วัฒนธรรมนั้นมีควบคู่กับสังคม ถ้าไม่มีสังคมจะไม่มีวัฒนธรรม และหากไม่มีวัฒนธรรมสังคมก็อยู่ไม่ได้ ต้องสูญสลายไป นี่เป็นข้อความสั้นๆ แต่สามารถอธิบายถึงความสำคัญของวัฒนธรรมได้อย่างดี
สำหรับความสำคัญของวัฒนธรรม มีรายละเอียด ดังนี้
วัฒนธรรมมีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมของมนุษย์ คือมนุษย์นั้นดีกว่าสัตว์ในแง่ที่ว่า มนุษย์มีมันสมองใหญ่กว่าสัตว์ ทำหน้าที่ได้ดีกว่าสมองสัตว์ ส่วนอวัยวะอื่นๆสู้สัตว์ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเขี้ยวเล็บตลอดจนความแข็งแรง หากมนุษย์ไม่มีวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง มนุษย์ก็ไม่อาจดำเนินชีวิตได้อยา่งปกติสุข ไม่อาจต่อสู้แข่งขันกับสัตว์อื่นได้ และอาจสูญพันธ์ุในที่สุด
วัฒนธรรมเป็นระบบของความคาดหวัง คือวัฒนธรรมช่วยให้เกิดความคาดหวังได้ว่าพฤติกรรมใดเมื่อทำแล้วจะได้รับรางวัล พฤติกรรมใดเมื่อทำแล้วจะถูกลงโทษ กิจกรรมใดที่ทำแล้วทำให้เกิดความอิ่มใจ พฤติกรรมใดเมื่อทำแล้วก่อให้เกิดความคับข้องใจ เช่น หากลูกคนไหนเชื่อฟังพ่อแม่ ก็สามารถคาดเดาได้ได้เลยว่าลูกคนนั้น จะเป็นที่รักใครของพ่อแม่ ในทางตรงกันข้ามหากลูกดื้อร้ั้นอยู่เสมอ ก็จะกลายเป็นลูกที่พ่อแม่ไม่รัก ขออะไรก็ไม่ค่อยจะได้ ในทำนองเดียวกัน หากชายหญิงก่อนจะอยู่ด้วยกันฉันท์สามีภรรยา จัดพิธีแต่งงานสมฐานะ จะทำให้เป็นที่พอใจของพ่อแม่และคู่สมรสเอง ในทางตรงกันข้ามหากหนีตามกันไป จะได้รับการติฉินนินทางจากสังคม สร้างความทุกข์ให้กับตนเองและพ่อแม่
วัฒนธรรมจะช่วยแนะแนวทางชีวิตแก่สมาชิกของสังคมในทุกๆเรื่อง วัฒนธรรมช่วยให้สมาชิกทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้สามารถทำนายพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมที่มีต่อสถานการณ์เดียวกันได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนช่วยให้สมาชิกในสังคมสามารถทำนายได้ว่าพฤติกรรมใดเมื่อกระทำลงไปแล้วจะได้รับการโต้กลับอย่างไร ในขณะเดียวกันหากสมาชิกในสังคมทำตามวัฒนธรรม ย่อมจะได้รับผลตอบแทนในทางที่ดี เช่น สั งคมไทยเป็นสังคมเป็นสังคมที่ให้ความเคารพผู้ใหญ่ เจอผู้ใหญ่ที่รู้จักกันก็ทำนายได้ว่าเด็กต้องแสดงความเคารพผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ที่ดีก็จะรับไหว้เด็ก หากเด็กคนใดเจอผู้ใหญ่แล้วยกมือไหว้หรือแสดงความเกรงใจผู้ใหญ่ จะได้รับการชื่นชมว่าเป็นเด็กดีมีสัมมาคารวะ พ่อแม่สั่งสอนมาดี เป็นต้น
วัฒนธรรมจะกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ในสังคม วัฒธรรมสามารถใช้อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมได้ เช่น อธิบายได้ว่าทำไมคำที่ใช้แทนตัวเองในสังคมไทยจึงมีหลายคำ เช่น กู ฉัน กระผม ฯลฯ แต่ชาติอเมริกัน มีคำเดียว คือ I ซึ่งอธิบายได้ว่า สังคมไทยมีชนชั้น แต่สังคมอเมริกันไม่มี เป็นต้น
วัฒนธรรมทำให้สังคมมีระบบ วัฒนธรรมช่วยให้สมาชิกใหม่ปรับตัวได้ ชนชาติตะวันตกเมื่อมาอยู่เมืองไทยจะต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบวัฒนธรรมไทยได้ จึงจะสามาถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เข้าใจกฎเกณฑ์ของเหตุการณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับมนุษย์ การอยู่ด้วยกันในสังคมจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์กติกา สมาชิกจึงจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เช่น การที่ชายหญิงจะอยู่กันเป็นสามีภรรยา มีกฎเกณฑ์ว่า ฝ่ายชายจะต้องสู่ขอต่อพ่อแม่ เพื่อเข้าพิธีแต่งงานกัน แต่หากมีชายหญิงคู่ใดหนีตามกันไป ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสังคม ก็จะได้รับการลงโทษทางสังคม ด้วยการติฉินนินทา ในฐานที่ทำให้พ่อแม่ขายหน้า เป็นต้น
วัฒนธรรมเป็นแหล่งของแนวทางในการแก้ปัญหาสำเร็จรูป เป็นวิธีแก้ปัญหาที่คนในสังคมต้องใช้แก้ปัญหาอยู่เสมอ เช่น ทะเลาะกับผู้ใหญ่ ก็ต้องไปขอโทษ เป็นต้น
จะเห็นว่าถ้าเราเข้าใจวัฒนธรรม จะสามารถอธิบายเหตุการณ์ต่างในสังคมได้เป็นอย่างดี
กรณีการเกิดปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ ก็เช่นเดียวกัน สามารถอธิบายได้ว่า วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของชาติตะวันตก แต่คนไทยนำมาใช้แทนวัฒนธรรมทางการเมืองแบบดั้งเดิมของไทย แต่พบว่าถึงแม้จะมีการใช้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยมาถึง 80 กว่าปีีแล้ว แต่การเมืองไทยก็ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก มีการตีความวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยไปต่างๆนานาคนละทิศคนละทางตามผลประโยชน์ส่วนตน การบริหารบ้านเมืองไทยแทนที่จะเป็นประชาธิปไตยกลายเป็นคณาธิปไตยไป จนเกิดความขัดแย้งทางการเมืองดังที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันนี้
ดังนั้น หากจะปกครองบ้านเมืองแบบประชาธิปไตยตามแบบตะวันตก จะต้องเริ่มด้วยการเข้าใจวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้ถูกต้อง ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง แล้วค่อยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยดังกล่าว การเมืองแบบประชาธิปไตยของไทยจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี
----------------------------------------------
สาระคิด
การเปลี่ยนแปลงสังคม หากเริ่มด้วยการการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
----------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น