ความเชื่อเรื่องการพัฒนาทรัยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศ เป็นความเชื่อที่มีการปฏิบัติตามอย่างกว้างขวาง เป็นยุทธวิธีในการพัฒนาประเทศที่สำคัญ ทั้งนี้เพราะทรัพยากรมนุษย์มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม
มนุษย์เป็นแหล่งสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าทางสังคม เป็นกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่การพัฒนาทรัพยากรอื่นๆ เพราะมนุษย์เป็นผู้ผลิต ผู้สะสมทุน ผู้กระทำ ผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเป็นผู้สร้างองค์กรทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ด้วยเหตุนี้ ทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นดัชนีที่แท้จริง ที่บอกให้ทราบถึงภาวะของการพัฒนา หรือภาวะความทันสมัย มากกว่าที่จะวัดโดยใช้ดัชนีอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว
ในประเทศด้อยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการด้อยพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ล้วนเกิดจากทรัพยากรมนุษย์ที่ด้อยคุณภาพทั้งสิ้น มีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ที่มั่งคั่งด้วยน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ มีเงินทุนอย่างมหาศาล แต่ก็ไม่สามารถใช้ทุนและทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดปัญหามากมาย ต้องเสียเปรียบดุลการค้า มีการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม สังคมมีความวุ่นวาย ฯลฯ
ในทางตรงกันข้าม หากดูประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบว่าประชาชนส่วนมากมีสมรรถภาพในการดำรงชีวิตสูง เป็นประชาชนที่มีทัศนคติไม่ล้าหลัง มีความรู้ความชำนาญในการทำงาน มีเหตุผล ไม่เชื่องมงาย มีค่านิยมที่เหมาะกับการพัฒนา เช่น นิยมการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทำงานหนัก ประหยัด และมุ่งประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น ผลก็คือ ประเทศมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าไปมาก
ที่เป็นเช่นนี้เพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยที่อยู่นิ่ง ถ้าไม่มีผู้ใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์ ส่วนมนุษย์เป็นผู้กระทำ เป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา
ในทางเศรษฐศาสตร์ มนุษย์เป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษบกิจ ในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้สร้างอุปสงค์ หรือความต้องการสินค้า และบริการที่ระบบเศรษฐกิจสามารถผลิตได้ และความต้องการอันไม่จำกัดของมนุษย์นี่เอง ที่เป็นแรงผลักดันอันสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องหาทางตอบสนองให้เพียงพอ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลผลิตโดยรวมสูงที่สุด
หากพิจารณาถึงการผลิตในระบบเศรษฐกิจ จะพบว่าปัจจัยผลิตทั้งสี่ประการ คือที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการ มีมนุษย์เป็นองค์ประกอบของปัจจัยการผลิตที่สำคัญ คือเป็นทั้งแรงงาน และผู้ประกอบการ
สำหรับแรงงาน มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรง พบว่าประสิทธิภาพในการผลิตของมนุษย์ มีค่ามากกว่าประสิทธิภาพในการผลิตของปัจจัยอื่นรวมกัน
คุณภาพกำลังคนจึงมีผลโดยตรงต่อการผลิตของระบบเศรษฐกิจ การปรับปรุงคุณภาพของมนุษย์ให้ดีขึ้น จึงมีความจำเป็นเท่ากับหรือมากกว่าการลงทุนทางกายภาพ
ทั้งนี้เพราะประสิทธิภาพของการใช้ทุนทางกายภาพขึ้นอยู่กับทุนมนุษย์ หากมีการลงทุนทางด้านทุนมนุษย์น้อย อัตราการเพิ่มทุนทางกายภาพจะถูกจำกัด เพราะขาดความรู้เกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เทคนิคการผลิต ทักษะที่จำเป็น เงื่อนไขและโอกาสของตลาด ตลอดจนขาดสถาบันที่เอื้อต่อความพยายามทางเศรษฐกิจ
ด้วยเหตุนี้ ในประเทศกำลังพัฒนาจึงมีความสามารถที่จะรับทุนทางกายภาพอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้เพราะความสามารถของมนุษย์ในประเทศกำลังพัฒนาตามไม่ทันกับความก้าวหน้าของการสะสมทุนทางกายภาพ
หากจะพิจารณาในแง่อุปทานปัจจัยการผลิตของระบบเศรษฐกิจ มนุษย์ก็เป็นอุปทานปัจจัยการผลิตของระบบเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตอื่นๆ จึงกล่าวได้ว่า มนุษย์มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน
ด้วยเหตุนี้ ในการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ทำการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม หากทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้รับการพัฒนา โอกาสที่จะพัฒนาประเทศก็จะเป็นไปได้ยาก
--------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
ประเทศด้อยพัฒนา เพราะคนในประเทศด้อยพัฒนา
*****************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น