วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ธรรมชาติของมนุษย์ในทัศนะของมาสโลว์

อับราฮัม มาสโลว์(Abraham Maslow) เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เป็นผู้ให้กำเนิดจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม เจ้าของทฤษฎีการจูงใจของมนุษย์(Theory of Human Motivation) และทฤษฎีการพัฒนาเต็มศักยภาพ(Self-actualization Theory)

มาสโลว์เชื่อว่า โดยพื้นฐานมนุษย์นั้นดี หรือไม่ดีไม่ชั่ว มากกว่าที่จะชั่วร้าย  มนุษย์ทุกคนมีแรงกระตุ้นให้เจริญเติบโตและสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพตามที่ต้องการ

จากการที่มาสโลว์ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักจิตวิทยาชั้นนำหลายๆแนวความคิด ทำให้เขาเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทำให้เกิดแนวคิดจิตวิทยามนุษยนิยมในเวลาต่อมา เขามีความเห็นว่า การจะศึกษามนุษย์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้จะต้องศึกษาในลักษณะต่อไปนี้

          1) ศึกษาจากบุคคลที่มีสุขภาพจิตดี มีอารมณ์จิตใจและบุคลิกภาพมั่นคง การศึกษาจากบุคคลที่มีบุคลิกภาพมั่นคง สุขภาพจิตดี และประสบความสำเร็จในชีวิต จะช่วยให้ทราบว่า คุณลักษณะดังกล่าว จะต้องอาศัยองค์ประกอบอะไรบ้าง และสามารถพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร

          2) การศึกษาทางจิตวิทยาจะต้องศึกษาจากคนทั้งคน ไม่ใช่ศึกษาปัญหาของคนโดยแยกคนเป็นส่วนๆ แล้วนำมาวิเคราะห์สรุปเป็นกฎเกณฑ์ ซึ่งการศึกษาในลักษณะดังกล่าว เสี่ยงต่อความผิดพลาด เพราะคนประกอบด้วย กาย อารมณ์ ความคิด ฯลฯ มีลักษณะเป็นองค์รวม

สำหรับธรรมชาติของมนุษย์ มาสโลว์ได้ศึกษาแล้วสรุปว่า มนุษย์มีธรรมชาติดังนี้

1. มนุษย์ใฝ่ดี  ต้องการบรรลุศักยภาพ ไม่มีสัญชาตญาณของความก้าวร้าวและความต้องการที่จะทำลายล้างผู้อื่น นอกจากนั้น มนุษย์ยังมีความสร้างสรรค์ สมรรถภาพในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ แสดงออกได้หลายวิธี เช่น แสดงออกด้วย การเขียน การทำงาน ฯลฯ

2. มนุษย์ต่างจากสัตว์ประเภทอื่นๆ คือสัตว์ไม่มีความคิดซับซ้อน ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไม่มีความละอายต่อบาป ฯลฯ การเอาหลักจิตวิทยาและพฤติกรรมที่สรุปมาจากการทดลองสัตว์ มาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ จึงไม่ถูกต้อง เพราะมนุษย์ต่างจากสัตว์

3 การพัฒนาเต็มที่และพัฒนาอย่างสมบูรณ์ของมนุษย์ จะเกิดจากตัวมนุษย์เอง มากกว่าเกิดจากปัจจัยภายนอก

4. ความผิดปกติทางจิตใจของมนุษย์ เกิดจากการปฏิเสธ การบิดเบือน และการบีบคั้น ไม่ให้มนุษย์ได้แสดงศักยภาพ สิ่งแวดล้อมทำให้มนุษย์เป็นทุกข์ เป็นโรคประสาท งมงาย และมีความผิดปกติทางสังคม

5. มนุษย์มีธรรมชาติภายใน(inner nature)ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่อำนาจภายในนี้ไม่แรงเท่าสัญชาตญาณของสัตว์  มนุษย์จึงทนต่อความกดดันทางสังคมและทัศนคติแบบผิดๆได้น้อย อำนาจธรรมชาติภายในแม้ไม่แรง แต่ยังคงอยู่ในตัวมนุษย์ตลอดชีวิต ทำให้มนุษย์ต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อการมีชีวิตและการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ ธรรมชาติภายในของมนุษย์เป็นพลังสำคัญที่ทำให้มนุษย์ต้องรู้จักตนเอง  อย่างไรก็ตาม แม้มนุษย์ทุกคนจะมีธรรมชาติภายใน แต่มนุษย์แต่ละคนก็มีลักษณะพิเศษ ที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ ทำให้เกิดลักษณะเฉพาะของมนุษย์แต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

6. การพัฒนาตนเองเป็นกระบวนการธรรมชาติของมนุษย์ บุคคลอื่นเป็นเพียงผู้คอยช่วยเหลือ ส่งเสริม จึงไม่ควรบังคับ หรือไม่เปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาได้ตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ขึ้นอยู่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงเสริมการพัฒนากับแรงฉุดการพัฒนา ว่าอย่างไหนจะมีแรงมากกว่ากัน

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นธรรมชาติของมนุษย์ในทัศนะของมาสโลว์ ที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นคนดีมีความคิดสร้างสรรค์ สามารพัฒนาตนเองได้ การนำหลักจิตวิทยาที่ได้จากการทดลองจากสัตว์มาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                  โดยพื้นฐานมนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือกกระทำ และรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง

                                                                                            Abraham Maslow

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น