วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562

การเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสมกับแนวโน้มการพัฒนา

การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนา แต่หากการศึกษามีรูปแบบการเรียนการสอนในลักษณะต่อไปนี้ จัดเป็นการเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสมกับแนวโน้มการพัฒนา

การเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสมต่อแนวโน้มของการพัฒนา เริ่มจากการเรียนการสอนซึ่งใช้วิธีการจำเป็นสำคัญ โดยจะจำสิ่งที่ดีที่สุดในอดีต เป็นการเรียนการสอนที่มุ่งศึกษาความดีที่มีมาในอดีต ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าควรที่จะเรียนรู้ กิจกรรมการเรียน คือการจำแบบนกแก้วนกขุนทอง นักเรียนมีกิจกรรมที่สำคัญคือ ฟัง สังเกต อ่าน ท่อง และเขียน  โดยนักเรียนมีกิจกรรมเหมือนๆกัน

กิจกรรมของครูคือ บรรยาย อบรมความประพฤติ ให้งานนักเรียนทำ และสอบ โดยครูใช้วิธีการควบคุมความประพฤติ ซึ่งผลที่ได้จาการเรียนแบบท่องจำ คือ

          1. มีความจำที่ถูกต้องและแน่นอน มีความเชื่อฟังต่อระเบียบวินัย

          2. มีจิตใจที่จะเก็บรักษาสิ่งต่างๆได้ดี มีสติปัญญตามรูปแบบ

          3. มีลักษณะยอมรับอดีต ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

          4.มีความพอใจที่ได้เรียนรู้เรื่องในอดีต เพื่อประโยชน์ของอดีต

จะเห็นว่า การเรียนการสอนแบบท่องจำ  ไม่ได้สนับสนุนการเป็นผู้นำหรือยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี กลับซ้ำร้ายกว่านั้น ยังพบว่า เป็นการเรียนการสอนที่เน้นการฝึกหัดรับข้อมูล แทนที่จะเน้นการเข้าใจและการสร้างสรรค์ หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้เรียนส่วนมากใช้เวลาในโรงเรียนเพื่อสร้างสมและเก็บ"ความคิดเฉื่ิอย(inert ideas"ไว้ โดยไม่ได้นำไปใช้หรือทำการทดสอบ

ระบบโรงเรียนในลักษณะดังกล่าว ไม่ได้ช่วยให้ผู้เรียนได้รู้ถึงความจริงแท้ของชีวิตที่เป็นอยู่ในประเทศ จึงเป็นความล้มเหลวต่อการที่จะตอบสนองความต้องการทางสังคม

นอกจากนั้น ยังพบว่าเป็นการจัดการศึกษาที่ไม่เหมาะสมกับแนวโน้มการพัฒนา เน้นการเรียนวิชาสามัญตามทฤษฎี  เพื่อออกไปเป็นเสมียนหรือข้าราชการที่มีทัศนคติต่การทำงานไม่ต่างไปจากผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษามากนัก มีผลทำให้เกิดลักษณะ ดังต่อไปนี้

          1. การเรียนการสอนไม่ได้สร้างทักษะที่เพียงพอ

          2. ระบบโรงเรียนไม่ช่วยให้เกิดความก้าวหน้า เพราะผู้จบการศึกษาไม่ได้รับการศึกษาอบรมเพื่องานอาชีพ

          3. วิชาการและการเรียนการสอนตามตำรา จะได้ผู้จบการศึษาที่มีทัศนคติชอบงานในสำนักงาน(white collar attitude)

เมื่อสภาพการเรียนการสอนเป็นเช่นนี้ จึงจัดเป็นการศึกษาที่สูญเปล่า อันเนื่องมาจาก จุดมุ่งหมาย เนื้อหา วิธีการ และทุกสิ่งทุกอย่างที่ป้อนเข้าในระบบการศึกษาไม่เหมาะต่อการพัฒนา

สิ่งที่ระบบการศึกษาทำได้ มักจะเป็นการผลิตคนที่มีความรู้ทางทฤษฎีโดยอาศัยการท่องจำ คนที่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตนเอง ทำอะไรไม่ค่อยจะเป็น หรือไม่กล้าทำอะไร รวมทั้งไม่ค่อยชอบทำงานหนัก อันเป็นลักษณะที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้จบการศึกษาส่วนมากมีลักษณะไม่ค่อยจะสอดคล้องกับความต้องการแรงงาน

การเตรียมอาชีพโดยการให้ประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร เป็นการเตรียมที่ไม่เพียงพอกับโลกของการทำงาน เพราะไม่ช่วยให้คนมีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ มีหลักในการทำงาน มีความคิดริเริ่ม มีความกระตือรือร้น มีความเสมอภาคในการปรับตัวและการเรียนรู้ อันจะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความหมายมากขึ้น

นอกจากการศึกษาจะผลิตคนที่ไม่ค่อยมีคุณภาพแล้ว บางครั้งยังมีแนวโน้มที่จะผลิตคนที่มีการศึกษาไม่ค่อยเป็นที่ต้องการของระบบเศรษฐกิจออกมามากเกินไปอีกด้วย เช่น แทนที่จะผลิตคนที่มีความรู้ทางช่างเทคนิค หรือกำลังคนที่มีทักษะทางอาชีพต่างๆ กลับผลิตคนที่มีความรู้สายสามัญ

ในระดับกำลังคนระดับสูงก็เช่นเดียวกัน แทนที่จะผลิตแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักการเกษตร กลับผลิตบัณฑิตด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาตร์ นิติศาสตร์ และศิลปศาตร์ ออกมา เพราะผลิตได้ง่ายกว่าและสังคมยอมรับเท่ากัน ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานของผู้มีการศึกษา

กล่าวโดยสรุปก็จะได้ว่า การเรียนการสอนที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นระบบการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของสังคม กลับผลิตคนที่มีแนวความคิด ค่านิยม ที่ไม่เอื้อต่อแนวโน้มการพัฒนา
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                     สาระคิด

        การทำงานเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ใครที่ไม่ทำงาน ถือว่าผิดธรรมชาติของความเป็นมนุษย์

*********************************************************************************


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น