วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของระบบการเมือง

ระบบ หมายถึง ปฎิสัมพันธ์ของส่วนย่อยๆหลายๆส่วน เพื่อให้ระบบดำเนินไปตามปกติ ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งได้รับความกระทบกระเทิอน จะส่งผลไปถึงส่วนอื่นด้วย

ระบบการเมือง หมายถึง ปฏิสัมพันธ์ระหว่า่งส่วนย่อยๆในทางการเมือง เพื่อให้ระบบการเมืองดำเนินไปตามปกติ

ระบบการเมืองประกอบด้วยหน่วยสำคัญ 3 หน่วย คือ 1) รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลทั้งหลาย ได้แก่ รัฐบาลและกลไกของรัฐ 2) รูปแบบและอุดมการณ์ทางการเมือง อันได้แก่ ประชาธิปไตย เผด็จการ และ เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ และ 3) กลุ่มคนที่อยู่รวมกันและมีความภักดีต่อหน่วยการเมืองหน่วยเดียวกัน เช่น เมื่ออยู่ในประเทศไทยจะเกิดความรู้สึกว่าเป็นคนไทย

Gabriel A. Almond นักวิชาการรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้แบ่งความสามารถหรือสมรรถนะของระบบการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ออกเป็น ดังนี้

1. ความสามารถในการนำเอาทรัพยากรในสังคมมาใช้ 

ในการรักษาโครงสร้างต่างๆทางการเมือง  ตลอดจนกลไกการดำเนินงานบริหารรัฐ จำเป็นจะต้องมีทรัพยากร ทั้งที่เป็นวัตถุและมนุษย์ เป็นเครื่องสนับสนุนรัฐ ที่จะต้องให้บริการแก่สมาชิกของสังคม

การให้บริการเหล่านี้ ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และยิ่งรัฐขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่กว้างขวางออกไปมากเท่าใด ความสามารถในการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในสังคมมาใช้ก็ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น

2. ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม 

เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้ความคุ้มครองป้องกันคนในสังคม เพราะปกติคนและกลุ่มคนในสังคมมีผลประโยชน์และความต้องการที่แตกต่างกันและมีความขัดแย้งอยู่เสมอ

การควบคุมกลุ่มคนไม่ให้ขัดแย้งกันจนเป็นเหตุทำให้สังคมระส่ำระสาย จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญและเป็นเงื่อนไขแรกของการดำรงอยู่ของสังคม

3. ความสามารถในการแจกจ่าย 

เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดการแบ่งสรรปันส่วนสิ่งที่สังคมเห็นว่ามีคุณค่า เช่น การแบ่งสรรปันส่วนสินค้าและบริการต่างๆ การให้โอกาสอันเท่าเทียมกันที่จะได้รับบริการของรัฐ เช่น บริการทางการศึกษาและสาธารณูปโภค

ความสามารถในการแจกจ่ายเป็นหน้ที่ที่สำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากสังคมประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์แตกต่างกัน แม้จะเป็นหน้าที่ที่สำคัญ แต่การแบ่งปันผลประโยชน์โดยระบบการเมืองอาจกระทำได้ไม่ทั่วถึง หรือมีลักษณะที่เอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มหรือบางท้องถิ่น

ความสามารถในการนำเอาทรัพยากรในสังคมมาใช้ ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม ซึ่งได้แก่การใช้กฎหมาย  และความสามารถในการแจกจ่ายผลประโยชน์ มีความสมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง

ความสามารถในการแบ่งสรรผลประโยชน์ขึ้นอยู่กับความสามารถในการนำทรัพยากรมาใช้ และถ้าระบบการเมืองไม่มีความสามารถในการใช้กฎหมายบังคับ หน้าที่ในการเก็บภาษีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนำทรัพยากรในสังคมมาใช้ ก็เป็นไปได้ยาก

4. ความสามารในการใช้สัญลักษณ์ทางการเมือง 

สัญลักษณ์ทางการเมืองเป็นเครื่องช่วยสนับสนุนความชอบธรรมของผู้ปกครองและตัวระบบการเมือง ซึ่งสัญลักษณ์ทางการเมืองได้แก่ ธงชาติ อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ พิธีการต่างๆ เช่น วันสำคัญของชาติ เป็นต้น

ในสังคมที่ไม่มีความแตกต่างทางด้านศาสนามากนัก ศาสนาประจำชาติก็เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นจุดรวมแห่งความจงรักภักดีของคนในสังคม สถาบันกษัตริย์ก็จัดเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง

ในบางประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมมาก่อน และต่อมาสามารถเรียกร้องเอกราชได้สำเร็จ ผู้นำทางการเมืองอาจใช้สัญลักษณ์บางประการเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เพื่อเชื่อมโยงกับการเรียกร้องนั้น

5. ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของประชาชน 

เป็นความสามารถในการตอบสนองต่อการมีปฏิกิริยาของระบบการเมืองต่อความเคลื่อนไหวของสภาพแวดล้อมทางการเมือง

ความสามารถของระบบการเมืองข้อนี้อยู่ที่ความฉับไวในการตอบสนองความต้องการ ถ้าระบบการเมืองละเลยหรือปล่อยให้กลุ่มชนเกิดความคาดหวังและความต้องการโดยไม่ได้รับการตอบสนอง  ในระยะยาว ความตึงเครียดจะเกิดขึ้น และอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้


Gabriel A. Almond ไม่ได้สรุปว่า รูปแบบและอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครอง  แบบประชาธิปไตย แบบเผด็จการ หรือ เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ แบบใดที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์กว่ากัน

ความสามารถของระบบการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 5 ประการนีึ้ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะจะก่อความไม่สมดุลขึ้นในระบบการเมือง และเมื่อระบบขาดความสมดุล ปัญหาทางการเมืองจะเกิดตามมาอีกมากมาย และอาจนำไปสู่ระบบการเมืองที่ล้มเหลวได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคิด

                                 What you want in the state , you must put into the school.

                                                                                                     Plato

*********************************************************************************


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น