การจะบอกว่าการทำงานของคนไทยมีปัญหาหรือไม่ จำเป็นจะต้องมีการเปรียบเทียบถึงการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปรียบเทียบกับประเทศที่มีลักษณะคล้ายๆกัน หรือมีจุดเริ่มต้นการพัฒนาใกล้เคียงกัน หรือมีทรัพยากรมากน้อยพอๆกัน เพราะความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจบอกให้ทราบถึงประสิทธิภาพในการทำงานของคนในประเทศนั้นๆ
ประเทศแรก ที่ขอเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นกับไทยมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และลักษณะทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน มีการปกครองแบบรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางเหมือนๆกัน เมื่อก่อนไทยมีเศรษฐกิจดีกว่าญี่ปุ่น แต่หลังจากที่ไทยและญี่ปุ่นพยายามสร้างชาติให้เจริญตามแนวตะวันตกด้วยฐานทางเศรษฐกิจพอๆกัน พบว่า ในปี พ.ศ.2515 ญี่ปุ่นมีผลผลิตประชาชาติ ประมาณปีละ 4,000,000 ล้านบาท ส่วนไทยมีเพียงปีละ 100,000 ล้านบาท จะเห็นว่าญี่ปุ่นมีผลผลิตประชาชาติมากกว่าไทยถึง 40 เท่า และในปัจจุบันญี่ปุ่นมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวหน้ากว่าไทยมาก
ประเทศต่อไป ที่จะเปรียบเทียบ คือประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน พบว่า ขณะที่ไทยเริ่มพัฒนาแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียนเหล่านี้ ซึ่งได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ยังเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตก และในบรรดาประเทศเหล่านี้ อินโดเนเซียมีทรัพยากรธรรมชาติมากว่าประเทศอื่นๆ ส่วนประเทศสิงคโปร์แทบจะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเลย แต่จากการสำรวจรายได้ของประชาชนในปี พ.ศ. 2519 พบว่า ประชาชนสิงคโปร์มีรายได้สูงสุด ส่วนไทยมีรายได้เกือบลำดับสุดท้าย มากกว่าประเทศอินโดเนเซียเพียงประเทศเดียว
หากพิจารณาจากระบบเศรษฐกิจไทยอย่างพินิจพิจารณา จะพบว่าผู้คุมอำนาจทางเศรษฐกิจไทยที่แท้จริง คือ คนจีน ญี่ปุ่น และฝรั่งชาติตะวันตก ในบรรดาชาติเหล่านี้ ดูเหมือนว่า คนจีนจะมีอิทธิพลเหนือระบบเศรษบกิจของไทยมากที่สุด ธุรกิจการค้า นับตั้งแต่ค้าเล็กๆน้อยๆ จนถึงธุรกิจขนาดใหญ่เกี่ยวกับการเงิน การธนาคาร และการอุตสาหกรรมล้วนอยูในมือของคนจีน ส่วนญี่ปุ่น จะเกี่ยวข้องทางด้านอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสากรรมประกอบรถยนต์และอีเล็คโทรนิคส์ สำหรับฝรั่งชาติตะวันตก จะเกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าคนของชาติต่างๆเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะมีอำนาจเหนือระบบเศรษบกิจเท่านั้น แต่มีอำนาจเหนือระบบสังคมและการเมืองของไทยด้วย
ปัญหาที่กล่าวมานี้ ถ้าพิจารณาโดยยึดหลักที่ว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างปัญหาและเป็นผู้แก้ปัญหาแล้ว จะเห็นว่าในการแก้ปัญหา จำเป็นจะต้องอาศัยวิธีการทำงานที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และมีลักษณะการทำงานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหา
แต่การทำงานของคนไทยนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในทำนองที่ว่าคนไทยแม้จะมีมีพลัง และความกระตือรือร้น แต่ไม่ค่อยจะจริงจังในการทำงาน ไม่ยอมรับว่าการทำงานจะมีความดีในตัวมันเอง คนไทยไม่ชอบการทำงานที่ต้องรับผิดชอบมาก จะเลี่ยงการทำงานหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องใช้สมองอย่างลึกซึ้ง และใช้แรงกายหรือแรงงานอย่างหนัก เพราะการทำงานหนักไม่ใช่เรื่องสนุก
คนไทยจะให้ความสนใจอย่างมากกับสิ่งที่ให้ความสนุกสนาน การทำให้สนุกสนานบ่อยๆเป็นสิ่งที่ดี งานที่เกี่ยวกับความสนุกรื่นเริงต่างๆ อาทิ งานบุญ งานเลี้ยง หรืองานรื่นเริงต่างๆ คนไทยจะจัดอย่างเต็มที่ โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากและสิ้นเปลือง เข้าลักษณะ "งานทำเป็นเล่น แต่เล่นกลับทำเป็นรงาน"
คนไทยจะทำงานเฉพาะเท่าทีจำเป็นกับในการครองชีพ ถ้าเป็นงานหนักแม้จะมีรายได้สูง คนไทยก็ไม่อยากจะทำ ถ้าเป็นงานสบาย แม้จะได้เงินทองตอบแทนน้อยก็พอใจที่จะทำ คนไทยจะให้การยกย่องค่อนข้างสูงสำหรับผู้ที่ฉวยโอกาสหาประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว มากกว่าคนที่ประสบความสำเร็จด้วยการทำงานอย่างอุตสาหะวิริยะ
เพื่อหลีกเลี่ยงความเบื่อหน่ายในการทำงาน คนไทยจะทำงานแตกต่างไปจากรูปแบบที่กำหนดไว้เดิม โดยทำงานตามวิธีการของตนเอง เมื่อใดที่ต้องทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม มักจะมีปัญหาเสมอ เพราะขาดความสำนึกถึงกฎเกณฑ์ ขาดวินัยในการทำงาน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น กิจกรรมสหกรณ์มักจะประสบแต่ปัญหาอุปสรรค
ลักษณะการทำงานของคนไทยอีกอย่างหนึ่ง คือขาดความพยายามอย่างสม่ำเสมอ ทำอะไรไม่ค่อยเสมอต้นเสมอปลาย คนไทยยอมแพ้งายๆ ทำงานครึ่งๆกลางๆ คนไทยทำงานโดยไม่ค่อยวางแผน วิธีการใดที่มีลักษณะเห็นผลและใช้ได้ทันที คนไทยจะยอมรับและลองใช้ แต่ถ้าวิธีการนั้นเกี่ยวข้องกับนโยบายที่ต้องดำเนินการไปในอนาคตนานๆ คนไทยไม่ชอบทำ แลจะล้มเลิกในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง
เมื่อพิจาณาจากลักษณะการทำงานของคนไทยดังที่กล่าวมา จะพบว่าการทำงานของคนไทย นอกจากจะไม่เหมาะ ต่อการทำงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว ยังอาจจะเพิ่มความรุนแรงและความยุ่งยากในการแก้ปัญหาด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม หรือ การเมือง ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาเล่านี้อย่างจริงจัง จำเป็นจะต้องแก้ที่ลักษณะการทำงานของคนไทยก่อน มิฉะนั้นแล้วจะไม่อาจแก้ปัญหาต่างๆในสังคมไทยได้เลย
--------------------------------------------
อ้างอิงจาก:ไพศาล ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
-------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
เมื่อใดที่ต้องทำงานเป็นกลุ่ม เช่น งานพัฒนา หรือการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ของกลุ่ม มักจะมีปัญหาเสมอ เพราะคนไทยนั้นยากที่จะรวมกลุ่มโดยสมัครใจ
Robert L.Mole
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น