วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559

วัฒนธรรมกับการทำงาน

พฤติกรรมทางวัฒนธรรม หมายถึง พฤติกรรมทั้งหมดของแต่ละบุคคล ไม่ว่าพฤติกรรมนั้นจะสังเกตเห็นได้หรือไม่ก็ตาม จะเป็นพฤติกรรมทางกายภาพหรือพฤติกรรมทางจิตใจก็ได้ พฤติกรรมทางวัฒนธรรมนั้น เริ่มตั้งแต่การกระทำอย่างง่ายๆ เช่น การกินอาหารด้วยส้อมหรือตะเกียบ ไปจนถึงการกระทำยากๆ 

การกระทำของมนุษย์ในเรื่องต่างๆ  ถ้าไม่ใช่เป็นการกระทำทางชีวภาพแท้ๆ เช่นกระพริบตา สะอึก จาม ฯลฯ แล้ว  จะเป็นการกระทำทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น

พฤติกรรมาทางวัฒนธรรม เป็นพฤติกรรมที่บุคคลได้เรียนรู้จากกลุ่มที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ไม่ใช่ทำได้เองโดยอัตโนมัติ จึงเป็นที่แน่นอนว่า แต่ละสังคมจะมีวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับ วัฒนธรรมการกิน  การนอน การแต่งงาน ฯลฯ

ระบบการทำงานของแต่ละสังคม จะถูกกำหนดโดยความเป็นไปได้ทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมจะกำหนดคุณค่าให้กับงาน แรงจูงใจที่จะทำงาน และความหมายของการทำงานให้แตกต่างกันออกไป

สำหรับพฤติกรรมการทำงาน วัฒนธรรมจะเป็นตัวกำหนดให้การทำงานแตกต่างกันในเรื่องต่อไปนี้ คือ

                1. ความเหมาะสมของปริมาณงาน

                2. ช่วงเวลาของการทำงาน

                3. อัตราการทำงาน

                4. กิจกรรมที่สามารถจะทำควบคู่ไปกับการทำงาน

                5. งานใดควรทำในที่ลับ งานใดควรทำในที่สาธารณะ

                6. งานใดเหมาะกับเพศหรือวัยใด

ข้อกำหนดทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ทำให้มนุษย์มีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ตลอดจนการอบรมสั่งสอน  เพื่อให้สมาชิกในสังคมรู้จักการทำงานแตกต่างกันออกไป

ในบางสังคมการทำงาน หมายถึง การใช้แรงกาย การทำงานเป็นความอยู่รอดของชีวิต

ในบางสังคมเชื่อว่า การทำงานเป็นความดี ความสำเร็จ  การทำงานเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมีคุณค่า

แต่ในบางสังคมเห็นว่า การทำงานเป็นความจำเป็นที่เลวร้าย การทำงานเหมือนการลงโทษ ในสังคมที่สามารถหาเลี้ยงชีพได้โดยง่าย การทำงานไม่ได้รับการยกย่องว่าเป็นความดี

สังคมอเมริกัน เป็นสังคมที่เน้นการทำงาน การทำงานของสังคมอเมริกัน มิใช่เพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ทำงานด้วยเหตุจูงใจอย่างอื่นด้วย เช่น ทำงานเพื่อตำแหน่งทางสังคม เพื่อประเพณี  เพื่อหน้าที่ หรือเพื่ออำนาจ การทำงานในสังคมอเมริกันมีคุณค่าสูงมาก คนร่ำรวยมากๆจะทำงานหนัก  ปัญญาชนและศิลปินจะทำงาน เพื่อสนองความพอใจของตนเอง มากกว่าที่จะทำเพื่อเหตุผลอื่น

จากการศึกษายังพบต่อไปว่า แต่ละวัฒนธรรมจะกำหนดท่าทีที่มีต่อการทำงานแตกต่างกันออกไป เช่น คนไทย  ชอบทำงานรัฐบาล ไม่ชอบทำงานที่ตนเองต้องเปื้อนสกปรก แต่ คน Afghans ไม่ชอบทำงานรัฐบาล คนอินเดีย เห็นว่าการทำงานที่ต้องสัมผัสกับอุจจาระเป็นงานต่ำ ส่วน คนโอกินาวา ของญี่ปุ่น ถือว่างานที่ต่ำมากที่สุดคืองานฆ่าหมู

Ramond Firth นักมานุษยวิทยา ได้ศึกษาวัฒนธรรมการทำงานของคน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ที่ Tikopia ประเทศนิวซีแลนด์ คนกลุ่มนี้ มีแนวความคิดว่า การทำงานมีความหมายตรงกันข้ามกับการพักผ่อนหรือการร่วมเพศ และเชื่อว่าการทำงานเป็นสิ่งที่ดี ความเกียจคร้านเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นความผิดทางศาสนา การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพถือว่าเป็นความดี การร่วมมือกันทำงานหนักถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดียิ่ง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือพวก Siriono พวกนี้อาศัยอยู่แถบลุ่มน้ำ Amazon พวกนี้มีวัฒนธรรมการทำงานแตกต่างจากกลุ่มแรก  พวกนี้ มีแนวความคิดว่า การทำงานหมายถึง กิจกรรมต่อไปนี้คือ การสร้างบ้าน การเก็บฟืน การเพาะปลูก ฯลฯ คนกลุ่มนี้จะล่าสัตว์เพื่อเป้นอาหารทุกวัน และเมื่อใดเมื่อพวกเขามีอาหารเพียงพอ พวกเขาจะพักผ่อน กิน ร่วมเพศ นอนหลับ เล่นกับลูก ร้องเพลง เต้นรำ หรือดื่มน้ำเมา โดยสังคมไม่วิจารณ์ว่า การกระทำเหล่านี้แสดงถึงว่าเป็นคนขี้เกียจ

จึงสรุปได้ว่า ในแต่ละสังคมจะมี ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม การศึกษาอบรม ตลอดจนพฤติกรรมการทำงานต่างกันไป  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมการทำงานของสังคมนั้นๆ 
                                  -----------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
                ----------------------------------------------------------------------------

                                               สาระคำ

วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตของสังคมโดยรวม ไม่ได้หมายเฉพาะสิ่งที่สังคมยอมรับว่าสูงหรือเป็นที่พึงปรารถนา วัฒนธรรมเป็นกิจกรรมของมนุษย์ทั้งมวลที่อยู่ในสังคมนั้นๆ แม้แต่การล้างจานและการขับรถยนต์ก็จัดรวมอยู่ในวัฒนธรรม
                         -------------------------------------------------------


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น