วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ทำไมการศึกษาของแต่ละประเทศจึงต้องแตกต่างกัน

ประเทศที่มองตัวเองว่าด้อยพัฒนา มักพยายามจัดการศึกษาด้วยการกำหนด รูปแบบ จุดมุ่งหมาย และระบบการศึกษา ให้เหมือนการศึกษาในประเทศพัฒนา ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประเทศพัฒนาทั้งหลาย

ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดพลาด เพราะความจริงแล้ว แต่ละประเทศมีความแตกต่างกันในหลายปัจจัย การจัดการศึกษาจะต้องจัดให้สอดคล้องกับความแตกต่างของปัจจัยเหล่านี้ในแต่ละประเทศ ซึ่งได้แก่

ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ สภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการจัดการศึกษา  เช่น การจัดการศึกษาของประเทศแถบทะเลทราย จะต้องแตกต่างไปจากประเทศที่อยู่ติดกับทะเล การศึกษาในประเทศที่มีอากาศหนาว จะต้องแตกต่างไปจากการศึกษาในประเทศที่มีฝนตกชุก เป็นต้น มิฉะนั้นมนุษย์จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในสภาพภูมิศาสตร์นั้นๆได้

ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดการจัดการศึกษาที่สำคัญ 2 ประการ ประการแรก คือ ฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี จะสามารถจัการศึกษาได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึงทุกระดับการศึกษา มีอุปกรณ์การศึกษา ครูอาจารย์ อาคารสถานที่ครบถ้วน พร้อมที่จะให้บริการการศึกษาที่ดี ส่วนประเทศที่มีฐานะยากจน ก็อาจมีปัญหาในการจัดการศึกษา โดยไม่อาจจัดการศึกษาเหมือนประเทศที่มีเศรษฐกิจดีได้ อาจจะขาดแคลนอุปกรณ์การศึกษา ครูบาอาจารย์ ไม่พร้อมที่จะให้บริการเหมือนประเทศที่มีความมั่งคั่งร่ำรวย อีกประการหนึ่ง การศึกษามีหน้าที่สำคัญในการผลิตกำลังคน เพื่อการผลิตและบริการในภาคเศรษฐกิจ  เป็นกำลังคนที่มีความรู้ และทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของประเทศนั้นๆ ประเทศที่คนส่วนส่วนใหญ่ทำการเกษตร การศึกษาก็ต้องให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ซึ่งแตกต่างจากประเทศอุตสาหกรรมที่ต้องต้องผลิตกำลังคนไปอีกรูปแบบหนึ่ง ที่แตกตต่างไปจากเศรษฐกิจการเกษตร

ปัจจัยทางศาสนา ศาสนามีอิทธิพลต่อกระบวนการศึกษามาก เพราะศาสนาเข้าใจถึงธรรมชาติของมนุษย์ ระบบการศึกษาของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ผู้นับถือศาสนาคริสต์ และของผู้นับถือศานาอิสลาม ย่อมจะต้องแตกต่างกัน ทั้งเพราะแนวทางการสอน การประพฤติปฏิบัติ เพื่อเป็นคนดีในสังคมแตกต่างกัน บางศาสนาอาจมีพระเจ้า แต่บางศาสนาอาจไม่มี

ปัจจัยทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมือง มีอิทธิพลเหนือจุดมุ่งหมายของระบบการศึกษามานานแล้ว การมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน เช่น อุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย สังคมนิยม  คอมมิวนิสต์ จะมีระบบการศึกษาที่แตกต่างกัน การศึกษามีหน้าที่ต้องถ่ายทอดอุดมการณ์ทางการเมืองของประเทศ  ทั้งนี้เพื่อความมีอุดมการณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียว และรักษาความชอบธรรมของผู้มีอำนาจทางการเมือง

ปัจจัยทางสังคม การศึกษาจะต้องสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศ เพราะสถาบันการศึกษาเป็นสังคมย่อยของสังคมในประเทศ  ระบบการศึกษาในสังคมแบบดั้งเดิมจะต้องแตกต่างจากระบบการศึกษาของสังคมสมัยใหม่    แต่หากสังคมใดประชาชนสนใจที่จะรู้หนังสือเพิ่มขึ้น จะมีผลทำให้การศึกษาทุกระดับได้รับการปรับปรุง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น

ปัจจัยทางภาษา ภาษาเป็นองค์ประกอบทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้การศึกษาเจริญเติบโต ชาติที่มีภาษาเดียวจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกว่าชาติที่มีหลายภาษา  จะเห็นว่าเมื่อประเทศที่มีหลายภาษาพยายามใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นภาษาประจำชาติ จะได้รับการต่อต้านจากลุ่มที่ใช้ภาษาอื่น เกิดความแตกแยก  นอกจากนั้น การสอนภาษาที่แตกต่างย่อมมีวิธีสอนที่แตกต่างกันไปด้วย

ด้วยปัจจัยดังกล่าว การจัดการศึกษาของแต่ละประเทศจึงต้องแตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผู้จบการศึกษา ที่เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถนา ไม่ก่อปัญหาให้กับประเทศชาติอันเนื่องมาจากการจัดการศึกษาแบบผิดๆ อันเกิดจากการลอกเลียนรูปแบบการศึกษาจากประเทศพัฒนามาใช้ 
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                   สาระคิด

                                 การลอกเลียนการศึกษาจากประเทศพัฒนา
                                 เป็นวิธีที่ง่าย  แต่ไม่ตอบโจทย์ของประเทศ

*****************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น