มนุษย์ทุกคนย่อมเกิดมาในระบบวัฒนธรรม และได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ในสังคม โดยกระบวนการฝึกอบรมที่เรียกว่าการสั่งสมทางวัฒนธรรม(enculturation) และโดยวิธีนี้ วัฒนธรรมจะถูกถ่ายทอดไปสู่สมาชิกในสังคม
การทำงานเป็นพฤติกรรมทางวัฒนธรรม ที่ได้มีการฝึกอบรมและพัฒนาต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี จนมีผู้กล่าวว่า เมื่อใดที่พบว่าคนในสังคมไม่มีสมรรถภาพและไม่พอใจที่จะทำงาน เราสามารถบอกได้เลยว่า มีสาเหตุมาจากสถาบันครอบครัวและหรือ สถาบันการศึกษา แหล่งใดแหล่งหนึ่ง
บทบาทของสถาบันครอบครัว เป็นที่ยอมรับทั่วไปทั้งในหมู่นักสังคมศาสตร์และจิตวิทยาว่า สถาบันครอบครัวมีความสำคัญต่อบุคลิกภาพของคน ลักษณะต่างๆของพ่อแม่ทั้งที่ดีและไม่ดี จะมีโอกาสถ่ายทอดไปยังตัวเด็ก โดยการอบรมทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ความเชื่อและวิะีการต่างๆ ที่ใช้ในการอบรมเลี้ยงดูลูก มีความสำคัญต่อการสร้างบุคคล ให้เป็นกำลังสำคัญของสังคมมาก
ความแตกต่างในระดับการพัฒนา และระบอบการปกครองประเทศ อาจจะสืบไปได้ถึงความแตกต่าง ในวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ใช้กันอยู่ในสังคมนั้นๆ
เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่รู้จักเลี้ยงดูและอบรมเด็กอย่างถูกต้อง เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป ในทางตรงกันข้าม เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่เลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนไม่ถูกต้อง จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ดีของสังคม
ฉะนั้นการจะเสริมสร้างลักษณะประจำชาติ ให้มีลักษณะส่งเสริมการพัฒนานั้น วิธีการที่ได้ผลที่สุด จะต้องเริ่มที่วิธีการอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็ก ในการทำงานก็เช่นเดียวกัน การอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็กจะมีอิทธิพลอยู่มาก
สำหรับสังคมไทย จะเน้นพฤติกรรมของคนในวัยต่างๆไม่เหมือนกัน ในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาว จะเน้นหนักในเรื่องการเที่ยวเล่นสนุกสนาน หาความสุขจากการรื่นเริงบันเทิงต่างๆ ในวัยกลางคน จะเน้นหนักในเรื่องการทำงาน การสร้างหลักฐานให้แก่ครอบครัว การเที่ยวเพื่อความสนุกสนานจะลดน้อยลง ส่วนวัยชราจะเน้นหนักในเรื่องการทำบุญ สะสมบุญ ซึ่งเปรียบเสมือนการแสวงหาทรัพย์สินติดตัวไปใช้ในชาติหน้า
ซึ่งจะเห็นว่า ในวัยเด็ก เด็กไทยไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงาน หรือเห็นความสำคัญของการทำงานเท่าที่ควร เพราะเห็นว่าไม่ถึงวัยที่เหมาะสม
นอกจากนั้น ยังพบว่าเด็กไทยไม่ได้ถูกสอนให้พึ่งตนเองตามประสาเด็ก แต่ถูกสอนให้พึ่งผู้อื่น เพื่อความพอใจของตนเอง เด็กจะถูกสอนให้รู้จักแหล่งที่พึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่
เด็กจะถูกสอนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมว่า แม่เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง แม่เป็นผู้มีบุญคุณต่อลูก ซึ่งเป็นการเน้นการพึ่งแม่มากขึ้น เด็กกำพร้าจึงเป็นบุคคลที่น่าสงสารมาก เนื่องจากไม่มีที่พึ่ง
เด็กไทยเติบโตขึ้นมาด้วยความดีของคนอื่น ด้วยการนับถือและเชื่อฟังผู้ใหญ่ การที่เด็กเชื่อในความฉลาดและการคุ้มครองของผู้ใหญ่ เด็กจะได้รับความรักจากผู้ใหญ่ และเป็นเด็กดีตามความหมายของสังคมไทย
จากการวิจัยพบว่า ความนิยมในการพึ่งตนเองของเด็กไทยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในวัฒนธรรมที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสูง
ในสังคมไทย การฝึกอบรมให้เด็กช่วยตนเองมีบ้าง แต่เป็นการฝึกเพื่อประโยชน์ของพ่อแม่ เช่น การแบ่งเบาภาระ มากกว่าที่จะให้เด็กเห็นคุณค่าของการช่วยตัวเอง หรือมากกว่าที่จะเป็นการฝึกหัด เพื่อช่วยสร้างสรรค์ลักษณะบุคลิกภาพที่ดีงามแก่เด็ก
ยังพบต่อไปว่า แม่ไทยมักจะปกป้องเด็กมากเกินไป ถ้าหากแม่ไทยมองเห็นคุณค่าของความอิสระของลูกมากขึ้น และเปิดโอกาสให้เด็กรู้จักช่วยตัวเองมากขึ้น ก็คาดหวังได้ว่า เด็กจะพัฒนาบุคลิกภาพที่มีความกล้าเสี่ยง กล้าเผชิญ และกล้าที่จะแสดงตัวมากกว่าเดิม
