วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561

การพัฒนาตนด้วยตนเอง:ความจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน

การพัฒนาตน มีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน ที่ต้องการความก้าวหน้า มีตำแหน่งสูงขึ้น ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความพึงพอใจที่จะทำงานมากขึ้น ตลอดจนมีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่สมบูรณ์

การพัฒนาตนมีความจำเป็นสำหรับทกๆคน ที่ต้องการความสำเร็จในทุกๆด้าน บุคคลที่ไม่รู้จักพัฒนาตน จะเป็นผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต

ตน ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า self หมายถึง ความรู้ ความรู้สึก และแนวความคิดเกี่ยวกับตัวเราทั้งหมด ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล

การพัฒนาตน เป็นการพัฒนาตนด้วยตนเอง เพื่อไปสู่เป้าหมาย เป็นการกระทำด้วยตนเอง ถ้าเป็นการเรียนก็เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยไม่มีผู้สอน ผู้เรียนจะต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจในทุกระดับของกระบวนการเรียนรู้

การพัฒนาตน เป็นการพัฒนาบุคคล ซึ่งแตกต่างไปจากการพัฒนาองค์การหรือธุรกิจ เป็นการพัฒนาที่ริเริ่มด้วยตนเอง ทำด้วยตนเอง เป็นความรับผิดชอบของผู่พัฒนา ผู้พัฒนามีอิสระ และมีความรับผิดชอบที่จะเลือกว่าจะพัฒนาอะไร เมื่อไร และอย่างไร และรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาจากการตัดสินใจเหล่านั้น

หากจำแนกเป็นข้อๆจะได้ว่า การพัฒนาตนด้วยตนเอง หมายถึง

          1. การที่บุคคลพยายามที่จะปรับปรุงเปลึ่ยนแปลงตนด้วยตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม เหมาะสมกว่าเดิม ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรม แสดงพฤติกรรม เพื่อสนองความต้องการ สนองแรงจูงใจ หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้

          2. การพัฒนาตนด้วยตนเอง เป็นการพัฒนาศักยภาพของตนให้ดีขึ้นทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เพื่อให้ตนเป็นสมาชิกที่มีประสิทธิภาพของสังคม เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ตลอดจนเพื่อการดำรงชีวิตอย่างสันติสุขของตน 

เหตุทีึ่ต้องพัฒนาตนด้วยตนเอง เนื่องจากในการพัฒนาบางเรื่อง บางพฤติกรรม การจะพัฒนาโดยบุคคลอื่นเป็นวิธีการที่ขาดประสิทธิผล หรือบุคคลผู้ใช้บริการไม่ยอมปฏิบัติตามข้อกำหนด การพัฒนาตนด้วยตนเองจึงเป็นวิธีการที่จำเป็น

เหตุผลที่มนุษย์จะต้องพัฒนาตนด้วยตนเอง อาจจำแนกออกได้ดังนี้มีดังนี้

          1. มีพฤติกรรหลายอย่างที่ไม่สามารถปรับพฤติกรรมโดยบุคคลอื่นได้ง่ายๆ ยกเว้นตนเอง เช่น พฤติกรรมทางเพศ หรือ การมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ เป็นต้น

          2. พฤติกรรมที่มีปัญหา เป็นพฤติกรรมที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการมีปฏิกิริยาต่อตนเอง ซึ่งเป็นกิจกรรมทางสมอง เช่น การคิด การใฝ่ฝัน จินตนาการ หรือการวางแผน

          3. การเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องยาก และไม่มีความสุข การรับความช่วยเหลือจากคนอื่น ทำให้เกิดแรงจูงที่จะเปลี่ยนแปลงไม่เพียงพอ จึงต้องพัฒนาด้วยตนเอง

          4. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ใช่เพียงแต่การทำให้พฤติกรรมที่มีปัญหาหมดไป หรือทำให้สถานการณ์บางอย่างหมดไป แต่ยังเพื่อประโยชน์ในการจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้มีประสิทธิผลมากกว่าในอดีตอีกด้วย ซึ่งความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงต้องเป็นของตนเองด้วย ด้วยการสร้างแรงจูงใจที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนด้วยพฤติกรรมใหม่

ในการพัฒนาตนด้วยตนเอง มีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้

          1. วิเคราะห์ตนเอง บุคคลที่สามารถพัฒนาตนเองได้ จะต้องรู้จักตนเสียก่อน ต้องค้นหาเอกลักษณ์ของตนให้พบ ยอมรับตนตามสภาพความเป็นจริง รู้สถานภาพของตน ตลอดจนวิเคราะห์ตนเองได้ว่าแสดงบทบาทสอดคล้องกับสถานภาพหรือไม่เพียงใด การวิเคราะห์ตนอาจเริ่มด้วยการศึกษาและประเมินตน เพื่อทราบถึงรูปร่างหน้าตา สุขภาพ สติปัญญา ความสามารถพิเศษ ฐานะทางเศรษฐกิจสังคม ตลอดจนกิริยาท่าทาง ซึ่งการวิเคราะห์ตนเองเป็นขั้นของการทำความรู้จักตนเอง  การพัฒนาตนด้วยตนเองจะต้องเริ่มด้วยการรู้จักตนเองเสียก่อน

          2. การวางแผนเพื่อการพัฒนาตน การวางแผนเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการพัฒนาตน เพราะจะช่วยให้ทราบแนวทาง วิธีการ และเป้าหมายของการพัฒนาที่ชัดเจน การพัฒนาตนที่ขาดการวางแผน จะทำให้การพัฒนาดำเนินไปโดยขาดทิศทางและอาจประสบความล้มเหลวในที่สุด

          3. พัฒนาตน ในการพัฒนาตนจำแนกได้เป็น 2 ด้าน คือ

                  3.1 การพัฒนาตนด้านรูปธรรม คือการพัฒนาส่วนที่สามารถสัมผัสได้ด้วยอวัยวะสัมผัส เช่น การแต่งกาย กิริยามรรยาท ฯลฯ ซึ่งทำได้ด้วยการฝีึักฝน ทั้งกาย วาจา ภาษา ท่าทาง อย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย

                  3.2. การพัฒนาด้านนามธรรม คือการพัฒนาด้านจิตใจ ให้เป็นคนที่มีจิตใจดี มีปัญญา มีหูตา กว้างไกล ทันกับการเปลี่ยนแปลง

ขั้นตอนการพัฒนาดังที่กล่าวมานี้ จะต้องทำให้ครบทั้ง 3 ขั้นตอน จะขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไม่ได้ มิฉะนั้น การพัฒนาตนจะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

ที่กล่าวมาเป็นความหมาย ความจำเป็น และกระบวนการในการพัฒนาตนด้วยตนเอง หากบุคคลใดประสงค์จะพัฒนาตนด้วยตนเองจะต้องดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว จึงจะประสบความสำเร็จในชีวิต 

ป็นการไม่ผิดนัก ถ้าจะกล่าวว่า การพัฒนาตนด้วยตนเอง เป็นกระทำที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้บุคคลที่หวังความก้าวหน้าจะต้องพัฒนาตน  เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น มิฉะนั้น จะเป็นบุคคลที่มีความรู้และทักษะที่ล้าสมัย กลายเป็นคนไร้ค่า ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                         สาระคำ

ปัจเจกบุคคล (Individual) หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคล ซึ่งบุคคลแต่คนมีลักษณะเฉพาที่แตกต่างกัน
*********************************************************************************



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น