การเข้าใจทีท่า(style)ของมนุษย์ จะช่วยให้เข้าใจตนเองและผู้อื่น ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำงานและมีความสุขในชีวิต ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับความเข้าใจตนเองและผู้อื่น นั่นคือการเข้าใจทีท่าของมนุษย์ จะช่วยให้เกิดความสำเร็จในการทำงานและมีความสุขในชีวิต
ทีท่า คืออะไร ทีท่าของบุคคลใด ก็คือ พฤติกรรมของบุคคลที่บุคคลอื่นมองเห็น ซึ่ง เดวิด เมอริลล์ (David Merrill) เห็นว่า การจะบอกว่าทีท่าของบุคคคลนั้นเป็นอย่างไร จะต้องใช้แบบแผนของพฤติกรรมยืนกราน(assertive behavior)และพฤติกรรมตอบสนอง(responsive behavior) ที่สังเกตเห็นได้ประกอบกันเป็นตัวทำนาย
พฤติกรรมยืนกราน แบ่งออกเป็น พฤติกรรมยืนกรานสูงและพฤติกรรมยืนกรานต่ำ ซึ่งทั้ง 2 พฤติกรรมมีลักษณะแตกต่างกัน
ดัชนีชี้วัดบอกระดับของพฤติกรรมยืนกราน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
รายการ ยืนกรานต่ำ ยืนกรานสูง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
1. ปริมาณการพูด น้อย มาก
2. อัตราการพูด ช้ากว่า เร็วกว่า
3. น้ำเสียง เบากว่า ดังกว่า
4. การเคลื่อนไหว น้อย/ช้ากว่า มาก/เร็วกว่า
5. การแสดงพลัง น้อย มาก
6. ท่าทาง เอนไปข้างหลัง ชะโงกไปข้างหน้า
7. การแสดงปฏิกิริยาที่เต็มไปด้วยการบังคับ น้อย มาก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ส่วนพฤติกรรมตอบสนองแบ่งออกเป็น พฤติกรรมตอบสนองสูงและพฤติกรรมตอบสนองต่ำ เช่นเดียวกัน และทั้ง 2 พฤติกรรมมีลักษณะแตกต่างกัน
ดัชนีชี้วัดระดับของพฤติกรรมตอบสนอง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
รายการ ตอบสนองต่ำ ตอบสนองสูง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
1. การแสดงออกทางสีหน้า น้อย มาก
2. การเปลี่ยนของน้ำเสียง น้อย มาก
3. การเลื่อนไหลของการเปลี่ยนกริยาท่าทาง น้อย มาก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เดวิด เมอริลล์ได้ใช้พฤติกรรมยืนกรานและพฤติกรรมตอบสนอง จำแนกท่าทีของมนุษย์ ตามที่บุคคลอื่นรับรู้ออกเป็น นักวิเคราะห์ นักแข่งขัน นักแสดงออก และนักสังคม
1.นักวิเคราะห์
นักวิเคราะห์เป็นกลุ่มที่มีทีท่าสมบูรณ์ที่สุด เป็นพวกที่มีพฤติกรรมตอบสนองต่ำกว่าเฉลี่ย และมีพฤติกรรมยืนกรานน้อยกว่าค่าเฉลี่ยเช่นกัน
นักวิเคราะห์จะกำหนดค่ามาตรฐานไว้สูง การทำงานจึงต้องใช้เวลาเพื่อให้บรรลุมาตรฐานที่กำหนดไว้
พวกนี้มีแนวโน้มที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด เพราะมีแนวโน้มที่จะมีลักษณะสมบูรณ์แบบนิยม จึงเป็นคนจริงจังทั้งกับตนเองและผู้อื่น
นักวิเคราะห์จะทำงานที่เป็นระบบ การจัดการดี กระหายข้อมูลยิ่งมากยิ่งดี เพราะเชื่อว่าความรู้คืออำนาจ เมื่อเจอกับสถานการณ์ที่เสี่ยงจะรอบคอบ ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่าเสียใจภายหลัง
นักวิเคราะห์ชอบอยู่ตามลำพังหรืออยู่กับคนไม่มาก ชอบอยู่ประจำสำนักงาน ถ้าเป็นผู้บริหารชอบเดินดูรอบๆเพื่อหาข้อเท็จจริง
นักวิเคราะห์มีทีท่าที่เงียบที่สุด พุดน้อยกว่าทีท่าอื่นๆ เว้นแต่จะพูดถึงรายละเอียด ชอบเขียนมากกว่าใช้วิธีการสื่อสารอย่างอื่น ไม่ชอบแสดงความรู้สึกในเรื่องต่างๆ เลี่ยงการใช้อารมณ์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง
2.นักแข่งขัน
นักแข่งขันเป็นพวกนี้มีระดับการยืนกรานสูงกว่าค่าเฉลี่ย และมีพฤติกรรมตอบสนองต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
เป็นพวกมุ่งผลที่จะได้ มุ่งเป้าหมาย เป็นพวกอิสระ ชอบกำหนดเป้าหมายด้วยตนเองมากกว่าที่จะให้คนอื่นกำหนดให้
นักแข่งขันชอบการทำงานให้สำเร็จ เมื่อเจอปัญหาจะต้องทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับปัญหานั้น แม้จะได้ผลไม่ดีที่สุดก็ตาม แต่นักแข่งขันจะรู้สึกโล่งที่ได้ทำอะไรบางอย่าง ชอบการตัดสินใจ และเชื่อว่าการไม่ตัดสินใจคือการตัดสินใจและเป็นการตัดสินใจที่แย่มากๆ
