วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

วัฒนธรรมการทำงานกับการพัฒนา

ปัญหาที่ว่า ทำไมบางสังคมสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว แต่บางสังคมพัฒนาไปได้ช้า บางสังคมมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความก้าวหน้า แต่บางสังคมมีพฤติกรรมต่อต้านการเปลี่ยนแปลง  ปัญหานี้ได้มีผู้ศึกษากันหลายแง่หลายมุม เพื่อจะหาว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้แต่ละสังคมมีการพัฒนาแตกต่างกันไป

นักวิจัยทางสังคมศาสตร์ ได้ศึกษาตัวกำหนดการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม พบว่า องค์ประกอบเชิงมนุษย์ อันได้แก่ ทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อของแต่ละบุคคล ที่ยอมรับของใหม่ ยอมรับการสร้างสรรค์ เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง เพราะลักษณะของบุคคลในสังคมดังกล่าวนี้ จะกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการพัฒนา

นอกจากนั้น นักสังคมวิทยาได้ศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้างและวัฒนธรรมของสังคมต่างๆ เพื่อหาคำตอบว่า เหตุใดการพัฒนาจึงเกิดขึ้นในบางประเทศ แต่ไม่เกิดขึ้นในหลายประเทศ คำตอบส่วนหนึ่ง ก็คือ ประเทศเหล่านั้นมีโครงสร้างทางสังคมและวัฒธรรมต่างกัน และการพัฒนากับวัฒนธรรมนั้นมีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อกัน  ฉะนั้น การพัฒนาให้ได้ผลจำเป็นจะต้องคำนึงถึงลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม

ในสังคมพัฒนา คนในสังคมมีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลง มีความพอใจอย่างสูง ที่จะเอาชนะธรรมชาติและเงื่อนไขทางสังคม  มีความเชื่อว่า สถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถณาไม่ใช่เป็นสิ่งขวางกั้นที่ทำให้เกิดความหมดหวัง แต่เป็นความท้าทายความเฉลียวฉลาดของคน

คนในสังคมพัฒนา เชื่อว่า มนุษย์สามารถทำได้สำเร็จเกือบทุกอย่าง คนในสังคมมีค่านิยมที่ผลักดันให้แต่บุคคลแสวงหาความก้าวหน้า และค้นหาความสมารถเฉพาะตัว แล้วนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

คนในสังคมพัฒนา ไม่รังเกียจงาน ไม่ถือชั้นวรรณะที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน มีการสะสมทุน ทำงานหนัก ร่วมมือกันทำงาน และการยอมทำงานตามระบบ

สังคมพัฒนา เป็นสังคมที่ยึดหลักเหตุผล เน้นผลสัมฤทธิ์มากกว่าสถานภาพ และเกียรติยศ มีความสำนึกต่อส่วนรวม มีความสามารถที่จะทำงานเป็นกลุ่มโดยมีเป้าหมายร่วมกัน  และไม่ยอมปล่อยตนให้หลงใหลในความฟุ่มเฟือย

ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ก้าวหน้ามากประเทศหนึ่ง คนญึ่ปุ่นทำงานหนัก ประหยัด มีความจริงจัง และมีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิต เป็นคนที่ปฏิบัติตามกฏหมายและระเบียบวินัยข้อบังคับ โดยไม่มีการอะลุ่มอล่วยหรือลูบหน้าปะจมูก

สหรัฐอเมริกา ก็เป็นประเทศพัฒนาอีกประเทศหนึ่ง ที่นักสังคมศาสตร์มีความเห็นต้องกันว่า คนอเมริกันนั้นมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นคนประหยัด ทำงานหนัก และมีสมรรถวิสัยในการที่จะอดได้รอได้ เพื่อสิ่งทีดีกว่าในโอกาสข้างหน้า

อาจสรุปได้ว่า สังคมที่พัฒนานั้น จะต้องมีลักษณะทางวัฒนธรรมการทำงานที่เอื้อต่อการพัฒนา เช่น ทำงานหนัก ประหยัด มีความพยายามที่จะเอาชนะอุปสรรคสูง นิยมการแข่งขัน รู้จักทำงานร่วมกันเพื่อความเจริญก้าวหน้าของส่วนรวม เหล่านี้เป็นต้น

ส่วนประเทศด้อยพัฒนา จะประกอบด้วยคนที่มีลักษณะแตกต่างจากสังคมพัฒนา คือคนส่วนใหญ่ ไม่เห็นคุณค่าของการทำงาน คิดแต่จะหาความสุขในปัจจุบัน ไม่รู้จักคุณค่าของเวลา ขาดระเบียบวินัยในการทำงาน มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อพิธีกรรม หรือรายจ่ายอื่นๆที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ไม่รู้จักหน้าที่และไม่มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม  มีการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต ใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อการเฉลิมฉลองในโอกาสต่างๆ เชื่อฟังอำนาจ และหาความสุขทางจิตใจ  เชื่อว่าชีวิตที่ดี  คือชีวิตที่มีความสุขท่ามกลางญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง

ประเทศที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ ส่วนมากเป็นประเทศใน ทวีปอาฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ เอเซียใต้ และเอเซียอาคเนย์

มาเลเซีย เป็นตัวอย่างของประเทศที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การมีวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกัน เป็นเหตุให้สมาชิกในกลุ่มมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน

ประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วยกลุ่มคน 3 กลุ่ม ที่มีเชื้อสายต่างกัน คือ ผู้มีเชื้อสายมาเลย์  จีน และอินเดีย คนเชื้อสายมาเลย์เป็นคนพื้นเมืองเดิม ส่วนคนจีนและอินเดียเพิ่งจะอพยพเข้ามาในตอนหลัง ทั้ง 3 กลุ่มนี้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน แต่เนื่องจากมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน มีประสิทธิภาพในการทำงานที่แตกต่างกัน ผลจึงปรากฎว่า แทนที่จะเป็นคนมาเลย์ กลับเป็นคนจีนที่คุมอำนาจทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในปัจจุบัน และในกรณีของประเทศไทยก็ไม่แตกต่างไปจากกรณีของมาเลเซียเช่นกัน

จะเห็นว่า วัฒนธรรมมีอิทธิพลเหนือการทำงานและการพัฒนา เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการทำงาน ให้เป็นไปได้ทั้งที่เอื้อ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ในการพัฒนาประเทศ ประชาชนจะต้องปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินชีวิตเสียใหม่ โดยจะต้องยอมรับค่านิยม ทัศนคติและนิสัยการทำงานแบบใหม่ เป็นทัศนคติและค่านิยมที่ช่วยให้บุคคลตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานอย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น การพัฒนาประเทศจะได้ผล จำเป็นจะต้องเริ่มด้วยการพัฒนาวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง ที่มีผลทำให้แบบแผนพฤติกรรมการทำงานของบุคคลในสังคมนั้นๆ มีลักษณะที่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

                                  ----------------------------------------------

อ้างอิงจาก:ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต(สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
                --------------------------------------------------------------------------

                                                   สาระคำ

วัฒนธรรม คือพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ เป็นพฤติกรรมที่ทำกันทั่วไปในหมู่คนกลุ่มหนึ่ง พฤติกรรมเหล่านั้น เป็นพฤติกรรมที่คนรุ่นเก่าถ่ายทอดไปยังลูกหลาน
                                  ----------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น