วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ครอบครัวกับการฝีกอบรมเลี้ยงดูเด็กให้รู้จักการทำงาน

ครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กมาก  ลักษณะของพ่อแม่ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี  จะมีโอกาสถ่ายทอดไปยังเด็กโดยการอบรม ทั้งโดยที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

เกี่ยวกับการทำงานก็เช่นกัน ชีวิตภายในบ้านเป็นแหล่งสำคัญในการสร้างประสบการณ์และความคุ้นเคยในการทำงาน เด็กจะได้รับการปลูกฝังค่านิยมและนิสัยการทำงานโดยไม่รู้สึกตัว ฉะนั้น หากประสงค์จะให้เด็กมีทัศนคติ ค่านิยม และนิสัยการทำงานที่ดี ควรจะเริ่มให้การศึกษาอบรมตั้งแต่วัยเด็ก โดยเริ่มที่ครอบครัว

แต่จากการวิจัยพบว่า เด็กไทยไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานเพื่อช่วยเหลือตนเอง  พ่อแม่จะแสดงความรักลูกด้วยการช่วยเหลือทุกอย่าง ไม่ยอมให้ลูกทำอะไร ถนอมลูกมากเกินไป ไม่ยอมให้ลูกลำบาก การอบรมเลี้ยงดูเด็กในลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่เด็กจะไม่สามารถทำงานช่วยตัวเองได้เท่านั้น ยังทำให้เด็กมีลักษณะยึดตัวเองเป็นศูนย์  ไม่ยอมผูกพันตัวเองกับกฎเกณฑ์ของสังคมอีกด้วย

สำหรับแนวทางการฝึกอบรมเด็ก เพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมการทำงาน ควรจะกระทำในลักษณะต่อไปนี้

อบรมเลี้ยงดูให้เด็กมีโอกาสได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือตนเอง งานใดที่เด็กสามารถทำได้  อย่าช่วยเหลือจนเด็กทำอะไรไม่เป็น อบรมให้เด็กรู้จักทำงานที่เป็นหน้าที่ของตน เช่น รู้จักเก็บรักษาเครื่องใช้ของตน ซักรีดเสื้อผ้า จัดเก็บที่หลับที่นอน ฯลฯ การจะให้เด็กทำงานเพื่อช่วยตัวเองในลักษณะใดนั้น ขึ้นอยู่กับวัยของเด็ก การอบรมเลี้ยงดูเด็กในลักษณะนี้ จะช่วยให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่คิดจะพึ่งคนอื่นตลอดเวลา

ฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวประกอบอาชีพ ความจริงการให้ความรู้และทักษะเพื่อการทำงานนั้น ครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกของการทำงาน การฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวประกอบอาชีพในที่นี้ เป็นเพียงการสร้างความคิด ความเชื่อ และค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานที่เหมาะสม เช่น ให้เด็กมีแนวคิดว่าคุณค่าของคนอยู่ที่การทำงาน ผู้ทำงานสุจริตทุกชนิดเป็นผู้มีเกียรติ มนุษย์สามารถทำสิ่งต่างๆได้สำเร็จ ถ้าพยายาม ฯลฯ ขณะเดียวกัน ก็ฝึกนิสัยของผู้ทำงานที่ดี ให้ข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับการประกอบอาชีพในโลกปัจจุบัน ตลอดจนรู้จักใช้จ่ายเงินที่หามาได้ เหล่านี้เป็นต้น

สำหรับประสบการณ์ในการทำงาน ควรเริ่มด้วยการให้เด็กรู้จักทำงานง่ายๆ เปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการทำงานทุกชนิด การให้เด็กทำงานนั้น อย่าให้เด็กทำเพราะเป็นการแบ่งเบาภาระ แต่ให้เด็กทำเพื่อฝึกการทำงาน ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่เด็กทำงานจึงต้องคอยดูแลและให้คำแนะนำด้วยเสมอ

การอบรมเลี้ยงดูไม่ควรตามใจหรือ"โอ๋"เด็กมากจนเกินไปจนทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญเหนือคนอื่น อย่ากลัวว่าเด็กจะลำบาก อย่ามุ่งแต่สร้างความพอใจให้เด็กเป็นสำคัญ เพราะการอบรมเลี้ยงดูในลักษณะนั้น เป็นการทำให้เด็กมีบุคลิกภาพที่ไม่ยึดถือระเบียบกฎเกณฑ์ ไม่ยอมผูกพันตัวเองเพื่อรับผิดชอบสังคม ซึ่งเป็นลักษณะที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างยิ่ง

ควรหลีกเลี่ยงการกระทำหรือการชี้แนะที่ทำให้เด็กเกิดความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น เชื่อในเรื่องภูติผีปีศาจ โชคชะตา อำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ บุญกรรมแต่ปางก่อน ฯลฯ เพราะความเชื่อในลักษณะนี้ มีผลทำให้เด็กเชื่ออำนาจภายนอก มากกว่าที่จะเชื่อความสามารถของตนเอง(self-reliance) ซึ่งคนที่เชื่ออำนาจภายนอกจะมีลักษณะเฉื่อย(passive) ขาดความกระตือรือร้นที่จะทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งในส่วนบุคคลและสังคม

ดังนั้น ถ้าอยากให้ลูกโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถในการทำงานเพื่อตนเองและสังคมแล้ว จะต้องเริ่มฝึกอบรมตั้งแต่วัยเด็กให้รู้การทำงาน และคนที่เป็นพ่อแม่จะต้องจำไว้เสมอว่า  รักลูกต้องสอนให้ลูกรู้จักทำงาน เพราะการทำงานแสดงถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
--------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก: ไพศาล  ไกรสิทธิ์ วัฒนธรรมการทำงานของคนไทย  ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                  สาระคิด

เด็กไทยไม่ได้รับการสอนให้พึ่งตนเอง(self-dependent) แต่ค่อนข้างจะสอนให้พึ่งคนอื่น เพื่อสนองความต้องการของตน

                                                               Niels Mulder
*****************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น