วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ความเสมอภาคในโอกาสของการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากจะต้องคำนึงถึงคุณภาพและประสิทธิภาพแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงความเสมอภาคอีกด้วย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ความคาดหวังทางการศึกษาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นักการศึกษา นักสังคมศาสตร์ และผู้นำประเทศ เชื่อว่าการศึกษาสามารถใช้เป็นเครื่องมือพื้นฐาน เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ขจัดความไม่เท่าเทียมกัน ตลอดจนความไม่ยุติธรรมทั้งหลายที่มีมานานให้หมดไปได้

อย่างไรก็ตาม การจะให้การศึกษาเป็นเครื่องมือสร้างความเสมอภาคขึ้นในสังคมได้นั้น ระบบการศึกษาจะต้องมีความเสมอภาคด้วย

การศึกษาเพื่อความเสมอภาคที่แท้จริงนั้น  จะต้องเป็นการศึกษาเพื่อปวงชน แต่พบว่า การจัดการศึกษาเพื่อปวงชนไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าจะมีการกระจายการศึกษาขั้นพื้นฐานออกไปอย่างกว้างขวางก็ตาม ความไม่เสมอภาคยังคงมีปรากฏอยู่ ทั้งนี้เพราะด้วยเหตุปัจจัยทางภูมิศาสตร์ เพศ  และความเหลื่อมล้ำในระบบสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

ในการจัดสรรเงินเพื่อการศึกษา ประเทศกำลังพัฒนาได้จัดสรรเงินเพื่อการศึกษาให้มหาวิทยาลัยในสัดส่วนที่มาก ซึ่งปกติคนเรียนในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ จะมีพ่อแม่ที่ร่ำรวยอยู่แล้ว การจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย จึงเป็นการศึกษาสำหรับคนรวย ซึ่งเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว จะเป็นผู้ที่มีโอกาสได้งานดีที่สุด และได้ค่าจ้างสูงสุดอีกด้วย

ในด้านคุณภาพ พบว่าในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ โรงเรียนที่อยู่ในชนบทส่วนใหญ่ จะขาดตำราเรียนและอุปกรณ์ทางการศึกษา มีครูที่ไม่ค่อยได้รับการฝึกอบรม และมีคุณสมบัติไม่ค่อยจะเหมาะสมที่จะสอนในระดับประถมศึกษา มีอัตราการลาออกของนักเรียนสูง และเรียนต่อน้อยกว่านักเรียนในเมือง

ในกรณีของประเทศไทย ครูอาจารย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม หรือศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย ส่วนมากมีความต้องการที่จะสอนในกรุงเทพ

ปัจจุบันนี้ เด็กๆในทุกประเทศที่พ่อแม่มีการศึกษา มีอาชีพ และมีสถานภาพทางสังคมที่สูง จะมีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุด  มีโอกาสมากกว่าเด็กที่มีสติปัญญาเท่ากันที่เป็นลูกของคนงานหรือเกษตรกร

การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อปวงชนได้อย่างมีประสิทธิผลนั้น วิธีการหนึ่งที่จะต้องทำอย่างรีบด่วน ก็คือ การลดความไม่เสมอภาคในโอกาส เพื่อทำให้ผู้เรียนมีความเท่าเทียมในโอกาสมากขึ้น อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ขจัดความไม่เท่าเทียมกัน ตลอดจนความไม่ยุติธรรมที่มีมานานให้หมดไป
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                            สาระคิด

                 ความไม่เสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา นำไปสู่ความไม่เสมอภาคในโอกาสของชีวิต

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

คุณสมบัติ 10 ประการของโรงเรียนที่ทำให้ผู้จบการศึกษามีลักษณะที่พึงประสงค์

นการจัดการศุึกษา เป้าหมายสำคัญคือ การทำให้โรงเรียนมีประสิทธิผล และได้ผู้จบการศึกษามีลักษณะที่พึงประสงค์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development=OECD) มีควาาเห็นว่า การที่จะให้ได้ผู้จบการศึกษามีลักษณะที่พึงประสงค์ โรงเรียนจะต้องมีคุณสมบัติ 10 ประการ ต่อไปนี้

