วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเทศไทยกับโลกาภิวัตน์

ประเทศไทยก็เหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไป  ที่มุ่งจะเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ   เมื่อมีปรากฎการณ์เสรีทางการเงินการคลังเกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์  ประเทศไทยก็ไม่รีรอที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้  โดยไม่มองให้ทะลุว่าจะเกิดผลตามมาอย่างไร

ในปีพ.ศ.2523 ไทยเริ่มเปิดเสรีทางการเงิน  ด้วยการยอมรับพันธะ 8 ประการของกองทุนการเงินระหว่า่งประเทศ

ในปี พ.ศ.2536 ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอบริการวิเทศธนกิจ  หรือที่รู้จักกันในชื่อ BIBF มีผลทำให้ภาคเอกชนเข้าถึงแหล่งทุนในต่างประเทศง่ายขึ้น โดยมีดอกเบี้ยถูกๆ  ทำให้หนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล  เพราะเงินทุนดังกล่าวนี้  ส่วนใหญ่นำมาใช้เพื่อเก็งกำไรในตลาดหุ้นและการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

ในปีพ.ศ.2539 สัญญาณร้ายทางเศรษฐกิจเริ่มปรากฎขึ้น การส่งออกเริ่มชะลอตัว เหลือเพียงร้อยละ 0.2  ในขณะเดียวกัน  ธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หลายบริษัทเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้คืน  ประกอบกับวิกฤติการเงินของเม็กซิโกส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทไทย มีการโจมตีค่าเงินบาทเพื่อเก็งกำไร ทำให้ค่าเงินบาทลดลง จนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด  มีการลอยตัวค่าเงินบาท จนเงินบาทมีค่่า 50 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ

ไทยตกอยู่ในสภาวะล้มละลาย ไม่มีเงินสำรองเหลือพอที่จะชำระหนี้  ทำให้ไทยต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าจะต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ  และต้องให้บริษัทข้ามชาติและบริษัทการเงินข้ามชาติเข้ามาแข่งขันได้อย่างเสรี  ตลอดจนบีบบังคับให้รัฐบาลต้องทำหลายๆอย่างเพื่อนำเงินมาใช้หนี้

ปัจจุบันไทยได้เปิดเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศ  มีผลทำให้สินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาด   จน  โรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลง  การเข้ามาของห้างสรรพสินค้าข้ามชาติ ทำให้ร้านโชห่วยของไทยต้องยุบเลิกกิจการ

ในทางการเมือง ขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาทางการเมือง มีการต่อต้านรัฐบาล ปรากฎว่าทั้งสหรัฐอเมริกา และเลขาธิการสหประชาชาติ พยายยามที่จะเข้าเกี่ยวข้อง เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย โดยอ้างความเป็นประชาธิปไตย  ซึ่งรัฐบาลเองก็รู้เห็นเป็นใจ และพยายามเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า  ปัจจุบันนี้มีการประท้วงรัฐบาลในหลายประเทศ บางประเทศสหรัฐอเมริกาถือฝ่ายรัฐบาล บางประเทศก็ถือฝ่ายผู้ประท้วง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนจะรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐได้มากกว่ากัน

ในทางวัฒนธรรม มีวัฒนธรรมต่างชาติหลั่งไหลเข้าอย่างกว้างขวาง ทั้งของชาติตะวันตก ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ และที่น่าสังเกต คือมีการใช้ภาษาอังกฤษในกิจกรรมต่างๆอย่างกว้างขวาง แต่เป็นการใช้ที่ไม่ถูกกับงาน ไม่ถูกกับเรื่อง นึกว่าจะใช้ก็ใช้ เช่น ในการรณนรงค์ให้คนไทยทำหรือไม่ทำมีบ่อยๆที่ใช้ภาษาอังกฤษแทนที่จะใช้ภาษาไทย หรือวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารสำหรับคนไทยด้วยกัน ก็มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ  ไม่ชื่อสถานีก็ชื่อรายการหรือทั้งสองอย่าง   เช่น NBT,  ThaiPBS เป็นต้น

ผลกระทบไทยจากกระแสโลกาภิวัตน์ ดังกล่าว  ถ้าไทยไม่รู้จักปฏิเสธโลกาภิวัตน์ หรือเลือกนโยบายโลกาภิวัตน์ด้วยความระมัดระวัง จะไม่สามาถสร้างโอกาสที่ดีที่สุดให้กับประเทศได้  เป็นการไม่ฉลาดนักที่ประเทศไทยจะกระโจนเข้าสู่โลกาภิวัตน์อย่างหลับหูหลับตา เพราะเป็นการเสี่ยงต่อการทำลายเศรษฐกิจของประเทศ จะเป็นการฉลาดมากว่าที่ไทยจะรับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างสร้างสรร

ทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่าเป็นอันตรายอย่างมาก สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ที่จะปล่อยให้กับสิ่งที่เรียกว่าตลาดเสรีหรือสถาบันโลกช่วงชิงบทบาทของรัฐบาล  การปล่อยให้ตลาดเสรีหรือสถาบันโลกเข้ามามีบทบาทเหนือรัฐบาล  ย่อมแน่นอนว่าจะนำประเทศไปสู่ความถดถอยทางเศรษฐกิจ เกิดภาวะไร้ระเบียบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในที่สุด
                                                            ----------------------------------------

                                                                             สาระคำ

                                                 BIBF=Bangkok International Banking Facilities.

                                                                     -------------------------


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น