อับราฮัม มาสโลว์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ให้กำเนิดจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม เจ้าของทฤษฎีการพัฒนาตนเต็มศักยภาพ อธิบายว่า การพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ เป็นการพัฒนาขั้นสุดท้าย เป็นความพยายามที่จะสนองความต้องการอย่างต่อเนื่อง เป็นระดับการพัฒนาส่วนบุคคลที่สูงที่สุด ผู้ที่พัฒนาได้เต็มศักยภาพตามอุดมคติถือว่าเป็นคนที่สมบูรณ์
ซึ่งมาสโลว์ ได้จำแนกลักษณะของคนที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ ไว้ดังนี้
1. การรับรู้มีความถูกต้องมากกว่าคนอื่นๆ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักภาพ สามารถที่จะรับรู้เกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างถูกต้องและตรงกับความเป็นจริง โดยไม่มองว่าความเป็นจริงเหล่านั้นเป็นปัญหาหรือบิดเบือนความเป็นจริงเหล่านั้น เป็นผู้มีความเข้าใจผู้อื่นและตัดสินผูัอื่นได้อย่างรวดเร็ว บุคคลที่สามารถรับรู้ความจริงได้ถูกต้อง จะมีสุขภาพจิตดี ไม่มีความวิตกกังวล ไม่มองโลกในแง่ร้าย มีความอดทนต่อความผิดหวังและความไม่แน่นอนมากกว่าคนอื่น
2. ยอมรับตนเอง ผู้อื่น และธรรมชาติของโลกอย่างที่มันเป็น ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ เป็นคนที่เห็นคุณค่าของตนและผู้อื่นตามความเป็นจริง มีความอดทนต่อข้อบกพร่องของตน มีอิสระจากการถูกครอบงำ ยอมรับในธรรมชาติของโลกว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง สิ่งทั้งหลายจะมีธรรมชาติของมันเอง
3. ทำได้ด้วยตนเอง มีความเรียบง่าย และมีความเป็นธรรมชาติ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ เป็นผู้มีจุดเด่นอยู่ที่การเป็นตัวของตัวเอง ทำได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้น มีพฤติกรรมที่ไม่เสแสร้ง ซึ่งบางครั้งพฤติกรรมบางอย่างอาจไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น
4. ยึดปัญหาเป็นศูนย์กลางมากกว่าที่จะยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา แต่มุ่งที่จะแก้ที่สาเหตุของปัญหา โดยไม่เอาความรู้สึกของตนเข้าไปเกี่ยว จะมีชีวิตเพื่อการทำงาน และอุทิศตนเพื่อการทำงานเต็มที่ตามหน้าที่และพันธกิจ
5. ชอบปลึกตัวและมีความต้องการเป็นส่วนตัว ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ ไม่กลัวที่จะอยู่ตามลำพังเป็นเวลานาน ชอบที่จะอยู่คนเดียว ความต้องการลักษณะนี้จะมีมากกว่าคนอื่นๆ ไม่สร้างความผูกพันหรือพึ่งพาคนอื่นมากนัก เพราะเชื่อความสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่เดือดร้อนที่จะต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีความเป็นมิตรอย่างลึกซึ้งกับคนไม่มาก ไม่ชอบเข้าสังคม ต้องการมีสมาธิอย่างจริงจังในเรื่องที่สนใจ
6. เป็นตัวของตัวเอง มีอิสระจากวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะมีความอิสระและไม่พึ่งบุคคลอื่น ไม่สร้างเงื่อนไขให้ความพอใจของตนขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เป็นผู้มีวินัยในตนเอง รู้จักำหนดวิถีชีวิตด้วยตนเอง เชื่อมั่นในความคิดเห็นของตน สามารถรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้เมื่อต้องเผชิญกับการปฏิเสธหรือไม่เป็นที่นิยม
7.ชอบความใหม่มากกว่าแบบเดิมๆ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แบบเดิมๆ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเกี่ยวกับตนหรือสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน จะมองสิ่งต่างๆด้วยความสดชื่นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา สามารถมีความซาบซึ้งและสดชื่นกับสิ่งดีๆที่เป็นพื้นฐานของชีวิต
8. เข้าใจสิ่งลึกลับและจิตวิญญาณ แม้สิ่งนั้นจะไม่เกี่ยวกับศาสนาก็ตาม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะมีความลึกซึ้งกับสิ่งลึกลับ ด้วยการศึกษาสิ่งลึกลับเหล่านั้น จะแสดงออกด้วยการหยั่งรู้และมีประสบการณ์ในเรื่องลักษณะนี้สูง
9. เข้าในมนุษย์และสนใจสังคม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ มีความรู้สึกเป็นญาติและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมนุษยชาติ มีความรักในเพื่อนมนุษย์ มีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น สนใจความเป็นอยู่ในสังคม มีความรู้สึกลึกๆและหนักแน่นต่อมวลมนุษย์ โดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นมนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นมนุษยชาติทั้งมวล
10. มีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์และรักคนไม่มาก ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ มีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างลึกซึ้งไม่มาก ต้องการเพื่อนแท้ โดยเฉพาะคนที่มีลักษณะและความสามารถพิเศษคล้ายๆกัน และเมื่อไม่พอใจ จะแสดงความรู้สึกไม่พอใจอย่างเปิดเผย
11. มีค่านิยมและทัศนคติแบบประชาธิปไตย ผู้ที่พัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ จะมีความสำนึกของความเป็นประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง มีค่านิยมและทัศนคติแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีความเคารพตอ่ผู้อื่น และเห็นว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน มีความเป็นเพื่อนโดยไม่ยึดเชื้อชาติ ศาสนา แต่ตั้งอยู่บนความเป็นมนุษย์
12. รู้ความแตกต่างระหว่างวิธีการและเป้าหมาย ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะยึดมั่นเป้าหมายดีงามที่เกิดขึ้น สามารถวิเคราะห์ความแตกต่างของเป้าหมายที่ต้องการกับวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้น และมีความสุขที่ได้พบวิธีการที่เหมาะสมที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ มีการพัฒนาทางจริยธรรมสูงและมีการปฏิบัติโดยยึดจริยธรรม
13. มีอารมณ์ขันอย่างมีสติ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะเป็นคนมีอารมณ์ขัน เป็นอารมณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดศัตรู หรือทำให้คนอื่นเสียหาย เช่น ไม่มีอารมณ์ขันกับข้อบกพร่องหรือปมด้อยของผู้อื่น หรือไม่สร้างสถานการณ์ขบขันให้ผู้อื่นอับอาย หรือเจ็บปวด
14. มีความคิดสร้างสรรค์ ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะมีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าคนอื่น โดยแสดงออกในการดำเนินชีวิตประจำวัน บุคลิกภาพ และในการทำงาน
15. ต่อต้านการทำอะไรเหมือนๆกันเพื่อให้เป็นไปตามวัฒนธรรม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะไม่ยอมทำอะไรเพียงเพราะมีเหตุผลเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม ยินดีที่จะทำสิ่งใหม่ๆ รับวัฒนธรรมใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและสังคม และมีความรู้สึกส่วนตัวที่ขัดแย้งกับบรรทัดฐานทางสังคม
16. เข้าใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่จะจัดการสิ่งแวดล้อม ผู้ที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ จะเข้าถึงธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมและความพอใจของตน
มาสโลว์ เชื่อว่า การพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ แม้ว่าสติปัญญาจะช่วยในการพัฒนา แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญ และคนที่พัฒนาตนได้เต็มศักยภาพ ก็ใช่ว่าจะเป็นคนที่สมบูรณ์ทุกอย่าง มีความสำเร็จสมปรารถนาทุกอย่าง หรือสามารถปรับตัวได้ดียิ่ง แต่สำคัญอยู่ที่บุคคลเหล่านั้นเข้าใจตนเอง เช้าใจโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเครื่องชี้นำชีวิตตน ให้ประสบความสุขและความสำเร็จดีกว่าคนอื่น
มาสโลว์ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ เพราะถ้าบุคคลไม่เรียนรู้ ไม่แสวงหาความรู้ จะทำให้การพัฒนาเกิดการหยุดนิ่ง การศึกษาจึงเป็นกุญแจใขไปสู่การพัฒนาตน การศึกษาที่ดี จะช่วยให้บุคคลมีความรู้เกี่ยวกับตนเอง คือ รู้ค่านิยมของตน ซึ่งเป็นปัจจัยเบื้องต้นของการพัฒนาตนไปในทิศทางที่ถูกต้องตามเป้าหมาย
สำหรับคนที่พัฒนาตนได้เต็มศักภาพแห่งตน มาสโลว์เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Healthy Self, Self-actualzing Person, Fully Metamotivated Person, Alpsy, Fully Evolved Person และ Fully Human Person ซึ่งหมายถึง การเป็นคนที่พัฒนาได้เต็มศักยภาพทั้งสิ้น
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคำ
วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตของสังคมโดยส่วนรวม ไม่ได้หมายถึงเฉพาะสิ่งที่สังคมยอมรับว่าสูงหรือเป็นที่พึงปรารถนา เป็นพฤติกรรมที่คนรุ่นเก่าถ่ายทอดไปยังลูกหลาน
*********************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น