วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ผู้เรียนต้องการอะไรจากการศึกษา

ผู้เรียนแต่ละคนมีความต้องการอันจำเป็น(need)อยู่จำนวนหนึ่ง เป็นความต้องการที่ขาดไม่ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินชีวิตและการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความต้องการเหล่านี้จะต้องได้รับการตอบสนองโดยระบบสังคมต่างๆในสังคม ชีวิตจึงจะดำเนินไปได้อย่างมีความสุข

สำหรับระบบการศึกษา ผู้เรียนมีความต้องการที่จะได้รับการตอบสนองในเรื่องต่อไปนี้

          1. การรู้หนังสือ  เป็นความต้องการของผู้เรียน ในการที่จะสามารถอ่านออกเขียนได้โดยใช้ภาษาของตน อันจะช่วยให้สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้  และช่วยให้สามารถค้นคว้าหาความรู้ที่ตนต้องการต่อไปได้

          2. การรู้จักหลักธรรมชาติ  เป็นความต้องการของผู้เรียน ที่จะรู้และเข้าใจหลักความจริงของธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ไม่หลงงมงายเชื่อถือโชคลาง หรืออำนาจลึกลับ การรู้จักหลักธรรมชาติจะมีผลต่อการดำเนินชีวิตของบุคคล อันจะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปโดยสอดคล้องกับธรรมชาติและมีความสุขได้

          3. การมีงานทำและมีรายได้  เป็นความต้องการของผู้เรียน ในการที่จะได้รับการฝึกฝนทางด้านอาชีพ และสามารถประกอบอาชีพการงานได้ ตลอดจนมีงานทำเป็นหลักแหล่ง มีรายได้พอแก่การดำรงชีพ อย่างน้อยก็มีรายได้ขั้นต่ำ  อันจะเป็นเครื่องประกันว่า บุคคลจะไม่ต้องประกอบมิจฉาชีพ และมีช่องทางที่จะเจริญก้าวหน้าไปในสายอาชีพของตน

          4. สุขภาพและอนามัย เป็นความต้องการของผู้เรียน ที่จะได้รับการแนะนำและฝึกฝนให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี มีนิสัยที่จะประพฤติปฏิบัติในการรักษาความสะอาดและสุขภาพของตน อันจะนำไปสู่การดำรงชีพที่ผาสุกวิธีหนึ่ง

          5. ความสามารถในทางศิลปะและดนตรี เป็นความต้องการของผู้เรียน ที่จะได้รับการสอนและฝึกฝน ให้รู้จักหาความเพลิดเพลินจากการฟัง การชม หรือการแสดงด้วยตนเอง จากงานศิลปะและดนตรี หรือการร้องรำต่างๆ อันเป็นสิ่งที่ช่วยให้บุคคลหาความเพลิดเพลินอารมณ์ได้ และเข้าสมาคมกับผู้อื่นได้

          6. ความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นความต้องการของผู้เรียน ที่จะได้รับการสั่งสอนอบรมให้เข้าใจและประพฤติปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล หรือกลุ่มบุคคล และสอดคล้องกับสถาบันต่างๆในสังคม อันจะนำไปสู่ความราบรื่นผาสุกในการดำรงชีพในสังคม

           7. การจักแก้ปัญหา เป็นความต้องการของผู้เรียน ที่จะได้รับการฝึกการอบรมสั่งสอนให้รู้วิธีการและมีความสามารถในการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับตน ซึ่งจะช่วยแก้ไขสิ่งที่เป็นทุกข์ให้หมดไป หรือมีเหลือน้อยที่สุด อันจะนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่เป็นสุขได้

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นความต้องการของผู้เรียนที่ต้องการจะได้จากการศึกษา เพื่อการดำรงชีพที่มีความสุข หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งชีวิตก็จะมีความสุขได้ยาก

แต่จาการศึกษา พบว่าการศึกษาไทยไม่ได้ตอบสนองความต้องการต่อไปนี้ได้มากเท่าที่ควร ได้แก่ ความต้องการการรู้หนังสือ การทำงานและมีรายได้ และความต้องการการรู้จักแก้ปัญหา

การรู้หนังสือ   พบว่าผู้เรียนที่เรียนจบระดับประถมศึกษาจำนวนมาก ที่อ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ดีเท่าที่ควร  แต่มีความพยายามจัดให้ผู้เรียนในระดับประถมศึกษาเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นมาอีก โดยอ้างความจำเป็นต่างๆนานา ผลสุดท้ายเด็กไทย อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ความจริงการรู้ภาษาต่างประเทศไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ค่อยเรียนในชั้นมัธยมศึกษาน่าจะดีกว่า เพราะภาษาไทยเป็นภาษาของชาติ มีความจำเป็นต้องใช้มากกว่าภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศ

การทำงานและมีรายได้ การศึกษาไทยแทบทุกระดับ สอนหนักไปในทางทฤษฎี ละเลยการปฏิบัติ  ตลอดจนไม่ให้ความสำคัญกับการทำงานโดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งสอนให้ผู้เรียนเรียนเพื่อเรียนต่อสูงขึ้น จนผู้จบการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่มีความรู้เพียงพอที่จะทำงานในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ได้ จัดได้ว่าการศึกษาไทยเป็นการศึกษาที่ผลิตคนเพื่อทำงานในเมือง  เป็นการศึกษาที่ไม่อาจเปลี่ยนค่านิยมการทำงานที่รังเกียจงานใช้มือได้

การรู้จักการแก้ปัญหา พบว่าผู้จบการศึกษาไทยแทบทุกระดับเป็นคนคิดไม่เป็น ไม่รู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่รู้จักการแก้ปัญหา ทั้งนี้เพราะ การศึกษาไทยแทบทุกระดับ มีวิธีสอนที่ครูอาจารย์มีหน้าที่บอก ผู้เรียนมีหน้าที่จด จำและนำไปปฏิบัติ โดยไม่ได้รับการฝึกฝนให้รู้จักการแก้ปัญหาหรือศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง เมื่อจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็น ก็แสดงความคิดเห็นตามตำรา  ซึ่งหลายครั้งที่ไม่ตรงกับบริบทของสังคมไทย จนเกิดความขัดแย้งขึ้น หาความสุขได้ยาก


นั่นคือ ถ้าต้องการให้คนไทยดำเนินชีวิตไปได้อย่างปกติสุข การศึกษาไทยจะต้องตอบสนองความต้องการของผู้เรียนทั้ง 7 ประการ ดังกล่าวแล้ว โดยเพิ่มความสำคัญในการตอบสนองความต้องการการรู้หนังสือ การมีงานทำและมีรายได้ และความต้องการการรู้จักแก้ปัญหาให้มากกว่าชึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                     การศึกษาที่ให้คนเรียนรู้ แล้วไม่สามารถประกอบอาชีพได้นั้น เป็นการศึกษาที่สูญเปล่า
                         เป็นการศึกษาที่ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจสังคมทั้งของส่วนตัวและส่วนรวมได้

                                                                                   บรรจง ชูสกุลชาติ
                                                                       อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น