วัฒนธรรม หมายถึงวิถึชีวิตหรือพฤติกรรมทั้งมวล ที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม
ส่วนการทำงานเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดผลผลิต สังคมใดที่สมาชิกในสังคมทำงานหนัก สังคมนั้นจะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นเป็นประเทศพัฒนาเศรษฐกิจในที่สุด
แต่ระบบการทำงานของแต่ละสังคม จะถูกกำหนดโดยความเป็นไปได้ทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมจะกำหนดคุณค่าให้กับงาน แรงจูงใจที่จะะทำงาน และความหมายของการทำงานให้แตกต่างกันออกไป
ความแตกต่างของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา จึงเกิดจากความแตกต่างในรูปแบบของสังคมและวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่
ค่านิยมและสถาบันในประเทศพัฒนา จะมีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา
David C. McClelland ผู้แต่งหนังสือ The Achieving Society. เห็นว่า ในประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมักจะมีลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรม ดังนี้
1. มีวัฒนธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการทำงานแบบเดิมๆ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและวิธีการทำมาหากิน เต็มใจที่จะละทิ้งการกระทำแบบเดิมๆ และเทคนิคต่างๆที่ใช้อยู่เดิม แล้วหันไปรับสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ ไปใช้ในระบบอุตสาหกรรม
2. มีการพัฒนากฎหมายต่างๆที่ใช้ได้กับทุกคนในลักษณะที่เสมอภาค ยึดลัทธิสากลนิยม(universalism)
3. บุคคลในสังคมได้รับสถานภาพทางสังคมโดยอาศัยความสำเร็จส่วนตัว ส่วนในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเจริญอย่างช้าๆ สถานภาพของบุคคลมักจะได้มาโดยกำเนิด
4. มักจะเน้นความสำคัญของการมีวินัยในตนเอง และการเป็นผู้รู้จักใช้จ่าย
5. เป็นสังคมที่ปราถนาความก้าวหน้า และเน้นบากบั่นการทำงานหนัก ว่าเป็นเครื่องช่วยให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายต่างๆ
หากนำความคิดเห็นของ McClelland มาวิเคราะห์สังคมไทยจะพบว่า มีหลายลักษณะของคนไทยที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ คนไทยไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ให้ความสำคัญของการมีวินัยในตนเอง ไม่รู้จักประหยัดการใช้จ่าย และไม่ค่อยจะบากบั่นทำงานหนักเพื่อความก้าวหน้า ซึ่งล้วนเป็นลักษณะที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น
ซึ่งผลของการวิเคราะห์สอดคล้องกับผลของการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ที่พบว่า คนไทยมีวัฒนธรรมการทำงานในลักษณะต่อไปนี้ คือ
1 แนวความคิดและความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับการทำงาน มีดังนี้ (1)การทำงานเป็นกิจกรรมที่ไม่มีความดีในตัวมันเอง (2) การทำงานและการหาความสนุกเป็นกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ (3)การทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงและเอาชนะสภาพแวดล้อมเป็นการกระทำที่เป็นไปได้ยาก (4) การทำงานเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชีวิตการทำงานประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว (5) การสะสมทรัพย์อันหามาได้จากการทำงานไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำ
2. ค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานของคนไทย มีดังนี้ (1) ต้องการทำงานที่ไม่ต้องใช้ความพยายามอย่างสม่ำเสมอ (2)ต้องการทำงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบ (3) ต้องการทำงานที่ไม่ต้องเสี่ยง (4) ต้องการทำงานที่มีอิสระ
3.พฤติกรรมการทำงานของคนไทย มีดังนี้ (1) ไม่มีการวางแผนในการทำงาน (2). มีสมรรถภาพในการที่จะทำงานคนเดียว (3) ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม (4)ไม่มีวินัยในการทำงาน
4.การฝึกอบเพื่อการทำงานของคนไทยในวัยเด็ก มีลักษณะดังนี้ (1) ไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานเพื่อช่วยตัวเอง (2)ไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวที่จะทำงานอาชีพ
จะเห็นว่า วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย อันได้แก ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม พฤติกรรมการทำงาน และการอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็ก มีลักษณะที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่า หากต้องการให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ต้องแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานของคนไทยตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยความรับผิดชอบอย่างจริงจังของสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา เศรษฐกิจไทยจึงจะพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคำ
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หมายถึง การเพิ่มของผลผลิต ปัจจัยการผลิต และประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มการสะสมทุน กำลังแรงงาน และความก้าวหน้าทางเทคโนโนโลยีในระบบเศรษฐกิจ
*********************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น