วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ความต้องการตามลำดับขั้นของมนุษย์

อับราฮัม มาสโลว์ ผู้ให้กำเนิดจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม เจ้าของทฤษฎีการจูงใจของมนุษย์ มีความเห็นว่า ระบบแรงจูงใจอันเกิดจากความต้องการ(need- motive system) เป็นโครงสร้างที่มีลำดับขั้น แต่ละระดับเป็นกลุ่มของความต้องการ ไม่ใช่เป็นความต้องการเดี่ยวๆ ความต้องการเหล่านี้ทำให้เกิดแรงจูงใจ

ตามทัศนะของมาสโลว์ ความต้องการแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ความต้องการขั้นพื้นฐานหรือความต้องการที่เกิดจากความขาดแคลน(Basic or Deficiency Needs)  กับ ความต้องการเจริญเติบโตหรือความต้องการที่จะพัฒนา (Higher or Meta or Growth Needs)

ปกติความต้องการอันเกิดจากความขาดแคลน จะมีอำนาจเหนือความต้องการพัฒนาหรือความต้องการเจริญเติบโต และความต้องการที่เกิดจากความขาดแคลนทั้งหมดจะต้องได้รับการตอบสนองก่อน ความต้องการเจริญเติบโตหรือความต้องการพัฒนาจึงจะเกิดขึ้นได้

ด้วยเหตุที่มองว่าความต้องการเป็นโครงสร้างที่มีลำดับขั้น ดังกล่าวแล้ว มาสโลว์ได้แบ่งความต้องการออกเป็นลำดับขั้นดังนี้

1. ความต้องการทางสรีระ(Physiological Needs)

เป็นความต้องการพื้นฐานเพื่อให้ชีวิตรอด ประกอบด้วยความต้องการทางชีวภาพและความต้องการทางจิต เป็นความต้องการขั้นต่ำสุดและมีอำนาจมากที่สุด ทำให้เกิดแรงขับทางสรีระหรือแรงขับขั้นต้น ความต้องการเหล่านี้เป็นทั้งความต้องการทั่วไป และความต้องเฉพาะ

ความต้องการทางสรีระ ประกอบด้วยด้วย ความต้องการ อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย ความต้องการทางเพศ ความต้องการที่จะฟื้นจากการเจ็บไข้ได้ป่วย  ความอบอุ่น การออกกำลัลกาย การหลับนอน การสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน รสชาติ กลิ่น ฯลฯ ตลอดจนความต้องการต่างๆที่ก่อให้เกิดความสุขสบายทางกายและมีชีวิตรอด

2.ความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs)

ความต้องการความปลอดภัยเกิดขึ้นเมื่อความต้องการทางสรีระได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอ เป็นความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงอันตรายและการคุกคามทางกาย รวมทั้งความต้องความรู้สึกปลอดภัยจากความเจ็บปวดทางกายและทางอารมณ์ ตลอดจนความปลอดภัยจากความกลัว

ความต้องการความปลอดภัยหรือความรู้สึกมั่นคง จะสังเกตได้ง่ายในวัยทารกและเด็กเล็กๆ เนื่องจากในวัยนี้ เป็นวัยที่ต้องการความช่วยเหลือและต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น และแม้จะผ่านพ้นวัยเด็กไปแล้ว ความต้องการความปลอดภัยยังคงมีอิทธิพลต่อบุคคล ศาสนาและปรัชญาเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงการใฝ่หาความแลอดภัยของมนุษย์

3. ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ(Love and Belongingness Needs)

เป็นความต้องการขั้นที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อความต้องการทางสรีระและความต้องการความปลอดภัยได้รับการตอบสนองแล้ว เป็นความต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ได้แก่ คู่ครอง เพื่อน ฯลฯ

การได้รับการตอบสนองจากคนอื่นในขณะที่เครียด ความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความเป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตลอดจน ความต้องการได้รับการยอมรับจากคนอื่น ล้วนจัดอยู่ในความต้องการขั้นนี้ ความเปล่าเปลี่ยวเป็นความเจ็บปวดของผู้ที่มีความต้องการในขั้นนี้ บุคคลที่ติดอยู่ในขั้นนี้ มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ตาม เพราะให้ความสำคัญกับความรู้สึกที่จะเป็นเจ้าของและเลิกที่จะเป็นผู้นำ