1. มีความมุ่งมั่นต่อบรรทัดฐานและเป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน

แต่ละโรงเรียนมีวัฒนธรรมขององค์การที่แตกต่างกัน มีข้อกำหนดการปฏิบัติของนักเรียนแตกต่างกัน โรงเรียนที่ดีจะต้องมีบรรยากาศที่เป็นสื่อของการเรียนรู้ มีบรรทัดฐานและเป้าหมายร่วมกัน โดยเป็นที่ยอมรับทั้งโรงเรียน

2. ร่วมมือกันวางแผน ตัดสินใจร่วมกัน และการทำงานของครูอาจารย์อยู่ในกรอบของการทดลองและประเมินผล

ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโรงเรียน ขึ้นอยู่กับการกระทำร่วมกันของคณะครูอาจารย์ด้วยความรับผิดชอบ ในการที่จะกำหนดและรักษาเป้าหมายของโรงเรียน และครูอาจารย์จะต้องมีความห่วงใยต่อสวัสดิการของนักเรียนทุกคน

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อครูมีความสัมพันธ์อันดี มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการจัดการ ครูอาจารย์มีความมุ่งมั่นต่อการปรับปรุงโรงเรียนให้ดีขึ้น มีส่วนร่วมในการใช้นวัตกรรม ตลอดจนการทดลองสิ่งใหม่ๆ

3. มีความเป็นผู้นำในการริเริ่มและการปรับปรุงสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น

ความเป็นผู้นำ และหลักของการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ความขัดแย้ง ที่ทำให้โรงเรียนดำเนินการไปได้โดยปราศจากสายบังคับบัญชา แต่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้นโยบายของโรงเรียยนดำเนินต่อไปได้ โดยมีกลไกที่จะกำหนดว่าบุคคลใดหรือทีมงานใดควรเป็นผู้นำแผนและนวัตกรรมไปใช้

4. ความต่อเนื่องของครูอาจารย์

โรงเรียนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดี ถ้ามีการเปลี่ยนครูอาจารย์บ่อยๆ หรือมีครนูอาจารย์ลาออกในอัตราที่สูง ความต่อเนื่องของครูอาจารย์เป็นเงื่อนไขเบื้องต้น ในการปรับปรุงโรงเรียนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกที่นำนวัตกรรมมาใช้

5. กำหนดยุทธวิธีพัฒนาครูอาจารย์อย่างต่อเนื่อง

ยุทธวิธีพัฒนาครูอาจารย์จะต้องสัมพันธ์กับวิธีสอนของแต่ละโรงเรียน และความต้องการขององค์การ ครูอาจารย์ทุคนควรมีโอกาสที่จะได้รับการฝึกอบรมในระหว่างประจำการ ทั้งภายในโรงเรียนและโปรแกรมภายนอก การฝึกอบรมควรสัมพันธ์โดยตรงกับความต้องการที่แท้จริงของโรงเรียน ครูอาจารย์ควรได้รับการยกระดับความรู้และส่งเสริมทักษะวิชาชีพครูอยู่เสมอ

6. ทำงานที่วางแผนไว้ด้วยความรอบคอบ

โรงเรียนจะต้องมีหลักสูตรที่เกิดจากความร่วมมือย่างดี เพื่อให้นักเรียนแต่ละคนได้รับความรู้และมีทักษะที่จำเป็น หลักสูตรจะต้องได้รับการวางแผนในรายละเอียด มีการจัดลำดับการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง จะต้องจัดวิชาซึ่งเป็นแกนที่นักเรียนทุกคนได้เรียน เพื่อให้มีความรู้และทักษะพื้นฐาน และสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของโรงเรียน

7. ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง

โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ จะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองอย่างจริงจัง ทั้งในรูปแบบของกลุ่มอาสาสมัครและในส่วนบุคคล ผู้ปกครองจะต้องสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนนักเรียนที่อยู่ในความดูแลให้เกิดความพยายามในการที่จะเรียน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น

8. แสวงหาและยอมรับค่านิยมของโรงเรียนมากกว่าค่านิยมส่วนบุคคล

โรงเรียนจะต้องสร้างความสำนึกของชุมชน โดยมีค่านิยมร่วมกัน เป็นค่านิยมของโรงเรียน และทุกคนจะต้องยอมรับค่านิยมที่สร้างร่วมกันนั้น

