วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2562

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นอย่างไร

ระบบเศรษฐกิจ หมายถึง กลุ่มของสถาบันทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีการกระทำคล้ายคลึงกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม

เป็นหน้าที่ของระบบเศรษฐกิจที่จะต้องสร้างกลไกหรือองค์กร เพื่อทำหน้าที่ (1)ตัดสินใจว่าจะผลิตสินค้าและบริการชนิดใด (2)ตัดสินใจว่าจะผลิตสินค้ามากน้อยเพียงใด (3) ตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการผลิตอย่างไร และ (4) ตัดสินใจว่าจะแบ่งปันผลิตผลที่ผลิตขึ้นมาอย่างไร ทั้งนี้เพราะทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์มีมากมายไม่สิ้นสุด

ระบบเศรษฐกิจแบ่งออกได้เป็น ระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ส่วนประเทศใดจะใช้ระบบเศรษฐกิจแบบใดขึ้นอยู่กับ (1)ภูมิหลังทางวัฒนธรรมและสังคม (2) ลักษณะพื้นฐานทางเศรษฐกิจดั้งเดิม (3)โครงสร้างการปกครองและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และ (4) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้อย่างกว้างขวางแทบจะทุกประเทศ แบ่งออกได้เป็น

1. ระบบเศรษบกิจแบบทุนนิยม(Capitalism) หรือ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี(Laissez-faire capitalism) มีลักษณะสำคัญคือ

          1.1. เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและปัจจัยการผลิต สามารถใช้ทรัพย์สินเพื่อการผลิตหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ทรัพย์สินในการผลิตได้

          1.2 ครัวเรือนมีเสรีภาพในการเลือกซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ตามอำนาจซื้อที่ครัวเรือนมีอยู่ และในขณะเดียวกัน หน่วยธุรกิจก็มีเสรีภาพในการผลิตสินค้าและบริการตามจำนวนทรัพยากรที่มีอยู่

          1.3 การตัดสินใจว่าจะผลิตสินค้าใด จำนวนเท่าไร  ผลิตโดยวิธีใด และผลิตเพื่อใคร เหล่านี้ดำเนินการโดยเอกชน โดยที่รัฐบาลไม่เข้ามาเกี่ยวข้องเลย

          1.4 รัฐบาลอาจเข้ามาดำเนินกิจการบางอย่างที่เอกชนไม่สามารถเข้ามาดำเนินการได้ เพราะต้องใช้ทุนอย่างมาก เช่น การประปา การคมนาคม การขนส่ง เป็นต้น

          1.5 ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมีการแข่งขันกันมาก   ต่างก็พยายามลดต้นทุนการผลิตสินค้าให้ต่ำลง เพื่อให้ได้กำไรสูงสุด เพราะแรงจูงใจหลักของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมคือกำไร

          1.6 การแจกแจงสินค้าและบริการ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค เป็นไปตามอำนาจซื้อของแต่ละคน

จะเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนี้ กลไกที่จะช่วยการตัดสินใจในการผลิตสินค้าหรือบริการ คือ กลไกการตลาด โดยผู้บริโภคและผู้ผลิตทำการเสนอซื้อและการเสนอขายตามราคาที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลง

จากการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือระบบแบบทุนนิยม พบว่าก่อให้เกิดปัญหาดังต่อไปนี้

          1) ปัญหาการเหลื่อมล้ำ อันเนื่องมาจากความสามารถโดยพื้นฐานของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ทำให้ความสามารถในการหารายได้ไม่เท่ากัน  เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนรวยยิ่งรวยขึ้น ในขณะที่คนจนยิ่งจนลง

          2) ในหลายกรณีกลไกการตลาด ยังไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจ

          3) การใช้ระบบการแข่งขันหรือกลไกราคา อาจทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

          4) เจ้าของกิจการที่มีเงินทุนมากๆ มีการขยายการลุงทุนของตนเพื่อทำลายคู่แข่ง มีการกักตุนสินค้าเพื่อหวังกำไร

          5) รัฐมีอำนาจจำกัด และมักจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ที่มั่งคั่ง และใช้รัฐบาลเป็นเครื่องมือรักษาผลประโยชน์ของพวกตน

 การที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่ หรือระบบเศรษฐกิจแบบผสม

2. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่(Neo-capitalism) หรือ ระบบเศรษฐกิจแบบผสม(Mixed economy) เป็นระบบเศรษฐกิจที่นำลักษณะสำคัญของระบบแบบทุนนิยมและระบบแบบสังคมนิยมมารวมไว้ด้วยกัน  กล่าวคือ มีทั้งส่วนที่ปล่อยให้เอกชนตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเอง และส่วนที่รัฐบาลเข้าไปควบคุมและวางแผนทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่ มีลักษณะสำคัญดังนี้

          2.1. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่ ยังคงยึดถือระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพยสินโดยเอกชน

          2.2.  รัฐบาลในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใหม่ เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการควบคุมดูแลให้เศรษฐกิจของชาติดำเนินไปด้วยดี และยังเข้ามาทำหน้าที่เป็นหน่วยผลิตในกิจการที่สำคัญๆอีกด้วย

          2.3. เกิดมีนักบริหารอาชีพ เข้ามาควบคุมการดำเนินงานของธุรกิจแทนเจ้าของกิจการ ความเป็นเจ้าของกิจการและการบริหารกิจการจะค่อยแยกออกจากกันมากขึ้น

          2.4. เมื่อเศรษฐกิจมีความเจริญเติบโตมากขึ้น การแข่งขันมีแนวโน้มจะลดลง  เนื่องจากมีหน่วยธุรกิจใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการรวมกิจการเล็กๆเข้าด้วยกัน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การซื้อกิจการของคู่แข่ง เป็นต้น

          2.5. รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่ในระบบศรษฐกิจแบบทุนนิยมเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาดูแลไม่ให้มีการผุกขาดในกิจการต่างๆ อันเป็นภัยต่อสังคม หรือมีการค้ากำไรเกินควร ตลอดจนเข้ามากำหนดราคาสินค้าที่จำเป็น

การมีระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้นโยบายเศรษฐกิจและระเบียบแบบแผนในการควบคุมแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแบบผสม ก็ยังไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่า ความเจริญอย่างมั่นคงและความเป็นธรรมในสังคมจะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระบบการเมืองการปกครองของประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการควบคุมเศรษฐกิจ ว่าทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคำ

สถาบันทางเศรษฐกิจ หมายถึง แบบแผนของการคิดการกระทำ เกี่ยวกับเรื่องผลิตสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งการแจกจ่ายสินค้าและการให้บริการต่างๆกับสมาชิกในสังคม

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น