เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว กระแสโลกาภิวัตน์ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในวงการวิชาการของไทย เป็นกล่าวถึงในเชิงบวก เพราะเป็นแนวความคิดใหม่จากตะวันตก ซึ่งปกติคนไทยก็ยอมรับโดยไม่มีข้อสงสัยอยู่แล้ว แต่ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า ที่ผ่านมากระแสโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากมาย
ที่พูดถึงโลกาภิวัตน์อีกครั้งหนึ่ง ก็เพื่อให้มีการทบทวนว่า กระแสโลกาภิวัตน์ เป็นแนวความคิดที่ดี ที่เหมาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยเราจริงหรือ
ความจริงโลกาภิวัตน์มีอยู่ 2 ยุค ยุคแรกเกิดมาพร้อมกับสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้ล่มสลายในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 ประเทศที่เกี่ยวข้องกับโลกาภิวัตน์ในยุคนั้น เป็นประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีเจตนาที่จะทำให้ความไม่เสมอภาคระหว่างประเทศเหล่านั้นที่ประกอบด้วยคนเชื้อสายเดียวกันหมดไป ทำให้สินค้า ทุน และแรงงานสามารถไหลเข้าออกได้อย่างเสรี
ส่วนโลกาภิวัตน์ในยุคปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดจาการประชุมเจรจาการค้าที่รู้จักกันในชื่่อ แกตต์ (GATT) ซึ่งได้ตกลงที่จะยกเลิกข้อกำหนดบางอย่าง เกี่ยวกับภาษีศุลกากรและการค้า เพื่อให้เกิดการค้าเสรี และการประชุมรอบอุรุกวัย (The Uruguay Round) มีผลทำให้เิกิดองค์การค้าโลก (WTO) เป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการค้า เกิดสนธิสัญญามาสทริชท์ (Masstricht Treaty) ซึ่งเป็นสัญญาเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประชาคมยุโรป เกิดแนฟต้า (NAFTA) เพื่อลดอัตราภาษีีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้า
ต่อมาการตกลงในลักษณะนี้ ได้เกิดขึ้นทั้งในลักษณะทวิภาคีและพหุภาคี กว้างขวางออกไปเกือบทั่วทุกมุมโลก
คำว่า "โลกาภิวัตน์" ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Globalization" ซึ่งหมายถึง "การทำให้เป็นโลกเดียวกัน" ทำให้โลกทั้งใบกลายเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ที่สามารถติดต่อสื่อสารและทำกิจกรรมร่วมกันของประชาคมโลกได้สะดวกรวดเร็ว
ในตอนแรกที่ไทยเริ่มรู้จักคำๆนี้ นักวิชาการนิยมใช้คำว่า "โลกไร้พรมแดน" ต่อมาเปลี่ยนเป็นไปใช้คำว่า "โลกานุวัตร" อยู่พักหนึ่ง ในความหมายที่ว่า "ประพฤติตามโลก" คือสังคมโลกเปลี่ยนไปในทางใดก็เปลี่ยนตามๆกันไป
แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนมาใช้ "โลกาภิวัตน์" อย่างในปัจจุบัน ซึ่งหมายถึง การกระจายทั่วโลก ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ณที่ใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นความหมายที่ค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับระบบสารสนเทศ ที่ก่อให้เกิดการกระจายหรือเกิดผลกระทบไปทั่วโลก
นอกจากนั้น โลกาภิวัตน์ อาจหมายถึง กระบวนการหรือกลุ่มของกระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นความสัมพันธ์ทางสังคม อันมีเหตุมาจาก การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีการสื่อสาร การขนส่ง เกิดสภาพโลกไร้พรมแดน ทำให้ส่วนต่างๆของโลกมีความใกล้ชิดมากขึ้น สามารถเพิ่มการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน เกิดความเป็นมิตรระหว่างพลเมืองโลก
โลกาภิวัตน์เป็นการเชื่อมระหว่างสังคมทั้งในด้านกว้าง ลึก และความรวดร็ว ทั้งในการดำเนินชีวิต จนถึงการประกอบอาชญากรรม
โลกาภิวัตน์อาจมองได้ในหลายมิติ กล่าวคือ
โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ หมายถึง การเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก การค้าระหว่างประเทศ การไหลเข้าออกของทุน และการอพยพย้ายถิ่น
โลกาภิวัตน์ทางสิ่งแวดล้อม หมายถึง การกระทบต่อโลก เนื่องจากการกระทำของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม
โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม หมายถึง การเชื่อมโยงทางภาษาและวิถีชีวิต
โลกาภิวัตน์ทางการเมือง หมายถึง การยอมรับมาตรฐานทางการเมืองของโลก เช่น สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และมีการร่วมมือประสานงานกับรัฐบาลทั่วโลกในเรื่องเหล่านี้
จะเห็นว่าโลกาภิวัตน์แม้จะเริ่มด้วยมิติทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันได้เกี่ยวข้องกับทุกมิติของโลก ไม่ว่าจะเป็นมิติทางเศรษฐกิจ ทางสิ่งแวดล้อม ทางวัฒนธรรม หรือทางการเมือง การยอมรับกระแสโลกาภิวัตน์ของคนไทยจึงต้องรับด้วยความระมัดระวัง มิฉะนั้นจะลอยตามกระแสโลกาภิวัตน์โดยไม่มีจุดยืนเป็นของตนเอง
------------------------------------------------------------
สาระคำ
GATT = General Agreement on Tariffs and Trade.
WTO = World Trade Organization.
NAFTA = The North American Free Trade Agreement.
-----------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น