9. ใช้เวลาเพื่อการเรียนรู้อย่างเต็มที่

นักเรียนจะต้องใช้เวลาเพื่อการเรียนรู้ให้มากที่สุด ถูกขัดจังหวะทั้งในและนอกชั้นเรียนน้อยที่สุด วิชาและลำดับชั้นของการเรียนรู้ ควรจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น

10  ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังและด้วยความรับผิดชอบจากผู้มีอำนาจทางการศึกษา

โรงเรียนควรได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจทางการศึกษา ทั้งการสนับสนุนงบประมาณที่จำเป็น ความเป็นผู้นำ และการแนะแนว ผู้มีอำนาจทางการศึกษา ควรให้ความสะดวกในการทำให้เกิดการเปลียนแปลงมากกว่าใช้วิธีบังคับ

คุณสมบัติทั้ง 10 ประการนี้ หากโรงเรียนใดมีครบถ้วน จะช่วยให้ผู้จบการศึกษามีลักษณะที่พึงประสงค์ เป็นทรัยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของประเทศ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                       สาระคำ

บรรทัดฐาน หมายถึง แบบแผนที่ใช้ยึดถือในทางปฏิบัติ

ค่านิยม หมายถึง สิ่งที่บุคคลหรือสังคมยึดถือเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจ และกำหนดการกระทำของตน

*********************************************************************************

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ปัจจัยเด่นๆที่ทำให้โรงเรียนมีประสิทธิผล

โรงเรียนที่มีประสิทธิผล นอกจากจะช่วยให้สามารถบรรลุพันธกิจของโรงเรียนแล้ว ทำให้เด็กที่จบการศึกษาออกไปมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์อีกด้วย การจัดการศึกษาถ้าต้องการจะให้เกิดประสิทธิผล โรงเรียนจะต้องมีปัจจัยเด่นๆต่อไปนี้

1. มีสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบ

ความสามารถในการเรียนของผู้เรียน ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสภาพแวดล้อมของโรงเรียน เพราะการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ง่ายถ้าโรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบีนบ เช่น ครูและนักเรียนเข้าชั้นเรียนตามตารางสอนที่กำหนดไว้ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆมีความสะอาดและได้รับการซ่อมแซมอย่างดี เป็นต้น

โรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบจะสัมพันธ์กับห้องเรียนที่มีประสิทธิผล เป็นห้องเรียนที่ครูได้สร้างความสนใจ และได้รับความสนใจจากนักเรียน ครูรักษาระเบียบวินัยด้วยการเริ่มและเลิกสอนตามเวลา ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่คาดหวังว่าจะได้เรียนรู้ และมีการประเมินการทำงานของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ

2. มีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีความคาดหวังสูง

ความคาดหวังแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการปฏิบัติของโรงเรียน เพราะเป้าหมายคือลักษณะที่พึงประสงค์ที่จะให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ในตัวผู้เรียน โรงเรียนที่มีความหวังต่ำ แสดงว่ามีมาตรฐานต่ำ โรงเรียนที่มีมาตรฐานสูง แสดงว่ามีความคาดหวังสูง

ฉะนั้นโรงเรียนที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีความหวังที่สูง จึงเป็นโรงเรียนที่มีประสิทธิผล

3. มีหัวหน้าสถานศึกษาที่เข้มแข็งและมีสำนึกของชุมชน

โรงเรียนที่มีประสิทธิผล จะต้องมีหัวหน้าสถานศึกษาที่เข้มแข็ง อุทิศเวลาให้กับการประสานงานและการจัดการเกี่ยวกับการสอน มีความใกล้ชิดกับการเรียนการสอน

ผู้นำที่มีประสิทธิผล จะมีส่วนร่วมกับครูและชุมชนในการกำหนดพันธกิจ และยอมรับการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมว่ามีประสิทธิผลมากกว่าการบริหารจัดการแบบอัตตานิยม

