ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงวิกฤตการณ์ของสถาบันอุดมศึกษาไทยว่า การอุดมศึกษาไทยเริ่มต้นก่อน มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลี แต่มหาวิทยาลัยต่างๆยังขาดประสิทธิภาพและคุณภาพที่จำเป็น
สำหรับสภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย ในทัศนะของศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา มีดังนี้
1. วิกฤตการณ์คุณภาพการศึกษา คุณภาพการศึกษาเน้นเนื้อหาวิชาการมากกว่าการสร้างวิจารณญาณและความคิดสร้างสรรค์มาตลอด และยิ่งมีจำนวนนักศึกษามากขึ้น คุณภาพการศึกษายิ่งด้อยลงไปอีก และมีแนวโน้มจะด้อยมากขึ้น บัณฑิตมีความเข้มข้นทางวิชาการต่ำกว่ามาตรฐานสากล ขาดควาสามารถในการแสวงหาความรู้ใหม่ด้วยตนเอง ซึ่งมีสาเหตุมาจาก
1.1 มหาวิทยาลัยของไทยตั้งขึ้นในลักษณะมหาวิทยาลัยสอนเป็นหลัก
1.2 การขยายตัวเชิงปริมาณเกิดขึ้นมาก และรวดเร็วกว่าการเพิ่มของทรัพยากรและประสิทธิภาพของระบบ
1.3 ปรัชญาการศึกษาแคบและคลาดเคลื่อน เห็นมหาวิทยาลัยเป็นโรงเรียน เน้นเฉพาะวิชาและการเรียนในห้องเรียนเป็นหลัก การศึกษานอกหลักสูตรและกิจกรรมต่างๆถูกละเลย
2. มหาวิทยาลัยของรัฐได้รับเงินอุดหนุนน้อยเกินไปอย่างเรื้อรัง เป็นเหตุให้เกิดการขาดแคลนกำลังคนและสิ่งจำเป็นพื้นฐาน งบประมาณในการดำเนินการโดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณในการพัฒนามีจำกัด จนการขยายตัวของมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ ซึ่งเหล่านี้มีสาเหตุมาจาก
2.1 รัฐและสังคมยังเข้าใจอุดมศึกษาคลาดเคลื่อน โดยคิดว่าเป็นสถานศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ที่ทำหน้าที่สอนเป็นหลัก
2.2 ทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนสำนักงบประมาณ ไม่ได้สร้างแนวคิดของการอุดมศึกษาที่ถูกต้องอย่างเข้มแข็งพอ สร้างมหาวิทยาลัยใหม่เพิ่มขึ้น จนละเลยมหาวิทยาลัยที่มีอยู่เดิม
2.3 ระบบสถาบันอุดมศึกษาไม่มีเอกภาพ ในหลายกรณีที่ขัดแย้งกันเอง
2.4 มหาวิทยาลัยมีความอ่อนแอภายใน เนื่องจากมีความขัดแย้งและขาดความสามัคคี ประกอบกับระบบสรรหาผู้บริหารไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการเลือกตั้ง
2.5 อาจารย์นักวิชาการมีความคิดหลากหลาย ขัดกันเอง ไม่มีเอกภาพ เป็นกลุ่มพลังที่ไม่เป็นปึกแผ่น บางกรณีอาจารย์เรียกร้องกันมากเกินไป จนอาจทำให้เห็นว่าเป็นการมุ่งประโยชน์ส่วนตน
2.6 นิสิตนักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีพลัง แต่มองคุณภาพการศึกษาที่พึงประสงค์ไม่ออก หรือไม่กล้าที่จะเรียกร้องเกี่ยวกับการศึกษาของตน ระบบทุนการศึกษาและการช่วยเหลืออยู่ในวงจำกัดไม่ทั่วถึง
3. วิกฤตการณ์ด้านบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งวิชาการแต่กำลังขาดแคลนนักวิชาการ เพราะมหาวิทยาลัยไม่สามารถรักษานักวิชาการไว้ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถดึงดูดบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มีสติปัญญาดีให้เข้ามาเป็นอาจารย์ได้ สภาพของอาจารย์ที่เสื่อมถอยลงเป็นเหตุให้การบริหารงานบุคคลเสื่อมถอยลงไปด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะได้เงินตอบแทนต่ำ เน้นการสอนเป็นหลัก ตลอดจนขาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ ขาดการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวิชาการ
4. ระบบบริหารที่ด้อยประสิทธิภาพ โดยมีสาเหตุมาจากความอ่อนแอและความเสื่อม ทำให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆต่อไปนี้
4.1 การบริหารวิชาการ มหาวิทยาลัยยังไม่มีระบบที่ดีในการกำกับคุณภาพ มีการรวบอำนาจมากกว่ากระจายอำนาจและหน้าที่ไปยังภาควิชาและสาขาวิชา ผู้บริหารทุกระดับ ตั้งแต่อธิการบี คณบดี ผู้อำนวยการหน่วยงาน ตลอดจนหัวหน้าภาควิชา ไม่สามารจัดการหรือกำกับดูแลให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ
4.2 การบริหารการเงิน ด้วยระเบียบการเงินของของราชการ ทำให้การจ่ายเงินไม่มีควาามคล่องตัวและขาดประสิทธิภาพ ข้าราชการและผู้บริหารมุ่งปฏิบัติตามระเบียบเพื่อปกป้องตนเอง ผู้บริหารระดับต่างๆขาดความรู้เกี่ยวกับการบริหารการเงิน
4.3 การบริหารงานบุคคล มีการบริหารงานบุคคลที่ด้อยคุณภาพและประสิทธิภาพ
ทั้งหมดเป็นทัศนะของศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดี ที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการบริหารมหาวิทยาลัยไทย จะเห็นว่าความเห็นของศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลากับงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร. สุธรรม อารีกุลและคณะ มีความสอดคล้องกัน จนสามารถยืนยันได้ว่ามหาวิทยาลัยของไทยมีสภาพและปัญหาดังที่กล่าวมาและอยู่ในขั้นวิกฤต
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ จากสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของไทย อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ และกำลังมีการจัดตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
คุณภาพการศึกษา(ไทย)ไม่ได้มาตรฐาน บัณฑิตมีคุณภาพด้อยกว่าบัณฑิตของมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน
อานันท์ ปันยารชุน
อดีตนายกรัฐมนตรี
*********************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น