บางคร้ังพ่อแม่ยังสร้างค่านิยมผิดๆให้เกิดขึ้นกับเด็ก เช่น ถ้าลูกไปโรงเรียนแล้วกลับมาบ้าน จะไม่ยอมให้ทำงานอื่น เพื่อให้เด็กได้พักผ่อน ทำให้เด็กคิดว่าเด็กมีหน้าที่เรียนอย่างเดียว ยังไม่ถึงวัยที่ต้องทำงาน
บทบาทของสถาบันการศึกษา การใช้ระบบการศึกษาเพื่อการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานเพื่อการผลิต เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต โดยพัฒนาคุณภาพของแต่ละคนให้เจริญเต็มที่ มีความสมารถในการผลิต
ในประเทศที่ต้องการเปลี่ยนแปลงจะต้องยอมรับว่า การศึกษาและการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และควรเริ่มตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย
จริงอยู่ ความรู้ ทักษะ และสมรรถภาพในการทำงานของมนุษย์ สามารถพัฒนาได้หลายทาง แต่ที่เด่นที่สุด ก็คือ การพัฒนาโดยอาศัยการศึกษาในระบบ โดยเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา การศึกษาจะสร้างค่านิยม ที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อการทำงาน
สำหรับการศึกษาไทย มีสภาพไม่แตกต่างจากการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ระบบการศึกษาไทยไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ไม่สัมพันธ์กับความต้องการอันจำเป็นของท้องถิ่นและตลาดแรงงาน อีกทั้งหลักสูตรในระดับต่างๆก้ไม่จบในตัวเอง ทำให้ต้องเรียนต่อในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้คนจำนวนมากละทิ้งท้องถิ่นและอาชีพเดิมเพื่อแสวงหาความก้าวหน้าในสังคมอื่น
ระบบการศึกษาไทย ทำให้ดูเหมือนว่ามีการแยกเรื่องวิชาการและการปฏิบัติออกจากกัน ซึ่งนอกจากจะมีผลทำให้เกิดงานสองประเภทในสังคม คืองานใช้สมองและงานที่ใช้แรงงานแล้ว ยังเป็นผลทำให้เกิดความคิดว่า ผู้ทำงานประเภทแรกเป็นบุคคลชั้นสูง และประเภทหลังเป็นบุคคลชั้นต่ำ
การเน้นเนื้อหาหนักในด้านวิชาสามัญ ทำให้เด็กมุ่งเรียนสูงขึ้น เพราะไม่สามารถประกอบอาชีพได้เมื่อสำเร็จการศึกษา
โรงเรียนมัธยมศึกษาสายสามัญของไทย จัดอยู่ในรูปแบบเพื่อการจำ โรงเรียนแบบนี้จะเน้นหนักไปในทางศึกษาความดีที่มีมาในอดีต ซึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีค่าควรแก่การเรียนรู้ กิจกรรมในโรงเรียน คือการจำแบบนกแก้วนกขุนทอง นักเรียนมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ ฟัง สังเกต อ่าน ท่อง และ เขียน กิจกรรมของครูคือบรรยาย อบรมความประพฤติ และให้งานนักเรียนทำ โดยนักเรียนจะทำกิจกรรมเหมือนๆกัน
การปฏิบัตตามที่เป็นอยู่จริงในชีวิตในระบบการสอนมีอัตราส่วนที่น้อยมาก เด็กไทยจึงไม่อาจทำงานใดๆได้ เมื่อจบขั้นตอนของการศึกษาแต่ละระดับ
การวัดผลการเรียนมิได้วัดผลของการพัฒนา แต่เป็นการวัดผลเพื่อหาคำตอบว่าได้หรือตก การแก้ปัญหาและวิธีแก้ปัญหาได้อาศัยแต่เพียงคำพูด
ในที่สุดการศึกษาเล่าเรียน จึงกลายเป็นกระบวนการท่องจำ และแสดงความคิดเห็นจากการท่องจำเท่านั้น
ในการบริหารหลักสูตร พบว่า ปัญหาที่มีมากที่สุดอันดับหนึ่ง คือการไม่สามารถจัดบริหารตามหลักสูตรได้เต็มที่ เพราะมีปัญหาต่างๆ เช่น ครู อุปกรณ์ และสถานที่ เป็นต้น โรงเรียนไม่สามารถปลูกฝังนิสัยหนักเอาเบาสู้ ไม่รังเกียจงานหนักให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้ นักเรียนยังรังเกียจงานที่ทำด้วยมือหลายอย่าง เช่น การล้างคอกสัตว์ การให้อาหารสัตว์ ฯลฯ
จากการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบอาชีพอิสระยังพบว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระมีระดับการศึกษาเพียงระดับชั้นประถมศึกษา ส่วนกลุ่มผู้ว่างงานเป็นผู้มีการศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป และมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระมีผู้ที่ไม่ได้เรียนในระบบโรงเรียนถึงร้อยละ 10 แต่ในกลุ่มผู้ว่างงานกลับไม่มีเลย
------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก: ไพศาล ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
--------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
การอบรมเลี้ยงดูเด็กไทย มีหลักต้องปฏิบัติ 3 ประการ คือ ทำทุกสิ่งทุกอย่างแทนเด็กโดยเฉพาะเด็กผู้ชาย คุ้มครองไม่ให้เด็กเกิดอันตราย และให้ความสนุกสนานแก่เด็ก
Henry M. Graham
******************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น