ในเรื่องความคิดเห็นหรือนโยบาย นักแข่งขันเปลี่ยนใจง่าย พวกนี้มีจุดมุ่งหมาย มีเหตุผล แต่เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนแผนเร็ว พูดเร็ว
เป็นพวกมุ่งงานมากว่ามุ่งคน แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่เอาใจใส่คนอื่น คือเป็นห่วงเหมือนกันแต่ไม่พูดมาก คนทั่วไปมองว่านักแข่งขันเป็นพวกที่มีพฤติกรรมยืนกรานสูงที่สุด
3.นักแสดงออก
นักแสดงออกเป็นพวกที่มีระดับของพฤติกรรมยืนกรานสูงกว่าค่าเฉลี่ย มีพฤติกรรมตอบสนองสูงกว่าทีท่าอื่นๆ
เนื่องจากมีพลังมากพวกนี้จึงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ชอบอยู่ที่จุดใจุดหนึ่งนานๆ หากมีการประชุมนานๆยังแสดงอาการไม่หยุดนิ่ง โดยเปลี่ยนเก้าอี้ไปเรื่อยๆ หรือเคลื่อนมือไม้เล่นไปเรื่อยๆ นักแสดงออกมีทีท่าทีเด่นกว่ากลุ่มอื่นๆ
นักแสดงออกมีเพื่อฝูงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เมื่อใดที่นักแสดงออกต้องเลือกระหว่างการทำงานตามลำพังกับทำงานร่วมกับคนอื่น จะเลือกที่จะทำงานร่วมกับคนอื่น เพราะชอบสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น
นักแสดงออกเป็นพวกช่างฝัน ชอบสร้างวิมานในอากาศ เป็นพวกที่ทำก่อนคิดทีหลัง ทำให้เกิดปัญหากับตนเองและคนอื่นในที่ทำงานอยู่เสมอ ชอบทำงานตามโอกาสมากกว่าทำตามแผน ความรู้สึกของนักแสดงออกจะมีอิทธิพลเหนือตนเองมากกว่าทีท่าอื่นๆ
นักแสดงออกชอบเล่น ชอบสนุก หาวิธีการทำงานให้สนุกมากขึ้น เมื่อนักแสดงออกพูดจะแสดงออกในทุกส่วนทั้งหน้าตาท่าทางเพื่อการสื่อสาร พูดเสียงดัง เป็นพวกมุ่งคนมากกว่ามุ่งงาน
4. นักสังคม
นักสังคมเป็นพวกที่มีพฤติกรรมยืนกรานน้อยกว่าค่าเฉลี่ย มีพฤติกรรมตอบสนองสูงกว่านักวิเคราะห์
นักสังคมชอบเล่นเป็นทีม โดยปกติชอบทำงานกับคนอื่น แต่ไม่ชอบเด่น รู้จักให้เวลากับคนอื่น ชอบช่วยเหลือคนอื่น ชอบอาสา
นักสังคมมีความเป็นมิตร ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มีค่าในการทำงานกับคนอื่น นักสังคมมุ่งคนมากกว่างาน สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้ง่ายกว่าคนส่วนใหญ่ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำงานได้ดีในสถานการณ์ที่แน่นอนและมีโครงสร้างที่ชัดเจน
นักสังคมมีแนวโน้มที่จะไม่ตัดสินใจ และระมัดระวังในการตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อหาหลักประกันความเสี่ยง ไม่ชอบตัดสินใจอะไรที่เสี่ยงๆ นักสังคมมีความอดทนต่อคนอื่น ยึดมโนธรรม ไม่กระตือรือร้นที่จะอ่านรายงาน แต่ชอบฟังรายงาน
นักสังคมปฏิเสธที่จะบอกว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะกลัวว่าจะเกิดความแปลกแยก ไม่ชอบแสดงทัศนะโต้แย้ง ชอบรักษาความสัมพันธ์ ไม่เผชิญกับปัญหา
จากทีท่าของมนุษย์ทั้งสี่ทีท่า ไม่อาจสรุปได้ว่าทีท่าใดดีกว่าหรือเลวกว่าที่ท่าอื่น แต่ละทีท่ามีทั้งเข้มแข็งและอ่อนแอ แต่ละบุคคลจะมีทีท่าที่เด่น ที่มีอิทธิพลเหนือการทำงานของบุคคลนั้น แต่ละทีท่าประสบความสำเร็จได้ และแบบแผนพฤติกรรมของทีท่าหนึ่ง มีแนวโน้มที่จะก่อความเครียดกับอีก3 ทีท่า
หากบุคคลมีความเข้าใจทีท่าของมนุษย์ที่กล่าวมาทั้งหมด จะช่วยให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นได้มากขึ้น ถ้าใช้ความสังเกตและการวิเคราะห์อย่างมีระบบและสม่ำเสมอ ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในการทำงานและมีความสุขในชีวิต
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
Success is not the key to happiness. Happiness is the key to success.
If you love what you are doing, you will be successful.
Albert Schweitzer
*********************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น