ความทันสมัยในที่นี้ไม่ได้มีความหมายแค่ การพูดภาษาอังกฤษคำไทย มีชื่อรายการโทรทัศน์เป็นภาษาอังกฤษ หรือมีมือถือรุ่นล่าสุดใช้ ซึ่งความทันสมัยในลักษณะนี้อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการพัฒนา มากกว่าที่จะทำให้การพัฒนาดำเนินไปได้ เป็นความทันสมัยที่ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ
ความทันสมัยในที่นี้ เป็นความทันสมัยที่เกิดจากความสัมพันธ์ของตัวแปร 5 ชุด ซึ่งได้แก่ สถาบันทันสมัย ค่านิยมทันสมัย พฤติกรรมทันสมัย สังคมทันสมัย และการพัฒนาเศรษฐกิจ
ทฤษฏีการพัฒนาที่อธิบายในเรื่องนี้คือ ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย(The Modernization Theory ) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่นักสังคมวิทยา นักจิตวิทยา นักรัฐศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ใช้อยู่ โดยเชื่อว่า การพัฒนาเป็นกระบวนการสร้างความทันสมัย แต่สังคมดั้งเดิมไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ นักทฤษฎีกลุ่มนี้ที่สำคัญมี David McClelland และ Alex Inkeles เป็นต้น
นักทฤษฎีการทำให้ทันสมัย มีความเห็นว่า
1. การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมมีทัศนคติและค่านิยมที่ทันสมัย มีความเชื่อเกี่ยวกับความดีของการทำงาน ตลอดจนมีความสามารถและความปรารถนาที่จะควบคุมสิ่งแวดล้อม
2. สถาบันทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางเศรษฐกิจ มีส่วนสำคัญในการสร้างค่านิยมที่ทันสมัย
3. โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมตลอดจนการเมืองดั้งเดิมในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ยุทธวิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพหมดโอกาส
4. ประเทศที่ยากจนหรือด้อยพัฒนา เกิดจากขาดแคลนทุนเพื่อการลงทุน คนไม่มีค่านิยมของการเป็นผู้ประกอบการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนขาดทักษะที่จะใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ
นักทฤษฎีกลุ่มนี้เชื่อว่า ความทันสมัยดังต่อไปนี้ จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน จะขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะแต่ละด้านมีความสัมพันธ์และส่งผลซึ่งกันและกัน ได้แก่
1. ความทันสมัยทางเศรษฐกิจ หมายถึง ความสามารถในการเพิ่มผลิตภัณฑ์ประชาชาติมวลรวม การพัฒนาสังคมเมือง และการกระจายความเจริญสู่ชนบท ตลอดจนการลงทุนใหม่ๆ ทั้งในด้านสาธารณูปโภคและกิจกรรมเพื่อการผลิตโดยตรง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม ผลที่ตามมาทำให้มีประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น เกิดความทันสมัย
2. ความทันสมัยทางสติปัญญา เป็นการพัฒนาและใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ มาปรับใช้กับชีวิตมนุษย์ทุกๆด้าน ตลอดจนพัฒนาสติปัญญาและความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมให้กว้างไกลและทันสมัย
3. ความทันสมัยทางสังคม คนในสังคมมีการเปลี่ยนค่านิยม มีบุคลิกภาพที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างดี ชายหญิงมีความเท่าเทียมกันท้ังในแง่กฎหมายและพฤติกรรมทางสังคม
4. ความทันสมัยทางการเมือง มีการใช้อำนาจทางการเมืองอย่างมีเหตุผล และเหมาะสม ตลอดจนการมีส่วนร่วมทางการเมืองครอบคลุมทุกกลุ่มและทุกระดับมากขึ้น
หากความทันสมัยทั้ง 4 ด้าน เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน จะก่อให้เกิดปัญหาและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะแต่ละด้านมีความสัมพันธ์และส่งผลซึ่งกันและกันดังกล่าวแล้ว
จะเห็นว่า ในการพัฒนาประเทศ จะต้องเริ่มต้นด้วยการให้สถาบันทางสังคมสร้างความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ และแรงจูงใจที่ทันสมัยให้เกิดขึ้นในสังคม หากสามารถทำได้สำเร็จ การจะนำความทันสมัยไปสู่การพัฒนาประเทศก็เป็นไปได้ไม่ยาก และแน่นอนว่าความทันสมัยที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศจะต้องมีความสมดุล เพราะหากไม่มีความสมดุลก็จะมีปัญหาตามมา และการพัฒนาประเทศก็จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
-------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
Knowing is not enough we must apply. Willing is not enough we must do.
Goethe
*****************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น