จะเห็นว่าโรงเรียนจะมีประสิทธิผล สามารถจัดการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายและพันธกิจที่ตั้งไว้ จะต้องบริหารจัดการโดยมีปัจจัยที่เด่นๆทั้งสามประการครบถ้วน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ คือ มีสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบ มีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีความหวังสูง ตลอดจนมีหัวหน้าสถานศึกษาที่เข้มแข็งและมีสำนึกของชุมชน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคิด

               สภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นระเบียบ ครูและนักเรียนขาดเป็นประจำ

               อุปกรณ์การเรียนการสอนมีจำกัด จะทำลายการเรียนรู้ของนักเรียน

*********************************************************************************


วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

จุดมุ่งหมายของการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ความติดรวบยอดเกี่ยวกับการจัดการศึกษา ได้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่เรียกได้ว่า เป็นยุคของการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อปวงชน (Basic Education for All)

ทั้งนี้เพราะเชื่อว่า การพัฒนาประเทศจะต้องเริ่มด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยวิธีการศึกษา และอย่างน้อยประชากรแต่ละคนควรได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

การศึกษาขึ้นพื้นฐานคืออะไร Jacques Hallak  ได้ให้ความหมายของการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้ว่า การศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายถึง

1. จำนวนปีที่เรียนในโรงเรียนที่น้อยที่สุด ซึ่งเมื่อจบไปแล้วจะช่วยให้มีความรู้เกี่ยวกับจำนวนและหนังสือระดับหนึ่ง ซึ่งเพียงพอที่จะสามารถรับบริการต่างๆ เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานไปแล้ว

2. จำนวนปีสูงสุดที่รัฐบาลสามารถจัดให้กับประชาชนทั้งหมดหรือประชาชนส่วนใหญ่ได้เรียน คือใช้เวลาประมาณ  3-4 ปี แต่ในประเทศที่มีเศรษฐกิจดี รัฐอาจจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ 10 ปี ถึง 12 ปีก็ได้

จากนิยามนี้ จะเห็นว่า ผู้ให้นิยามมุ่งไปที่การศึกษาในระบบโรงเรียนเป็นสำคัญ ส่วนเวลาที่ใช้ศึกษาในระดับที่เรียกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ใช้เวลาตั้งแต่ 3 ถึง 12 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและทัศนคติของรัฐบาล

ส่วนองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ได้ให้ ความหมายของการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า "การเรียนสอนที่มีวัตถุประสงค์จะให้ผู้เรียนได้ความรู้และทักษะ เช่น การรู้หนังสือ เลขคณิตฯลฯ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในสังคม และจะต้องเป็นการรู้หนังสือที่สามารถป้องกันไม่ให้กลับไปสู่การไม่รู้หนังสืออย่างเดิมอีก และมีความรู้เพียงพอที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมและชีวิตชุมชนอย่างมีประสิทธิผล ตลอดจนสามารถเพิ่มเติมการเรียนรู้ได้ต่อไป"

จะเห็นว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานครอบคลุมตั้งแต่ขั้นสามารถอ่านออกเขียนได้ จนถึงขั้นสามารถใช้เป็นพื้นฐานทางการศึกษา เพื่อการเรียนรู้เพิ่มเติม การประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิต

การศึกษาขั้นพื้นฐาน จะจัดเป็นการศึกษาในระบบ นอกระบบ หรือ การศึกษาตามอัธยาศัย ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติและงบประมาณของรัฐบาล

สำหรับการศึกษาไทย ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ก็ดี จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็ดี ได้กำหนดให้จัดการศึกษาขั้นศึกษาขั้นพื้นฐานสูงถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และเป็นการศึกษาที่รัฐจะต้องจัดให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีจุดมุ่งหมาย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น ตลอดจนเป็นรากฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในปัจจุบัน มีความหมายกว้างกว่ายุคก่อนๆ การมีความรู้แต่เพียงอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น ยังถือว่าไม่มีการศึกษาเพียงพอ ความรู้ความสามารถที่ได้จากการศึกษาในปัจจุบันจะต้องกว้างขวางกว่าในอดีต

สภาพัฒนาการศึกษาระหว่างชาติ(International Council for Educational Development) จึงได้กำหนดความต้องการการเรียนรู้ที่จำเป็นขั้นต่ำ(minimum essential learning needs) ไว้ดังนี้

