วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

จุดมุ่งหมายของการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ความติดรวบยอดเกี่ยวกับการจัดการศึกษา ได้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่เรียกได้ว่า เป็นยุคของการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อปวงชน (Basic Education for All)

ทั้งนี้เพราะเชื่อว่า การพัฒนาประเทศจะต้องเริ่มด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยวิธีการศึกษา และอย่างน้อยประชากรแต่ละคนควรได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

การศึกษาขึ้นพื้นฐานคืออะไร Jacques Hallak  ได้ให้ความหมายของการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้ว่า การศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายถึง

1. จำนวนปีที่เรียนในโรงเรียนที่น้อยที่สุด ซึ่งเมื่อจบไปแล้วจะช่วยให้มีความรู้เกี่ยวกับจำนวนและหนังสือระดับหนึ่ง ซึ่งเพียงพอที่จะสามารถรับบริการต่างๆ เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานไปแล้ว

2. จำนวนปีสูงสุดที่รัฐบาลสามารถจัดให้กับประชาชนทั้งหมดหรือประชาชนส่วนใหญ่ได้เรียน คือใช้เวลาประมาณ  3-4 ปี แต่ในประเทศที่มีเศรษฐกิจดี รัฐอาจจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ 10 ปี ถึง 12 ปีก็ได้

จากนิยามนี้ จะเห็นว่า ผู้ให้นิยามมุ่งไปที่การศึกษาในระบบโรงเรียนเป็นสำคัญ ส่วนเวลาที่ใช้ศึกษาในระดับที่เรียกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ใช้เวลาตั้งแต่ 3 ถึง 12 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและทัศนคติของรัฐบาล

ส่วนองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ได้ให้ ความหมายของการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า "การเรียนสอนที่มีวัตถุประสงค์จะให้ผู้เรียนได้ความรู้และทักษะ เช่น การรู้หนังสือ เลขคณิตฯลฯ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในสังคม และจะต้องเป็นการรู้หนังสือที่สามารถป้องกันไม่ให้กลับไปสู่การไม่รู้หนังสืออย่างเดิมอีก และมีความรู้เพียงพอที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมและชีวิตชุมชนอย่างมีประสิทธิผล ตลอดจนสามารถเพิ่มเติมการเรียนรู้ได้ต่อไป"

จะเห็นว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานครอบคลุมตั้งแต่ขั้นสามารถอ่านออกเขียนได้ จนถึงขั้นสามารถใช้เป็นพื้นฐานทางการศึกษา เพื่อการเรียนรู้เพิ่มเติม การประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิต

การศึกษาขั้นพื้นฐาน จะจัดเป็นการศึกษาในระบบ นอกระบบ หรือ การศึกษาตามอัธยาศัย ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติและงบประมาณของรัฐบาล

สำหรับการศึกษาไทย ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ก็ดี จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็ดี ได้กำหนดให้จัดการศึกษาขั้นศึกษาขั้นพื้นฐานสูงถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และเป็นการศึกษาที่รัฐจะต้องจัดให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีจุดมุ่งหมาย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น ตลอดจนเป็นรากฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในปัจจุบัน มีความหมายกว้างกว่ายุคก่อนๆ การมีความรู้แต่เพียงอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น ยังถือว่าไม่มีการศึกษาเพียงพอ ความรู้ความสามารถที่ได้จากการศึกษาในปัจจุบันจะต้องกว้างขวางกว่าในอดีต

สภาพัฒนาการศึกษาระหว่างชาติ(International Council for Educational Development) จึงได้กำหนดความต้องการการเรียนรู้ที่จำเป็นขั้นต่ำ(minimum essential learning needs) ไว้ดังนี้

1. ทัศนคติเชิงบวก ได้แก่ มีทัศนคติที่ดีต่อ ครอบครัว เพื่อนมนุษย์ งาน การพัฒนาชุมชน และต่อการพัฒนาประเทศ และที่สำคัญอย่างยิ่งที่เด็กและผู้ใหญ่จะต้องมี คือทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

