หากสังคมใดไม่ได้จัดให้มี หรือไม่สนใจหน้าที่ทางเศรษฐกิจของสังคมเท่าที่ควร สังคมนั้นก็จะเสื่อมสลาย เพราะมนุษย์ในสังคมนั้นจะไม่มีกินมีใช้หรือมีกินมีใช้แต่ไม่เพียงพอ
กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงเป็นกิจกรรมที่สังคมจะต้องจัดขึ้น เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ในสังคม เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในสังคม
กล่าวได้ว่า เศรษฐกิจและสังคมมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน(interdependent) เมื่อใดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างและหน้าที่ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจด้วยเสมอ และในทางกลับกัน หากมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามด้วยเสมอ การมีเศรษฐกิจตกตำ่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาทางสังคม
นอกจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ยังพบว่า ความแตกต่างของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา เกิดมาจากความแตกต่างในแบบแผนทางสังคมเป็นส่วนใหญ่
แบบแผนทางสังคมที่ปรากฎอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา มักจะไม่เอื้ออำนวยต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ปรัชญาและค่านิยมในสังคมด้อยพัฒนาไม่กระตุ้นให้คนทำงานหนัก ไม่กล้าเสี่ยงในการลงทุน ตลอดจนไม่กระตุ้นให้เกิดการออม
ทั้งนี้เป็นเพราะความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็ดี การพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ดี มีผลมาจากความพยายามของมนุษย์ และความพยายามของมนุษย์ขึ้นอยู่กับทัศนคติ ค่านิยม และโครงสร้างทางสังคม
สภาพแวดล้อมทางสังคม จึงอาจจะส่งเสริม หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาได้เช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ ความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวความคิดใหม่ จึงมุ่งปรับปรุงคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้นในทุกๆด้าน
นั้นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อสามารถลดหรือกำจัดความยากจน ภาวะการว่างงาน และมีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน อันมีผลทำให้คุณภาพของชีวิตมนุษย์ดีขึ้นใน 3 ด้านใหญ่ๆคือ
1. มีสิ่งสนองความต้องการสำหรับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และบริการด้านแพทย์และสาธารณะสุข เป็นต้น
2. มีเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เนื่องจากมีการศึกษา การมีงานทำ และมีสถานภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม
3.มีเสรีภาพในสังคมด้านต่างๆ เช่น การเลือกประกอบอาชีพ การเลือกบริโภค เป็นต้น
ซึ่งเป็นความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ยอมรับถึงอิทธิพลของเศรษฐกิจและสังคมที่มีต่อกัน
นั่นคือ ถ้าจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ดำเนินไปได้ด้วยดี จะต้องพัฒนาสังคมไปพร้อมๆกันด้วย เพราะเศรษฐกิจและสังคมต่างก็มีอิทธิพลซึ่งกันและกัน
ในกรณีของสังคมไทย จากผลการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของคนไทย พบว่าคนไทย มีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม พฤติกรรมการทำงาน และการศึกษาอบรม ที่ไม่ค่อยจะเอื้อกับการพัฒนามากนัก ด้วยเหตุนี้ในการจะพัฒนาเศรษฐกิจของไทย จะต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของคนไทยควบคู่กันไปด้วย การพัฒนาจึงจะมีประสิทธิผล
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคำ
สังคม คือ กลุ่มคน ที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน มีความรู้สึกเป็นกลุ่มหรือพวกเดียวกัน และยอมรับแบบแผนการดำเนินชีวิตของกลุ่มมาประพฤติปฏิบัติ
เศรษฐกิจ คือ การกระทำใดๆที่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันประกอบด้วย กิจกรรมเกี่ยวกับการผลิต การแลกเปลี่ยน การจำหน่ายจ่ายแจก และการบริโภค
*********************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น