วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

ความรู้เรื่องวัฒนธรรม

วัฒนธรรมคืออะไร

เมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรม คนไทยส่วนใหญ่จะหมายถึง ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญ ความถูกต้องดีงาม จนบางครั้งถึงกับกล่าวว่า ใครก็ตามคนที่กระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องดีงาม เป็นคนไม่มีวัฒนธรรม

ความจริงแล้ว คำว่า วัฒนธรรม หรือ Culture มีความหมายและความคิดรวบยอดแตกต่างกันออกไปมากมาย มีมากกว่า 167 ความหมาย และไม่ปรากฎว่ามีความหมายใดที่เหมือนกันทุกประการ วัฒนธรรมจึงมีความหมายไม่แน่นอน มีการใช้คำว่า วัฒนธรรมในความหมายที่แตกต่างกันออกไป

เนื่องจากคำว่าวัฒนธรรมมีความหมายที่แตกต่างกันออกไปมากมายดังกล่าวแล้ว ถ้าเอาความหมายเหล่านั้นมารวมไว้ด้วยกัน จะได้เล่มสมุดใหญ่ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่มีความหมายใดที่ชัดเจน

วัฒนธรรมเป็นคำที่ Tylor ใช้เป็นคนแรกในปี ค.ศ. 1871 โดยให้ความหมายว่า "วัฒนธรรมคือ สิ่งทั้งหมดที่มีลักษณะซับซ้อน ซึ่งได้รวมเอาความรู้ ความเชื่อ จริยธรรม กฎหมาย ขนบธรรมเนียม สมรรถภาพ และนิสัย ที่บุคคลได้ไว้ในฐานะที่เป็นสมาชิกในสังคม"  เป็นความหมายแรก ที่คนทั่วไปยอมรับกันมาก แต่ในทางปฏิบัติมักจะตีความหมายไปคนละทางสองทาง  ปัจจุบันความหมายของคำว่าวัฒนธรรมจึงมีมากมาย และมักจะให้ความหมายในลักษณะกว้างๆ โดยไม่บ่งว่าวัฒนธรรมประกอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม ความหมายคำว่าวัฒนธรรมต่อไปนี้ เป็นความหมายที่นิยมนำมาอ้างอิงเมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรม เป็นความหมายที่ช่วยให้เข้าใจคำว่าวัฒนธรรมได้ชัดเจนมากขึ้น

วัฒนธรรม หมายถึง วิถึชีวิตของสังคมโดยรวม วัฒนธรรมไม่ได้หมายถึงเฉพาะสิ่งที่สังคมยอมรับว่าสูงหรือเป็นที่พึงปรารถนา วัฒนธรรม หมายถึง กิจกรรมของมนุษย์ทั้งมวลที่อยู่ในสังคมนั้น แม้แต่การล้างจาน และการขับรถยนต์ ก็จัดรวมอยู่ในวัฒนธรรม (Linton.1945)

วัฒนธรรม คือ พฤติกรรมที่เกิดจาการเรียนรู้ อันเป็นพฤติกรรมที่ทำกันทั่วไปในหมู่คนกลุ่มหนึ่ง พฤติกรรมเหล่านั้นเป็นพฤติกรรมที่คนรุ่นเก่าถ่ายทอดไปยังลูกหลาน (Kluckhohn.1966)

วัฒนธรรม หมายถึง แบบแผนการดำเนินชีวิตของกลุ่ม ซึ่งสมาชิกเรียนรู้รับถ่ายทอดกัน โดยการสั่งสอนอบรมทั้งทางตรงและทางอ้อม (พัทยา สายหู.2514)

วัฒนธรรม หมายถึง พฤติกรรมทั้งมวลของมนุษย์ อันเกิดจากการเรียนรู้ และพฤติกรรมนั้นถูกกำหนดจากประเพณี (Herskovits.1952)

วัฒนธรรม เป็นลักษณะของพฤติกรรมทั้งมวลที่เกิดจาการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ปรากฎออกมาและสมาชิกในสังคมใช้ร่วมกัน (Hoebel.1956)

วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง เป็นลักษณะรวมของพฤติกรรม และพฤติกรรมเหล่านั้นเกิดจากการเรียนรู้ และมีการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง  (Barnouw.1964)

จากความหมายของคำว่าวัฒณธรรมที่กล่าวมา สรุปได้ว่า วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตหรือพฤติกรรมทั้งมวล ที่เกิดจาการเรียนรู้ จากการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีรุ่นหนึ่ง ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม


