ถ้ามองการศึกษาในเชิงระบบ (System Approach) จะเห็นว่าระบบการศึกษาประกอบด้วย
ปัจจัยป้อน เป็นส่วนของระบบการศึกษาที่เป็นวัตถุดิบ เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิตทางการศึกษา ปัจจัยป้อนของระบบการศึกษา ประกอบด้วย ผู้เรียน ครูหรือผู้สอน อาคารเรียน ห้องเรียน สื่อ วัสดุเพื่อการเรียนรู้ งบประมาณ ผู้ปกครอง สมาชิกในชุมชน เหล่านี้เป็นต้น
กระบวนการ เป็นส่วนของระบบการศึกษา ที่ทำหน้าที่ดำเนินการเอาปัจจัยป้อน มาจัดกระทำให้เกิดผลผลิตตามวัตถุประสงค์ ส่วนที่เป็นกระบวนการ ประกอบด้วย การเรียนการสอน การพัฒนาสื่อการเรียน ตารางสอน กิจกรรม การวัดและการประเมินผล การจัดการ การควบคุมคุณภาพ การวิจัย เป็นต้น
ส่วนที่เป็นปัจจัยป้อนกับส่วนที่เป็นกระบวนการ จัดเป็นปัจจัยการผลิตของระบบการศึกษา
ผลผลิต เป็นส่วนของระบบ ที่เป็นผลได้จากการกระทำของระบบการศึกษา ส่วนที่เป็นผลผลิต เป็นความรู้ ทักษะ และเจตคติของผู้จบการศึกษาในระดับต่างๆ และมีคุณสมบัติตามวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ คือมีคุณสมบัติเหมาะสม ในฐานะที่เป็นบุคคล สมาชิกในครอบครัว ผู้ทำงานในระบบเศรษฐกิจ สมาชิกของชุมชน ผู้สืบทอดวัฒนธรรม และเป็นสมาชิกของชุมชนโลก
จะเห็นว่า ผลผลิตของระบบการศึกษา จะขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิต คือส่วนที่เป็นปัจจัยป้อนกับส่วนที่เป็น
กระบวนการ ถ้าส่วนที่เป็นปัจจัยป้อนกับส่วนที่เป็นกระบวนการมีคุณภาพ ผลผลิตคือผู้จบการศึกษา จะมีคุณภาพด้วย ในทำนองเดียวกัน การแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาจะต้องแก้ปัญหาที่ปัจจัยการผลิตของระบบการศึกษาเป็นสำคัญ จึงจะเรียกว่าแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
จากการวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า ภูมิหลังทางครอบครัวและปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นตัวกำหนด ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ที่สำคัญกว่าตัวแปรภายในโรงเรียน ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน จะสัมพันธ์กับตำราเรียนมากกว่าตัวแปรอื่นๆ
ผลการวิจัยนี้อธิบายได้ว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อผลผลิตทางการศึกษา ของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาคุณภาพทางการศึกษาในแต่ละประเทศย่อมจะแตกต่างกันด้วย การพยายามที่จะเอาอย่างการจัดการศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากไม่อาจสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนแล้ว ยังอาจจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาได้อีกด้วย
ปัจจุบันนี้ มีการวิพากย์วิจารณ์ ว่าการศึกษาไทยด้อยคุณภาพ ด้อยกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายประเทศ ก็ควรรับฟัง และหากจะแก้ปัญหาอย่างจริง จะต้องเริ่มที่การตรวจสอบ วิเคราะห์ปัจจัยการผลิตทางการศึกษา แล้วแก้ไขในสิ่งที่พบว่ายังบกพร่องอยู่ มากกว่าที่จะแก้ปัญหาด้วยการเสาะแสวงหาว่า ประเทศอื่นๆเขาจัดการศึกษาอย่างไร แล้วไปลอกเลียนเอามาใช้เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาไทย เพราะการทำเช่นนั้นไม่อาจแก้ปัญหาคุณภาพของการศึกษาไทยได้
----------------------------------------------------
สาระคิด
คนที่ไม่ได้ทำงานเพราะรัก แต่ทำเพื่อเงิน มักจะไม่สามารถสร้างเงิน และความสุขในชีวิตได้มากนัก
Charles Schwab
----------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น