วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ปัญหาและอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากการศึกษา

การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และญี่ปุ่น ต่างก็ส่งเสริมการลงทุนทางการศึกษาอย่างมาก เพราะเห็นว่าแรงงานที่มีความรู้ความสามารถสูง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้ทรัพยากร การบริหาร และการจัดการ ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเทศกำลังพัฒนาก็เห็นความสำคัญของการศึกษา และได้ส่งเสริมการศึกษาอย่างมากเช่นกัน แต่พบว่ามีหลายประเทศ ที่ผู้สำเร็จการศึกษาบางส่วนไม่มีงานทำ อัตราการว่างงานของผู้มีการศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะมีสาเหตุมาจาก

1. ขาดการวางแผนการศึกษาที่ดี

การวางแผนการศึกษา คือ การวางแผนดำเนินการทางศึกษาของชาติในอนาคต ด้วยวิธีการแก้ไข ปรับปรุง หรือขยายการศึกษา ทั้งนี้ เพื่อลดความผิดพลาดและความสิ้นเปลือง

การศึกษาที่เป็นปัญหาและอุปสรรคส่วนใหญ่ ยังขาดการวางแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของประเทศ ทั้งนี้ เพราะขาดข้อมูลที่ถุกต้อง ว่าต้องการกำลังคนประเภทนั้นๆจำนวนเท่าไร

 นอกจากนั้น ยังเป็นการวางแผนที่ขาดการวิเคราะห์โครงการ ทำให้การจัดสรรทรัพยากรมีความไม่เหมาะสม ทำให้การลงทุนทางการศึกษาไม่ตรงเป้าหมาย ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมมากนัก

2. การลอกเลียนแบบการศึกษาจากต่างประเทศ

ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เห็นว่า ประเทศพัฒนาทั้งหลายประสบความสำเร็จในการลงทุนทางการศึกษา จึงพยายามที่จะนำแบบอย่างของประเทสพัฒนาเหล่านั้นมาใช้โดยไม่มีการดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

การศึกษาจึงไม่สามารถใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาและสนองความต้องการของประเทศได้ ซ้ำร้ายกลับก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ เป็นต้นว่า  การอพยพผู้มีการศึกษาสูงไปทำงานต่างประเทศ การมีทัศนคติที่ดีต่อการการทำงานในสำนักงานจนทำให้เกิดนิสัยเลือกงาน

3. ระบบการศึกษาขาดประสิทธิภาพ

ระบบการศึกษาที่ขาดประสิทธิภาพ เป็นการศึกษาที่เตรียมคนสำหรับการเป็นเสมียนและรับราชการ ส่วนการศึกษาในระดับสูงเน้นการเรียนรู้วิชาสามัญต่างๆในเชิงทฤษฎี โดยวิธีการท่องจำมากกว่าที่จะสอนให้รู้จักวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดความคิดริเริ่ม

หลักสูตรไม่ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ครูอาจารย์ขาดแรงจูงใจที่จะปรับปรุงวิธีสอนและค้นคว้าเพิ่มเติมให้ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ

ส่วนนิสิตนักศึกษาก็มุ่งแต่ประกาศนียบัตรปริญญาบัตร ไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถที่ควรจะได้ ดังนั้นคนที่จบการศึกษจึงขาดคุณภาพ ไม่มีความสามารถในวิชาชีพเพียงพอ ไม่ชอบทำงานหนัก

นอกจากนั้น ระบบการศึกษายังมีแนวโน้มที่จะผลิตคนในบางสาขาวิชามากเกินไป เช่น สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพราะผลิตได้ง่าย ต้นทุนการผลิตตำ และสังคมยอมรับเท่าๆกันกับการผลิตแพทย์ วิศวกร และช่างเทคนิค ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก

การผลิตคนในบางสาขาออกมามากเกินไป ทำให้เกิดปัญหาว่างงานของผู้มีการศึกษา

4.ความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา

ความไม่เท่าเทียมกัยทางการศึกษา เกิดจากจัดการจัดการศึกษาไม่ทั่วถึง หรือเป็นการจัดการศึกษาทั่วถึงในเชิงปริมาณ แต่มีปัญหาในเชิงคุณภาพ เพราะขาดครู ครูไม่ครบชั้น ครูไม่ครบวิชา ตลอดจน มีอุปกรณ์ทางการศึกษาไม่เพียงพอกับความต้องการ

ความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

5.หลักสูตรไม่สอดคล้องกับสถาพเศรษฐกิจและสังคม

ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้รับการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีอาชีพหลัก คือการเกษตร แต่หลักสูตรในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ส่งเสริมและให้ความรู้ด้านการเกษตรแก่ผู้เรียนอย่างเพียงพอ มุ่งแต่จะเตรียมคนให้เรียนรู้ เพื่อเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ

ความรู้ที่ได้จากระบบการศึกษาจึงไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ผู้จบการศึกษาไม่สามารถนำความรู้ไปใช้เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพได้

6. การจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนขาดความหลากหลาย

การศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นรูปแบบการศึกษาที่ถือเอาความยืดหยุ่นเป็นสำคัญ เป็นการศึกษาระบบเปิด ที่จัดการศึกษาแตกต่างไปจากการศึกษาในระบบโรงเรียน

เป็นการศึกษาที่สร้างความรู้ทักษะ และสมรรถภาพให้กับบุคคลที่อยู่นอกระบบโรงเรียน เช่น พัฒนาทักษะและความรู้ให้กับผู้ที่ประกอบอาชีพอยู่ เตรียมคนเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน สร้างความรู้และความเข้าใจในโลกของการทำงาน เป็นต้น

แต่จากการศึกษา พบว่า การจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาสายวิชาสามัญ ขาดความหลากหลาย จึงเป็นปัญหาและอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม

7.. การสูญเสียกำลังคนที่มีการศึกษาสูง

กำลังคนที่มีการศึกษาสูงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา เป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างเทคนิค และการผลิตคิดค้นวิทยาการใหม่ๆ ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆของประเทศ

แต่พบว่า ผู้มีการศึกษาสูงไม่ได้ทำงานในประเทศทั้งหมด มีอีกส่วนหนึ่งที่ออกไปทำงานในต่างประเทศ เพราะมีรายได้และมาตรฐานการครองชีพสูงกว่า มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ที่เป็นแรงดึงดูดที่สำคัญให้กำลังคนระดับสูงไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก  จึงมีผลทำให้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไม่ก้าวหน้าได้เร็วเท่าที่ที่ควร

จะเห็นว่า หากการศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนามนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศ เป็นการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มุ่งแต่จะลอกเลียนแบบการศึกษาของประเทศพัฒนา ขาดการวางแผนที่ดี ขาดครูอาจารย์ ขาดการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนขาด อุปกรณ์ทางการศึกษา การศึกษาก็จะกลายเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้เช่นเดียวกัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                                   ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา

                                            จะต้องเป็นความเสมอภาคที่ถึงพร้อม
                                 
                                                        ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

*********************************************************************************



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น