วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560

ลักษณะทางวัฒนธรรมของประเทศด้อยพัฒนา

วัฒนธรรมนั้นมีอิทธิพลต่อการพัฒนา เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมให้เป็นไปได้ทั้งในลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ดังนั้นการพัฒนาจะได้ผลมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม

ประเทศด้อยพัฒนา เพราะะมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการพัฒนา และมีบางประเทศที่ลักษณะทางวัฒนธรรมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

ลักษณะด้อยพัฒนา เกิดจากวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม เป็นตัวกำหนดปทัสถานบางอย่าง โดยผ่านกระบวนการสร้างสมทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสมกับลักษณะะทางเศรษฐกิจ และความต้องการทางเทคโนโลยีของสังคมอุตสาหกรรมและสังคมสารสนเทศในปัจจุบัน

ความล้มเหลวของการพัฒนาในโลกที่สาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในเอเซียใต้ และเอเซียอาคเนย์ เกิดจากการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเพณี หรือมีประเพณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบได้ เป็นประเพณีซึ่งประกอบด้วยศาสนา ค่านิยม และโครงสร้างทางสังคมที่ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของคน และการใช้ประเพณีต่างๆเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ก่อให้เกิดปัญหาในการพัฒนาประเทศ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้การพัฒนาไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

ประเทศแถบเอเซียใต้และเอเซียอาคเนย์ มีค่านิยมที่ขัดแย้งกับเป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือการยกระดับการดำเนินชีวิตให้สูงขึ้น มีค่านิยมที่เน้นคุณค่าทางจิตใจมากว่าคุณค่าทางวัตถุ เน้นความสำคัญของชีวิตหลังจากที่ตายไปหรือชีวิตในชาติหน้า มีการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต เช่น สะสมเพชรนิลจินดาต่างๆ และใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อการเฉลิมฉลองในโอกาสต่างๆแทนที่จะทำงาน

นอกจากนั้น ยังพบว่าในสังคมด้อยพัฒนา มีอัตราที่จะเอาชนะธรรมชาติและเงื่อนไขทางสังคมต่ำมาก คนส่วนมากเชื่อว่า ความแห้งแล้ง หรือน้ำท่วมเป็นการกระทำของพระเจ้า หรือของวิญญาณที่โกรธแค้น ที่มนุษย์จะต้องยอมรับและไม่สามารถควบคุมได้

ลักษณะการรักสันติสุข และไม่นิยมความรุนแรง การเชื่อฟังอำนาจ และการหาความสงบสุขทางจิตใจ ทำให้คนในสังคมไม่คิดจะศึกษาค้นคว้าหาความเร้นลับของธรรมชาติและเอาชนะธรรมชาติ ไม่ทำให้คนในสังคมชอบการผจญภัยและการต่อสู้แข่งขัน

คนส่วนใหญ่มักจะมีความเชื่อว่า ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่มีความสงบสุขท่ามกลางญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ส่วนการมีระเบียบวินัยและการทำงานหนักมีความสำคัญรองลงไป

ในสังคมสังคมด้อยพัฒนา จะมีลักษณะทางวัฒนธรรมต่อไปนี้เป็นลักษณะสำคัญ ได้แก่ การคิดแต่จะหาความสุขในปัจจุบัน ไม่รู้จักคุณค่าของเวลา ขาดระเบียบในการทำงาน ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อพิธีกรรม หรือรายจ่ายอื่นที่ไม่เอื้อต่อเศรษฐกิจ ไม่รู้จักหน้าที่ ตลอดจนไม่ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

วัฒนธรรมในประเทศด้อยพัฒนาส่วนมาก จึงไม่ช่วยส่งเสริมสร้างลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนา ประเทศที่มีวัฒนธรรมในลักษณะดังกล่าวได้แก่ ประเทศในทวีปอาฟริกา เอเซียใต้ เอเซียอาคเนย์ ทวีปอเมริกาใต้

ดังนั้น การพัฒนาจะสำเร็จได้ บุคคลในประเทศด้อยพัฒนา จะต้องมีการกระทำที่เปลี่ยนไปจากนิสัยและการปฏิบัติที่เคยทำอยู่เป็นประจำ  ถ้ารับความคิดการพัฒนา แต่ไม่ยอมรับการกระทำที่ต้องกระทำเพื่อการพัฒนา ก็เท่ากับปฏิเสธการพัฒนา การพัฒนาประเทศ ประชาชนจะต้องเปลี่ยนแบบแผนการดำเนิชีวิตเสียใหม่ จะต้องยอมรับค่านิยม ทัศนคติ และนิสัยในการทำงานใหม่  เป็นค่านิยมที่ช่วยให้บุคคลตระหนักถึงความสำคัญของการทำงาน อย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิภาพ

นั่นคือ ถ้าต้องการจะพัฒนาประเทศ จะต้องเริ่มด้วยการพัฒนาวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง ที่กำหนดแบบแผนของพฤติกรรมของบุคคลในสังคมนั้นๆ ให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนา หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                          สาระคิด

                    การมีวัฒนธรรมต่างกัน ทำให้มีวิธีการในการแก้ปัญหาต่างกัน

                                                                      Robert  L. Mole
*****************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น