วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

การจัดการศึกษาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า การศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะประชากรที่มีการศึกษาสูงขึ้นจะมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น มีทัศนคติและพฤติกรรมที่ทันสมัย

แม้ว่าการศึกษาจะมีความสำคัญดังกล่าว แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนว่า ทำให้เกิด"โรคประกาศนียบัตร(diploma disease)" ระบาดไปทั่ว ซึ่งเป็นการระบาดทั่วโลก

นอกจากนั้นยังพบว่า สถาบันการศึกษาได้ฝึกนักเรียนนักศึกษาให้ทำงานผิดประเภท และสร้างทักษะที่ไม่เหมาะสมกับตลาดแรงงาน เช่น ประเทศไนจีเรีย มีผู้จบการศึกษาในระบบโรงเรียนมากมายที่ว่างงานเพราะมีทักษะไม่เพียงพอ ส่วนทักษะที่เหมาสมต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ

จากการศึกษาพบว่า จัดการศึกษาที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาทรัยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิผล ประกอบด้วย

          1. สิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษา เพื่อสนองความต้องการทางสังคมโดยเฉพาะในชนบทห่างไกล มีไม่เพียงพอกับความจำเป็น

          2. มีวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตรมากเกินไป

          3. หลักสูตรการศึกษาขาดวิทยาศาสตร์ประยุกย์และเทคโนโลยีตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

          4. เน้นการลงทุนทางการศึกษาของรัฐบาลมากเกินไป

          5. การศึกษา เทคโนโลยี และตลาดแรงงานไม่ไปด้วยกัน

          6..การจัดการศึกษา มีลักษณะเป็นระบบราชการ และไม่ยืดหยุ่น

         7. การเรียนการสอนเน้นทฤษฎี ละเลยการปฏิบัติ

         8. มีการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตามความต้องการของนักการเมือง

         9. เป็นการจัดการศึกษาที่เลียนแบบต่างประเทศ จัดโดยขาดข้อมูลของประเทศ

         10. ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อการศึกษาประเภทต่างๆ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีส่วนแบ่งเพื่อการมัธยมศึกษาสูงกว่าประถมศึกษา

และที่สำคัญยังพบว่า เป็นการจัดการศึกษาที่ขาดการวางแผนการใช้กำลังคน จนทำให้เกิดผลที่ตามมาในลักษณะต่อไปนี้

          (1) งานต่างๆต้องการผู้จบการศึกษาที่มีวุฒิบัตรสูงขึ้น เช่น งานธุรการ เดิมต้องการผู้จบชั้นมัธยมศึกษาก็พอ แต่ปัจจุบันนี้ต้องใช้ผู้จบปริญญาตรี ทำให้ผู้จบปริญญาตรี ซึ่งเดิมเป็นระดับการศึกษาสำหรับผู้มีตำแหน่งสูง ต้่องทำงานที่เหมาะสมกับระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น

          (2) การใช้ผู้มีวุฒิการศึกษาสูงเกินจำเป็น ทำให้ต้องมีการขยายการศึกษาเพิ่มขึ้น เพื่อให้คนหนุ่มสาวมีวุฒิบัตรสูงขึ้น

          (3) อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเพิ่มงบประมาณทางการศึกษา เป็นการศึกษาที่ปริมาณนำหน้าคุณภาพ และเป็นการลดค่าวุฒิบัตรทางการศึกษาลงตามค่าที่ตลาดกำหนด

          (4) ในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศมีการผลิตบัณฑิตในระดับอุดมศึกษาจนเหลือใช้ เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการทักษะ เช่น ในประเทศอินเดีย แม้แต่แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรก็ผลิตเหลือใช้ จนทำให้เกิดปัญหาว่างงาน การทำงานต่ำกว่าระดับ และอพยพย้ายถิ่น

 การจัดการศึกษาในลักษณะดังกล่าว นำไปสู่การขาดแคลนคนที่มีความรู้เพื่อการปฏิบัติการทางเทคนิคที่ซับซ้อน(know how) นักวิทยาศาตร์และวิศวกรสนใจอยู่กับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีล่าสุดของประเทศพัฒนา เพราะไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆที่พัฒนาขึ้นมาภายในประเทศ

ตลอดจนนำไปสู่การเกิดปรากฎการณ์นำเข้าและส่งออกบุคคลที่มีความรู้และทักษะที่จำเป็น ที่มีความสามารถสูง เช่น นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร แพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ อันมีผลมาจากการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในประเทศพัฒนา จนเสียดุลทางทรัพยากรมนุษย์ ทำให้ประเทศพัฒนาไปได้ยาก

นั่นคือ แม้ว่าการศึกษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นพลังสร้างสรรค์ที่สำคัญ แต่หากไม่จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความจำเป็นที่แท้จริงของประเทศ การศึกษาก็เป็นเพียงอุตสาหกรรมผลิตประกาศนียบัตร ก่อให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาประเทศน้อยมาก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

                   การศึกษายิ่งมากยิ่งดี  แต่การศึกษาแบบผิดๆจะเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์

*********************************************************************************






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น