4. ความต้องการมีคุณค่า(Esteem Needs)

เมื่อความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของได้รับการตอบสนอง มนุษย์จะเกิดความต้องการขั้นที่ 4 คือ ความต้องการมีคุณค่าหรือความต้องการเป็นคนสำคัญ(Ego Needs) ซึ่งความต้องการมีคุณค่าอาจแบ่งได้เป็น ดังนี้

          4.1 ความต้องการความแข็งแกร่ง ความรอบรู้ ความมีสมรรถนะ ความเชื่อมั่นในตน ความอิสระไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น และการประสบความสำเร็จ จัดอยู่ในความต้องการรู้คุณค่าแห่งตน(self-esteem)

          4.2 ความต้องการเกียรติยศ การยอมรับจากผู้อื่น ความต้องการสถานภาพ ชื่อเสียง การมีอำนาจ การมีศักดิ์ศรี การเห็นคุณค่าจากผู้อื่น จัดเป็นความต้องการรู้คุณค่าจากคนอื่น((public -esteem)

การรู้คุณค่าจะเกิดจากความเพียรพยายามของบุคคล ความต้องการนี้อาจมีอันตราย ถ้าบุคคลนั้นต้องการมีคุณค่าจากคนอื่นเกินความเป็นจริง

5. ความต้องการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ(Self-actualization)

เมื่อความต้องการขั้นต้นๆได้รับการตอบสนอง หรือความต้องการอันเกิดจากความขาดแคลนได้รับการตอบสนองจนเป็นที่พอใจ ความต้องการเจริญเติบโตเพื่อพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพจะเกิดขึ้น
การพัมนาตนให้เต็มศักยภาพมาสโลว์ระบุว่ามีความสัมพันธ์กับทฤษฎีของของจุง แอดเลอร์ ฮอร์นาย และทฤษฎีของโรเจอร์

ความต้องการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ เป็นภาวะสุดท้าย เป็นความต้องการที่อยู่ในระดับสูงสุด เป็นการพัฒนาตนเพื่อความสมบูรณ์ของตนตามที่ตนเองมีศักยถาพ เป็นการพัฒนาเพื่อให้มีศักยภาพสูงสุด มีสมรรถภาพตามที่บุคคลสามารถเป็นได้

เกี่ยวกับความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ มีข้อสรุปที่เป็นสาระสำคัญเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้

          1) เมื่อความต้องการในขั้นต่ำกว่าได้รับการตอบสนอง ความต้องการในขั้นที่สูงกว่าจึงจะเกิดขึ้น

          2. เมื่อความต้องการในขั้นที่สูงกว่าเกิดขัดข้อง บุคคลจะถอยไปอยู่ขั้นที่ต่ำกว่าลงไปอีก จนกว่าจะได้รับการตอบสนองจนพอใจ

          3)มีการเข้าใจผิดว่า ในเวลาเดียวกันบุคคลสามารถตอบสนองความต้องการได้ทีละขั้นและทีละอย่าง  และเข้าใจว่าความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ เป็นความต้องการของมนุษย์ที่สนองตอบได้ทั้งหมด

          4) มนุษย์แต่ละคน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้มากตามที่ตนต้องการ แต่สามารถตอบสนองได้เพียงร้อยละต่อไปนี้ สนองตอบความต้องการทางสรีระได้ร้อยละ 85 ความต้องการความปลอดภัยได้ร้อยละ 70 ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ ได้ร้อยละ 50 ความต้องการมีคุณค่าได้ร้อยละ 40 และสนองตอบความต้องการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพได้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้นเอง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                              สาระคิด

แรงจูงใจของมนุษย์เกิดจากภายในตัวบุคคล มากกว่าถูกจูงใจจากสิ่งแวดล้อม ผู้ใฝ่ดีและคนที่ต้องการ

พัฒนา จะต้องได้รับการกระตุ้นจากการรู้คุณค่าของตน ภายในตน และด้วยตนเอง

                                                                              Abraham Maslow

*********************************************************************************





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น