มีคำกล่าวว่า การจะเข้าใจตนเองและบุคคลอื่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจธรรมชาติและปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์
ถึงกระนั้นก็ตาม หากพิจารณาถึงธรรมชาติของมนุษย์ นักจิตวิทยาเองก็มีความเชื่อแตกต่างกันแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มคือ
1. กลุ่มปัญญานิยม กลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์เป็นผลผลิตของการปรับตัวในสภาพแวดล้อม นักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้แก่ เลวิน พีอาเจท์ และ โคลเบอร์ก
2. กลุ่มพฤติกรรมนิยม กลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์เป็นผลผลิตของการเรียนรู้ นักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้แก่ ฮัลและ สกินเนอร์
3. กลุ่มมนุษยนิยม กลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์ดีได้ด้วยตนเอง พฤติกรรมของมนุษย์นั้นเป็นผลิตผลของความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ นักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้แก่ โรเจอร์ส และมาสโลว์
4. กลุ่มจิตวิเคราะห์ กลุ่มนี้เชื่อเรื่องจิตและการวิเคราะห์จิตซึ่งเป็นพฤติกรรมภายใน นักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้แก่ ฟรอยด์ และ ฟรอมม์
นักจิตวิทยาเหล่านี้มีความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์แตกต่างกันก็จริง แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งกัน เป็นการมองต่างมุม เมื่อผสมผสานความเชื่อของแต่ละกลุ่มเข้าด้วยกัน กลับทำให้มองเห็นธรรมชาติของมนุษย์ชัดเจนยิ่งขึ้น
ในการที่จะเข้าใจตนเองและผู้อื่น นอกจากจะต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ยังจะต้องเข้าใจองค์ประกอบของตวามเป็นมนุษย์ ซึ่งนักจิตวิทยาเชื่อว่า ความเป็นมนุษย์ประกอบด้วยปัจจัย 3 ประการ กล่าวคือ
1. สิ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยผ่าน ยีนส์ ซึ่งได้แก่ ลักษณะของสีที่ปรากฎในส่วนต่างๆของร่างกาย ลักษณะของใบหน้า ลักษณะประจำเพศ สัดส่วนของร่างกาย การทำงานของร่างกาย เพศ หมู่เลือด โรคบางชนิด สติปัญญา และความถนัด
2. สิ่งแวดล้อม หมายถึง เงื่อนไขหรือสภาพต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
2.1 สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์มาก เพราะวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตของมนุษยในสังคมหนึ่งๆ ซึ่งคนที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกันจะมีวิถีชีวิตอย่างเดียวกัน มนุษย์ถูกกล่อมเกลาให้การศึกษาอบรมตั้งแต่เด็กว่าให้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับวัฒนธรรม ประสบการณ์ต่างๆของมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม การแสดงพฤติกรรมต่างๆจะเป็นไปตามแนวทางที่ได้รับการกล่อมเกลาทางวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมได้แก่ ขนบธรรมเนียม ภาษา สื่อต่างๆทางสังคม เป็นต้น
2.2 สิ่งแวดล้อมระหว่างบุคคล เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คือคนๆหนึ่งจะมีคนอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้อง บุคคลที่มาเกี่ยวข้องจัดเป็นสิ่งแวดล้อมของบุคคลนั้น เช่น พ่อแม่เป็นสิ่งแวดล้อมของลูก เป็นต้น
3. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาพบว่า มนุษย์เป็นผลของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม ในลักษณะที่พันธุกรรมเป็นตัววางขอบข่ายของการพัฒนา ส่วนสิ่งแวดล้อมจะตัดสินว่าจะพัฒนาไปในลักษณะใด ซึ่งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคคลใน 2 ลักษณะ กล่าวคือ
3.1 การควบคุมจากสังคม เป็นการควบคุมพฤติกรรมของบุคคล ให้เป็นไปตามค่านิยมและกฎเกณฑ์ของสังคม โดยใช้วิธีให้รางวัลถ้าทำตามกฎเกณฑ์ และจะถูกลงโทษเมื่อทำผิดไปจากกฏเกณฑ์ของสังคม
3.2 ความปรารถนาจากสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงมีความต้องการที่จะได้รับการยอมรับ และความชื่นชมจากกลุ่ม พฤติกรรมของมนุษย์จึงต้องอยู่ภายใต้ความปรารถนาของสังคม ภายใต้ มโนธรรม ความภูมิใจในตน และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
ธรรมชาติของมนุษย์และองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์ที่กล่าวมา เป็นสาระสำคัญที่จะช่วยให้บุคคลเข้าใจตนเองและผู้อื่น หากบุคคลไม่เข้าธรรมชาติและองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์ ก็ยากที่จะเข้าใจตนเอง มีผลทำให้การพัฒนาตนไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกันหากไม่เข้าใจผู้อื่นก็ยากที่จะมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีผลทำให้ทำอยู่ในสังคมไม่ปกติสุขนัก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
Good luck and good fortune come to those who seek opportunity.
Frank Newman
*********************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น