รูปแบบการพัฒนาที่นิยมกันหลังปี ค.ศ. 1980 คือยุทธวิธีการพัฒนาที่มุ่งการพัฒนามวลชนโดยตรง มุ่งการปรับสภาพการดำรงชีวิตของบุคคลที่มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ
เป็นยุทธวิธีการพัฒนาที่ไม่เพียงแต่มุ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพียงประการเดียว แต่ยังมุ่งถึงการใช้ทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย ซึ่งรูปแบบการพัฒนาใหม่นี้ มีผลให้มีการปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้น
ทั้งนี้เพราะ ระบบการศึกษาที่จัดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนานั้น ไม่สอดคล้องกับความต้องการเชิงพัฒนา เป็นการศึกษาที่ไม่ได้ส่งเสริมความรู้ ทักษะ และ ค่านิยมที่ช่วยให้นักเรียนสามารถทำงานเพื่อการผลิตในสังคมที่นักเรียนอาศัยอยู่ มีผลทำให้ผู้จบการศึกษาต้องไปทำงานที่อื่น
โรงเรียนไม่ได้สอนให้เขามีทักษะที่จำเป็น ต่อการที่จะช่วยให้เขามีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เขามีชีวิตอยู่ ในทางตรงกันข้ามเป็นการสอนให้เรียนเพื่อไต่บันไดการศึกษาให้สูงขึ้น เป็นการเรียนประถมศึกษาเพื่อมัธยมศึกษา และเรียนมัธยมศึกษาเพื่อมหาวิทยาลัย
การเรียนการสอน ใช้วิธีแบบท่องจำ ขยันเพื่อสอบ ทำให้เกิด"โรคประกาศนียบัตร"(disease diploma) เป็นการเรียนที่ทั้งพ่อแม่และนักเรียนไม่สนใจที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียน คุณค่าของเนื้อหาหลักสูตรอยู่ที่การช่วยให้นักเรียนสามารถสอบได้ เพื่อไต่บันไดการศึกษาให้สูงขึ้น
สำหรับการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามวลชน สามารถทำได้ในลักษณะต่อไปนี้
1. จัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน เป็นการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่าคนมีการศึกษานั้นมีประโยชน์ต่อการพัฒนา
จากการศึกษาพบว่า ประชากรที่มีการศึกษาจะแสดงความตั้งใจ และสามารถที่จะเข้าร่วมกิจกรรมการตัดสินใจทางการเมือง และมีความพยายามที่จะพัฒนาชุมชน
การศึกษาจะช่วยเพิ่มและส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักทดลองนำความคิดใหม่ๆไปปฏิบัติ เช่น การปฏิบัติตนเกี่ยวกับสุขภาพ การวางแผนครอบครัว การทดลองใช้พืชพันธุ์ใหม่ๆ และเทคนิคการเกษตรแบบใหม่ ฯลฯ
ขณะเดียวกันการศึกษาพื้นฐานเพื่อมวลชน ยังสนับสนุนให้ระบบการศึกษามุ่งไปสู่การเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ เป็นการศึกษาที่ไม่เพียงให้รู้หนังสือ แต่ช่วยให้มีทักษะเพิ่มขึ้น อันจะช่วยให้สามารถปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้นด้วย
2. การปฏิรูปหลักสูตร ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อประชากรทั้งมวล จำเป็นจะต้องปรับทิศทางโปรแกรมการศึกษา ให้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองความต้องการของสังคม คือ การทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐานมีประโยชน์ในตัวมันเองมากขึ้น ไม่ใช่เป็นการศึกษาเพื่อการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว
ในเรื่องของการเรียนการสอน จะต้องให้นักเรียนมีบทบาทในการเรียน โดยเลิกวิธีการแบบดั้งเดิม ซึ่งใช้วิธีท่องจำเป็นหลัก มีการเพิ่มเนื้อหาที่สนองความต้องการของนักเรียนเข้าไปในหลักสูตร โดยหลักสูตรใหม่จะต้องตั้งอยู่บนประสบการณ์ของชีวิตให้มากที่สุด มีเนื้อหาทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่ผู้เรียนมีชีวิตอยู่
การสร้างหลักสูตร ควรมีการกระจายอำนาจ เพื่อให้สามารถบรรจุเนื้อหาสาระในท้องถิ่นเพิ่มเข้าไปในหลักสูตร อันจะช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในสภาพแวดล้อมมากขึ้น ช่วยให้นักเรียนเข้าใจวัฒนธรรม ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับ พืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบตัวเขา
นอกจากนั้น จะต้องสร้างให้นักเรียนมีทักษะพื้นฐาน มีความเข้าใจสภาวะแวดล้อมและวัฒนธรรม สอนให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะในสาขาวิชาที่ช่วยให้เขาสามารถปรับปรุงคุณภาพของชีวิตและชุมชนให้ดีขึ้น โดยเน้นให้รู้จักปรับปรุงสุขภาพ โภชนาการ การปฏิบัติงานเกษตร และทักษะอื่นๆที่จำเป็นต่อการปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น
การสอนควรมุ่งเพื่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น วิธีปฏิบัติแบบใหม่ๆ พืชพันธุ์ใหม่ๆ และวิธีปลูกแบบใหม่ๆ มากกว่าที่จะมุ่งฝึกการผลิตแบบเดิมๆโดยใช้พันธุ์พืชที่อยู่ในชุมชนนั้น
จะเห็นว่า การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนมวลชนนั้น นอกจากจะมีจุดมุุ่งหมายเพื่อความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาแล้ว ยังมุ่งที่จะจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ความรู้ และทักษะเพื่อใช้ชีวิตในชุมนที่ตนอาศัยอยู่ได้อย่างมีคุณภาพตลอดจนมีความรู้ใหม่ๆไปใช้เพื่อการพัฒนาตนเอง และชุมชนที่อาศัยอยู่อีกด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
การศึกษายิ่งมากยิ่งดี
แต่การจัดการศึกษาแบบผิดๆ จะเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์
*****************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น