2. การเรียนรู้หนังสือและเลขจนสามารถใช้การได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

          2.1 ความสามารถในการอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร เอกสาร ที่ให้ความรู้ในด้านต่างๆ รวมทั้งคำแนะนำในการใช้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งผู้ผลิตสินค้าแจกให้เมื่อซื้อสินค้านั้นๆ

          2.2 ความสามารถในการเขียนจดหมายถึงเพื่อน หรือเขียนคำร้องถึงหน่วยราชการ เพื่อขอทราบข่าวสารหรือข้อสนเทศที่จำเป็น

          2.3 ความสามารถในการคำนวณโดยทั่วๆไป ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เช่น การรังวัดที่ดิน การคำนวณผลผลิต การคิดรายได้ การคิดดอกเบี้ย และอัตราการเช่าที่ดินได้ถูกต้อง

3. การมีทัศนะทางวิทยาศาสตร์และความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับกระบวนการทางธรรมชาติรื่องที่ควรรู้อย่างยิ่ง คือ เรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย วิธีปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โภชนาการ วิธีเก็บรักษาอาหาร การปรุงอาหาร รวมทั้งสิ่งแวดล้อม และวิธีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

4. ความรู้และทักษะที่สามารถใช้เพื่อการดูแลครอบครัวและการจัดบ้านเรือนให้เรียบร้อย เป็นความรู้เพื่อการรักษาสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว โภชนาการ การรักษาความสะอาด นอกจากนั้นควรจะมีความรู้เรื่องกิจกรรมทางวัฒนธรรม การพักผ่อนหย่อนใจ การพยาบาลคนเจ็บ อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือการใช้เงินและการซื้อสินค้าอย่างมีสติปัญญา การซ่อมแซมบ้าน การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมของบ้าน และการเก็บรักษาอาหารเพื่อใช้บริโภคในครอบครัว

5. ความรู้และทักษะที่สามารถหารายได้ ความรู้และทักษะตามข้อนี้ ไม่จำกัดเฉพาะการประกอบอาชีพในท้องถิ่นเท่านั้น แต่รวมไปถึงความรู้และทักษะหลายๆอย่าง ที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ

6. ความรู้และทักษะที่สามารถร่วมกิจกรรมของชุมชน  ความรู้ด้านนี้ครอบคลุมไปถึงประวัติศาตร์ อุดมการณ์ของท้องถิ่นและของชาติ ความเข้าใจเรื่องสังคม ความเข้าใจเรื่องโครงสร้างและหน้าที่ของรัฐ การเก็บภาษีและการใช้งบประมาณของรัฐ บริการสังคมซึ่งรัฐจัดให้แก่ประชาชน สิทธิและหน้าที่ของประชาชน หลักการ ความมุ่งหมายและการดำเนินงานของสหกรณ์ หรือองค์กรในท้องถิ่นที่ประชาชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ

อย่างไรก็ตาม ความต้องการการเรียนรู้ในขั้นต่ำนี้ รายละเอียดจะแตกต่างไปตามสภาพของท้องถิ่น

จะเห็นว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ใช่เป็นเพียงพื้นฐานของการเรียนต่อ แต่เป็นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีคุณค่าในฐานะที่เป็นสมาชิกของครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ ฉะนั้นในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ให้ความสำคัญกับการสอบเพื่อการเรียนต่อ จึงเป็นการจัดการศึกษาที่ผิดพลาด เป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา ซ้ำร้ายอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอีกด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

การศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคม เพื่อกล่อมเกลาสมาชิกในสังคมให้เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปราถณา

เนื่องจากแต่ละสังคมต้องการสมาชิกที่มีลักษณะแตกต่างกัน การศึกษาของแต่ละสังคมจึงต้องแตกต่าง

กัน


*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น