาไม่สามารเติบโตอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนไม่สามารถปรับปรุงการศึกษาในระบบให้ดีขึ้น

ในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สูง คือขาดครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีสมรรถนะ ทำให้ยากที่จะพัฒนาการศึกษาในยุคสารสนเทศได้

ปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการศึกษาทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นปัญหาขั้นพื้นฐานที่เกิดจากการขยายตัวทางการศึกษาอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนา สำหรับไทยก็มีปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการศึกษาไม่แตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ปัญหาที่ควรแก้ไขอย่างเร่งรัด คือเรื่องความไม่เสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา ซึ่งมีลักษณะเสมอภาคในเชิงปริมาณ แต่ขาดความเสมอภาคในเชิงคุณภาพ ด้วยการจัดการศึกษา ให้เด็กในชนบทได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนที่คุณภาพเท่าเทียมกับเด็กในเมือง เพื่อช่วยให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นทั้งระบบ

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                               สาระคิด

                                           จงระวังความรู้ที่ผิดๆ เพราะความชั่วร้ายทั้งมวลเกิดจากสิ่งนี้

*********************************************************************************




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น