นักการศึกษาและนักปรัชญาแต่ละท่าน นับตั้งแต่โสเครตีส(Socrates)จนถึงปัจุจบัน ได้ให้ความหมายการศึกษาแตกต่างออกไปตามปรัชญาชีวิตของคนเหล่านั้น ผลก็คือ ทำให้ความคิดรวบยอดและความหมายของการศึกษามีความหลากหลาย
มีบางคนมองว่า การศึกษานั้นเปรียบเหมือนเพชรที่เจียรนัยแล้ว ซึ่งจะมีสีต่างกันเมื่อมองจากมุมที่แตกต่างกัน
หรือบางคนเปรียบเทียบว่าเหมือนคนตาบอดคลำช้าง คลำไปเจอส่วนไหนก็อธิบายบอกเล่า ให้ความหมายกับลักษณะที่ตนได้คลำเจอมา
พูดง่ายๆ ทุกคนไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์ พระภิกษุ นักปรัชญา นักจิตวิทยา รัฐบุรุษ ครูอาจารย์ คนดูแลร้าน พ่อค้า และศิลปิน ต่างก็มีความหมายของการศึกษาเป็นของตนเอง เป็นความหมายที่ได้มาจากทัศนะอันเกี่ยวเนื่องกับชีวิตตนเองและจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในแวดวงที่จำกัด
ตัวอย่างต่อไปนี้ แสดงถึง ความแตกต่างของทัศนะที่มีต่อความหมายของการศึกษา ของบุคคลผู้มีอาชีพและประสบการณ์ต่างกัน กล่าวคือ
จอห์น ดิวอี้(John Dewey) นักการศึกษาชาวอเมริกัน ได้ให้ความหมายของการศึกษาไว้ดังนี้
การศึกษา คือชีวิต เป็นการมองว่าการศึกษากับชีวิตเป็นของคู่กัน ตราบใดที่มีชีวิตอยู่ตราบนั้นจะต้องมีการศึกษา
การศึกษา คือความเจริญงอกงาม เป็นการมองการศึกษาในแง่ของผลที่ได้รับ คนที่มีการศึกษาย่อมมีความเจริญเติบโตทั้งทาง ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
การศึกษา คือการสร้างเสริมประสบการณ์ให้แก่ชีวิต หมายถึง การศึกษาจะต้องจัดกิจกรรม เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่จะนำไปสู่การมีชีวิตที่ดี
การศึกษา เป็นกระบวนการทางสังคม ที่ช่วยให่บุคคลเข้าใจตนเองและสังคมที่ตนอาศัยอยู่ เป็นความเข้าใจชีวิตและสังคมในปัจจุบัน ไม่ใช่เพื่อชีวิตในอนาคต
ไนเยเรเร(Nyerere) อดีตประธานาธิบดีแห่งแทนซาเนีย ซึ่งเป็นนัการเมือง ได้ให้ความหมายของการศึกษาว่า การศึกษาคือ การเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรก็ได้ ที่ช่วยให้เข้าใจสภาพแวดล้อมที่เรามีชีวิตอยู่ การเรียนรู้วิธีการที่ช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนและใช้สภาวะแวดล้อมเพื่อปรับปรุงตัวเราเอง การศึกษาจะต้องกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในพลเมืองแต่ละคน 3 ประการ คือ มีจิตใจที่อยากรู้อยากเห็น มีความสามารถที่จะเรียนรู้จากคนอื่น และเป็นสมาชิกที่เท่าเทียมกันของสังคม
ชูลทซ์(Schultz) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้ให้ความหมายของการศึกษาว่า การศึกษาคือ กิจกรรมการการเรียนการสอนและการเรียนรู้ ที่ทำให้เกิดความสามารถที่มีประโยชน์ สำหรับความสามารถที่มีประโยชน์นั้น ชูลทซ์อธิบายว่า หมายถึงความสามารถที่มีคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ
ยอร์จ ดี สปินด์เลอร์(George D. Spindler) นักมานุษยวิทยา มีความเห็นว่า การศึกษาคือ กระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วยความชำนาญด้านต่างๆ ความรู้ต่างๆ ทัศนคติต่างๆ ค่านิยมต่างๆ และรูปแบบของพฤติกรรมต่างๆ หรือการศึกษาก็คือ การทำให้มนุษย์มีวัฒนธรรมนั่นเอง
นักการศึกษาไทย ดร.สาโรช บัวศรี ได้ให้ความหมายการศึกษาว่า การศึกษาคือการพัฒนาขันธ์ห้า อันประกอบด้วย รูป คือ ร่างกาย เวทนา คือ ความรู้สึก สัญญา คือความจำ สังขาร คือ ความคิด และวิญญาณ คือ ความรู้ การพัฒนาขันธ์ห้า ก็เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้ และเพื่อขจัดตัณหา อันได้แก่ โลภ โกรธ หลง
ทั้งหมดที่กล่าวมา สามารถสรุปได้ว่า สาเหตุที่ทำให้ความเข้าใจและนิยามการศึกษาแตกต่างกันนั้นเกิดจาก ธรรมชาติของบุคลิกภาพของมนุษย์มีความซับซ้อน การที่มนุษย์มีปรัชญาชีวิตที่แตกต่างกัน การมีทฤษฎีและการปฏิบัติทางการศึกษาที่แตกต่างกัน การมีค่านิยมที่แตกต่างกัน และความซับซ้อนของสภาวะแวดล้อมของมนุษย์ นั่นเอง
ฉะนั้น ความหมายของการศึกษาที่แต่ละคนให้ไว้ จึงเป็นเพียงความหมายหนึ่งเท่านั้น และเป็นการยากที่จะทำให้การศึกษามีความหมายเดียว เพราะการทำให้การศึกษามีความหมายเดียวนั้น ยากพอๆกับการหาโปรแกรมการศึกษาที่ถูกต้องและดีที่สุด
--------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
การปฏิรูปการศึกษาที่เกิดจากความคิดของผู้มีอำนาจ
ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่แท้จริง นำไปสู่ความล้มเหลว
*****************************************************************
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น