1. ทัศนคติเชิงบวก ได้แก่ มีทัศนคติที่ดีต่อ ครอบครัว เพื่อนมนุษย์ งาน การพัฒนาชุมชน และต่อการพัฒนาประเทศ และที่สำคัญอย่างยิ่งที่เด็กและผู้ใหญ่จะต้องมี คือทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

2. การเรียนรู้หนังสือและเลขจนสามารถใช้การได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

          2.1 ความสามารถในการอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร เอกสาร ที่ให้ความรู้ในด้านต่างๆ รวมทั้งคำแนะนำในการใช้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งผู้ผลิตสินค้าแจกให้เมื่อซื้อสินค้านั้นๆ

          2.2 ความสามารถในการเขียนจดหมายถึงเพื่อน หรือเขียนคำร้องถึงหน่วยราชการ เพื่อขอทราบข่าวสารหรือข้อสนเทศที่จำเป็น

          2.3 ความสามารถในการคำนวณโดยทั่วๆไป ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เช่น การรังวัดที่ดิน การคำนวณผลผลิต การคิดรายได้ การคิดดอกเบี้ย และอัตราการเช่าที่ดินได้ถูกต้อง

3. การมีทัศนะทางวิทยาศาสตร์และความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับกระบวนการทางธรรมชาติรื่องที่ควรรู้อย่างยิ่ง คือ เรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย วิธีปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โภชนาการ วิธีเก็บรักษาอาหาร การปรุงอาหาร รวมทั้งสิ่งแวดล้อม และวิธีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

4. ความรู้และทักษะที่สามารถใช้เพื่อการดูแลครอบครัวและการจัดบ้านเรือนให้เรียบร้อย เป็นความรู้เพื่อการรักษาสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว โภชนาการ การรักษาความสะอาด นอกจากนั้นควรจะมีความรู้เรื่องกิจกรรมทางวัฒนธรรม การพักผ่อนหย่อนใจ การพยาบาลคนเจ็บ อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือการใช้เงินและการซื้อสินค้าอย่างมีสติปัญญา การซ่อมแซมบ้าน การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมของบ้าน และการเก็บรักษาอาหารเพื่อใช้บริโภคในครอบครัว

5. ความรู้และทักษะที่สามารถหารายได้ ความรู้และทักษะตามข้อนี้ ไม่จำกัดเฉพาะการประกอบอาชีพในท้องถิ่นเท่านั้น แต่รวมไปถึงความรู้และทักษะหลายๆอย่าง ที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ

6. ความรู้และทักษะที่สามารถร่วมกิจกรรมของชุมชน  ความรู้ด้านนี้ครอบคลุมไปถึงประวัติศาตร์ อุดมการณ์ของท้องถิ่นและของชาติ ความเข้าใจเรื่องสังคม ความเข้าใจเรื่องโครงสร้างและหน้าที่ของรัฐ การเก็บภาษีและการใช้งบประมาณของรัฐ บริการสังคมซึ่งรัฐจัดให้แก่ประชาชน สิทธิและหน้าที่ของประชาชน หลักการ ความมุ่งหมายและการดำเนินงานของสหกรณ์ หรือองค์กรในท้องถิ่นที่ประชาชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ

อย่างไรก็ตาม ความต้องการการเรียนรู้ในขั้นต่ำนี้ รายละเอียดจะแตกต่างไปตามสภาพของท้องถิ่น

จะเห็นว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ใช่เป็นเพียงพื้นฐานของการเรียนต่อ แต่เป็นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีคุณค่าในฐานะที่เป็นสมาชิกของครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ ฉะนั้นในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ให้ความสำคัญกับการสอบเพื่อการเรียนต่อ จึงเป็นการจัดการศึกษาที่ผิดพลาด เป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา ซ้ำร้ายอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอีกด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

การศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคม เพื่อกล่อมเกลาสมาชิกในสังคมให้เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปราถณา

เนื่องจากแต่ละสังคมต้องการสมาชิกที่มีลักษณะแตกต่างกัน การศึกษาของแต่ละสังคมจึงต้องแตกต่าง

กัน


*********************************************************************************