การสื่อสารไม่ได้มีแต่องค์ประกอบของการสื่อสารเท่านั้นที่มีอิทธิพลต่อการสื่อสาร แต่ยังมีสภาพแวดล้อมของการสื่อสารรวมอยู่ด้วย ซึ่งสภาพแวดล้อมเหล่านี้มีผลกระทบต่อประสิทธิผลของการสื่อสาร มีทั้งทำให้การสื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้ หรือทำให้การสื่อสารประสบความล้มเหลวได้
1.วัฒนธรรม
วัฒนธรรม หมายถึง วิถีการดำรงชีวิตในสังคมหนึ่งๆ เกิดจากการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคนในสังคม
กล่าวคือ นอกจากมนุษย์จะกระทำโดยสัญชาตญาณ เช่น หิว กระหาย แล้ว มนุษย์จะกระทำโดยเหตุผลทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น เพราะวัฒนธรรมจะกำหนดความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของคนในสังคม
ด้วยเหตุนี้ พฤติกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่ จึงเป็นพฤติกรรมทางวัฒนธรรม และการสื่อสารก็เป็นพฤติกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยวัฒนธรรม การสื่อสารใดๆที่ขัดกับวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ จะเกิดประสิทธิผลได้ยาก
2. สังคม
สังคม หมายถึง การอยู่ร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่มีการติดต่อสัมพันธ์และมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน
คนในสังคมจะมีบรรทัดฐานและสถานภาพ เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม ใครทำผิดไปจากบรรทัดฐานจะเป็นคนเบี่ยงเบน
นอกจากนั้น สถานภาพของบุคคลจะกำหนดบทบาทของบุคคลนั้น เช่น มีสถานภาพเป็นลูกต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ มีสถานภาพเป็นนักศึกษา จะต้องมีบทบาทศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น
ในการสื่อสารก็เช่นเดียวกัน จะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสถานภาพและบทบาท เช่น เด็กพุดกับผู้ใหญ่จะต้องใช้ภาษาที่สุภาพ แต่หากผู้ใหญ่พูดกับเด็กจะไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องการใช้ภาษามากนัก
การสื่อสารใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามสถานภาพและบทบาทของแต่ละฝ่าย ย่อมจะเกิดประสิทธิผลได้ยากเช่นเดียวกัน
3. จิตวิทยา
จิตวิทยา หมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ สภาพแวดล้อมทางจิตวิทยา หมายถึง สภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจของมนุษย์ อันได้แก่ สิ่งเร้าต่างๆ ที่มีผลทำให้มนุษย์ตอบสนอง เกิดเป็นพฤติกรรม
ในการสื่อสาร มนุษย์จะติดต่อสื่อสารโดยใช้เหตุและผลทางจิตใจมากกว่าใช้ข้อเท็จจริง เช่น การสื่อสารในขณะที่มีอารมณ์เครียด บุคคลจะรับหรือส่งสารในลักษณะที่แตกต่างไปจากขณะที่มีอารมณ์ปกติ เป็นต้น
สภาพแวดล้อมทั้ง 3 ประการนี้ ที่กล่าวมานี้ เป็นสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการสื่อสาร การสื่อสารใดๆที่ไม่สอดคล้องกับ สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม สังคม หรือสภาพแวดล้อมทางจิตวิทยา จะเป็นการสื่อสารที่เกิดประสิทธิผลได้ยาก และอาจเป็นการสื่อสารที่ทำให้เกิดปัญหาตามภายหลังก็เป็นได้ ฉะนั้นในการสื่อสารแต่ละครั้ง จึงจำเป็นที่บุคคลจะต้องให้ความสำคัญเรื่องสภาพแวดล้อมที่กล่าวมาให้มาก ทั้งนี้ เพื่อให้การสื่อสารบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งใว้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคำ
บรรทัดฐาน คือ ระเบียบแบบแผนของสังคม ที่คนในสังคมยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ
สถานภาพ คือ ตำแหน่งหน้าที่ที่บุคคลได้รับจากการเป็นสมาชิกในสังคม แบ่งออกเป็นสถานภาพโดยกำเนิด เช่น พ่อ แม่ ลูก ฯลฯ กับสถานภาพทางสังคมที่ได้มาภายหลัง เช่น เภสัชกร แพทย์ ครู ฯลฯ
บทบาท คือ การปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ของสถานภาพที่บุคคลมีอยู่
*********************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น