มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ความสุขและความสมหวังของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะสัมพันธ์กับคนอื่น แต่การจะสัมพันธ์กับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิผล จำเป็นจะต้องมีทักษะระหว่างบุคคล(interpersonal skills)
สำหรับทักษะระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นทักษะที่บุคคลใช้เพื่อการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เป็นทักษะเบื้องต้นที่บุคคลจะต้องมีเพื่อความสัมพันธ์ที่ดี ได้แก่
1. ทักษะการรู้จักและการไว้วางใจซึ่งกันและกัน
ทักษะการรู้จักและการไว้วางใจซึ่งกันและกัน จะเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยตน การรู้จักตน และการยอมรับตน
ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จำเป็นจะต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะจะต้องมีการเปิดเผยเรื่องและสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งการเปิดเผยนั้น นอกจากจะต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันแล้ว ผู้เปิดเผยจำเป็นจะต้องรู้จักตนและยอมรับตนด้วย
เพราะหากไม่รู้จักหรือไม่ยอมรับตน บุคคลจะพยายามเก็บซ่อนเรื่องหรือสถานการณ์ที่ตนไม่ยอมรับ และการเก็บซ่อนเรื่องหรือสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ไม่มีการเปิดเผยตน ผลสุดท้าย การสื่อสารและความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นได้ยาก
2. ทักษะการสื่อสารอย่างเหมาะสมไม่คลุมเครือ
ทักษะการสื่อสารอย่างเหมาะสมไม่คลุมเครือ เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสื่อความคิดและความรู้สึกอย่างเหมาะสม ไม่คลุมเครือ เป็นการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความอบอุ่นและมีความรู้สึกชอบ เพราะในการสื่อสารถ้าบุคคลไม่รู้สึกชอบซื่งกันและกันความสัมพันธ์จะไม่เกิดขึ้น
ปกติความสัมพันธ์จะเริ่มด้วยการส่งสารและรับสาร แล้วจึงจะเกิดความสัมพันธ์ ต่อจากนั้นจะมีการพัฒนาความสัมพันธ์ และมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงในที่สุด
แต่ในการสื่อสาร ถ้าบุคคลมีความรู้สึกไม่ชอบ หรือมีความรู้สึกไม่อบอุ่น การสื่อสารจะไม่เกิดขึ้น และในที่สุดความสัมพันธ์ก็จะไม่เกิด
3. ทักษะการยอมรับและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ทักษะการยอมรับและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พัฒนามาจากการช่วยเหลือ หรือการเอาใจใส่บุคคลอื่น
การสื่อสารที่เริ่มต้นด้วยการยอมรับและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการเสริมแรง และการเป็นตัวแบบที่ดี จะทำให้บุคคลมีพฤติกรรมเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งมีความสำคัญต่อทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
4. ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้งและปัญหาความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์
ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้งและปัญหาความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่เพิ่มพูนและพัฒนา ตลอดจนมีผลต่อการรักษาความสัมพันธ์ไว้ให้ยั่งยืน
ควาขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าคน 2 คนจะเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน หรือมีความใกล้ชิดกันเพียงใด ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ในระหว่างเพื่อนที่ดีที่สุด
แต่การเกิดความขัดแย้งไม่สำคัญเท่ากับการจัดการกับความขัดแย้ง ความขัดแย้งที่ได้รับการแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย ประกันได้เลยว่า ความขัดแย้งจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่มีความลึกซึ้งแทนที่จะทำให้เจือจางลง ถ้าบุคคลทั้ง 2 มีทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้งและปัญหาความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์
นอกจากทักษะที่กล่าวมาแล้ว เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นที่น่าพอใจ บุคคลจะต้องมีกลุ่มทักษะต่อไปนี้
1) ทักษะการฟัง เพราะการฟังช่วยให้เข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด
2) ทักษะการยืนกราน การยืนกรานช่วยให้บุคคลสามารถรักษาการยอมรับตนไว้ได้ สามารถสนองความต้องการ และป้องกันสิทธิของตนโดยปราศจากการข่มขู่หรือคุกคามคนอื่น
3) ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นทักษะที่ช่วยให้บุคคคลสามารถจัดการกับอารมณ์ เพราะปกติอารมณ์จะทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา ทักษะในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นความสามารถที่ส่งเสริมความสัมพันธ์เมื่อการถกเถียงผ่านไป
4) ทักษะการร่วมมือแก้ปัญหา เป็นการแก้ปัญหาที่ทุกกลุ่มพอใจ เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ได้ตลอดไป
5) ทักษะการเลือก เป็นทักษะที่ช่วยกำหนดแนวทางให้บุคคลสามารถตัดสินใจ ว่าจะใช้ทักษะการสื่อสารชนิดใดในสถานการณ์ที่เผชิญอยู่
ที่กล่าวมา เป็นทักษะระหว่างบุคคลที่จำเป็นสำหรับความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีประสิทธิผล เกิดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งแทนที่จะทำให้เจือจางลง มีความสุขและความสมหวังด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคำ
Interpersonal skills are the skills used by a person to interact with other properly.
*********************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น