พฤติกรรมทางวัฒนธรรมเป็นอย่างไร

พฤติกรรมในความหมายทางวัฒนธรรม จึงเป็นพฤติกรรมทั้งหมดของแต่ละบุคคล ไม่ว่าพฤติกรรมนั้นจะเป็นพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้หรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าจะเป็นเป็นพฤติกรรมทางกายภาพหรือพฤติกรรมทางจิตใจ

พฤติกรรมทางวัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่การกระทำง่ายๆ เช่น การกินอาหารด้วยส้อม หรือด้วยตะเกียบ  ท่านั่ง นอน ยืน เดิน ฯลฯ ซึ่งกระทำเป็นประจำวัน ไปจนถึงการกระทำที่เป็นเรื่องใหญ่โต มีพิธีรีตอง นานทีปีหน ระดับชาติหรือระดับประเทศ เช่น พิธีบรมราชาภิเษกฯลฯ

นั่นคือ การกระทำของมนุษย์ในเรื่องต่างๆ ถ้าไม่ใช่เป็นการกระทำทางกายภาพชีวภาพแท้ๆ เช่น กระพริบตา สะอึก จาม ฯลฯ ก็จะเป็นการกระทำทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น 

วัฒนธรรมจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์อย่างไร

วัฒนธรรม เป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่สมาชิกในสังคมยอมรับ มีการถ่ายทอด และเกิดการเรียนรู้ดังกล่าวแล้ว วัฒนธรรมจึงมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม

วัฒนธรรมจะแนะแนวทางอันจำเป็น แก่สมาชิกของสังคมในทุกเรื่องของชีวิต เป็นตัวกำหนดแบบแผนพฤติกรรม  ตลอดจนแนวความคิดต่างๆ  คนที่เกิดมาและเติบโตในวัฒนธรรมใด จะมีชีวิตจิตใจ นิสัย  และพฤติกรรมต่างๆ      จะเป็นไปตามคำบงการของวัฒนธรรมแห่งสังคมนั้น

วัฒนธรรมทำให้เกิดและกำหนดแนวทางพฤติกรรม ถ้าขาดวัฒนธรรม สมาชิกในสังคมจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบุคคลจะได้รับผลตอบแทนในทางที่ดี ถ้าสมาชิกในสังคมทำตามวัฒนธรรม

วัฒนธรรมมีอิทธิพลเหนือระบบการจูงใจของแต่ละบุคคล วัฒนธรรมเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่บุคคลจะต้องเรียนรู้ เพื่อประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่สังคมยอมรับ วัฒนธรรมมีอิทธิพล และสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ของบุคคลที่อยู่ในวัฒนธรรมนั้น

วัฒนธรรม ทำให้ความรู้สึกของบุคคลในสังคมไม่มีลักษณะที่เป็นกลาง แต่จะจำแนกปรากฏการณ์ต่างๆในรูป ดี เลว ต้องการ ไม่ต้องการ ถูก หรือผิด  การมีวัฒนธรรมต่างกัน ทำให้คนมีวิธีการในการแก้ปัญหาต่างกัน

นั่นคือ วัฒนธรรมมีอิทธิพลต่อกระบวน ความรู้ ความคิด และบุคลิกภาพของคนในสังคม จนยากที่แยกออกว่า พฤติกรรมใดเป็นไปตามธรรมชาติ หรือเป็นพฤติกรรมที่เป็นไปตามบงการของวัฒนธรรม เพราะแม้แต่ การสนองความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์ อาทิ การกิน นอน พักผ่อน ฯลฯ มนุษย์ก็มิได้ทำไปตามธรรมชาติแบบสัตว์อื่นๆ หากแต่ได้ใช้วิธีการทุกอย่างซึ่งตนได้เรียนรู้จากวัฒนธรรมของตน ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากวิธีการ ของคนในวัฒนธรรมอื่น แม้แต่ในเรื่องเดียวกัน

จะเห็นว่า วัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตของคนในสังคม ที่ได้จาการเรียนรู้ จากการถ่ายทอดจากบุคคลรุ่นก่อน และมีความสำคัญต่อมนุษย์ในทุกมิติของชีวิต ทุกมิติของสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จนสามารถใช้วัฒนธรรมในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม หรือ ในปรเทศนั้นๆ ได้โดยไม่ผิดพลาด การเข้าใจถึงวัฒนธรรม จะช่วยให้เข้าใจถึงพฤติกรรมของบุคคล
-------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                         สาระคิด

วัฒนธรรมนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะวัฒนธรรมเกิดจาการเรียนรู้ แต่การนำวัฒนธรรมจากสังคมอื่นมาใช้ ไม่รู้จักปรับแต่งใ้ห้เข้ากับความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมของคนในสังคม จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย

*****************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น