วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

โครงสร้า่งสังคมระยะเปลี่ยนผ่านเป็นอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือสังคมจารึตนิยม สังคมระยะเปลี่ยนผ่าน และสังคมสมัยใหม่

สังคมระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นสังคมที่แปรเปลี่ยนจากสังคมจารึตนิยมไปสู่สังคมสมัยใหม่ ประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากอยู่ในช่วงสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน

สังคมระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆหลายด้าน มีการย้ายถิ่น มีการพัฒนาไปสู่สังคมสมัยใหม่ แต่ยังไม่ถึงขั้นอยู่ตัวที่จะเป็นสังคมสมัยใหม่ จึงทำให้เกิดลักษณะทั้งใหม่และเก่าในสังคมเดียวกัน

สังคมระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นระยะที่ก่อให้เกิดความสับสนแก่คนในสังคมที่ต้องการจะปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องค่านิยมและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

ในองค์กรรูปแบบใหม่ การให้ความสำคัญกับความอาวุโสลดลง เพราะต้องใช้ความสามารถในการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง  อันเป็นเหตุให้หลักเกณฑ์ของความเคารพนับถือเปลี่ยนไปด้วย

โดยภาพรวม สังคมระยะเปลี่ยนผ่าน จะมีลักษณะโครสร้างทางสังคม ดังนี้

1.สังคมเปิดกว้างขึ้น

ลักษณะทางสังคมที่เปิดกว้าง นำไปสู่การเลือ่นชั้นทางสังคมและการเปลี่ยนย้ายทางสังคม โดยมีการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งการศึกษาจะเป็นตัวเปิดโอกาสให้ชนชั้นรากหญ้า เช่น กรรมกร และชาวนาสามารถขยับชั้นทางสังคมขึ้นมาเป็นบุคคลที่มีวิชาชีพ เช่น แพทย์ นักกฎหมาย วิศวกร และข้าราชการ

การเลื่อนชั้นทางสังคม ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ คนที่อยู่ในชนบทมีโอกาสหางานทำและการย้ายถิ่นเข้าเมือง ผลสุดท้าย ทำให้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมา เป็นชนชั้นที่มีความรู้ ชนชั้นกลางที่เป็นพ่อค้าและนักธุรกิจมีจำนวนมากขึ้น

ดังนั้น โครงสร้างทางสังคมเดิมที่ประกอบด้วยชนชั้นผู้มีอำนาจทางการเมืองและชาวนาเป็นหลัก จะแปรเปลี่ยน มีชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักธุรกิจ และ กรรมการมากขึ้น

2. ค่านิยมและความเชื่อทางศาสนา

ในสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน ค่านิยมและความเชื่อทางศาสนาจะเริ่มถูกกระทบกระเทือน ทั้งนี้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการย้ายถิ่น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งมีหลักเกณฑ์แบบจารีตนิยมเริ่มเสื่อมคลายลง  และยังไม่มีค่านิยมใหม่ที่เป็นระบบมาทดแทน ทำให้เกิดความสับสน เกิดความขัดแย้งทางค่านิยม

ศาสนาซึ่งเคยเป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ก็เริ่มจะทำหน้าที่ได้น้อยลง ทำให้เกิดความเคว้งคว้าง ทั้งนี้เพราะคนห่างศาสนามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมือง  ประกอบกับคนในสังคมมีการศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความคิดแนวใหม่ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเป็นครั้งคราว

3. พฤติกรรม

เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมและการเปลี่ยนชนชั้นทางสังคม ประกอบกับมีสิ่งใหม่ๆเข้ามาในสังคม ทำให้พฤติกรรมของสมาชิกในสังคมระยะเปลี่ยนผ่านสับสนอยู่บ้าง เช่น กรณีของคนชนบทที่เข้ามาอยู่ในเมือง ที่ยังมีความเป็นอยู่และดำเนินชีวิตแบบชนบท แต่ต้องมีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เช่น การรักษากฎจราจรในการขับรถ การข้ามถนน ฯลฯ

ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ค่านิยมบางประการและชนชั้นทางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเริ่มแปรเปลี่ยน การเคารพตามฐานะและความอาวุโสเริ่มลดลง ทำให้เกิดความสับสน ในการแสดงพฤติกรรมต่อกันของคนในสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน

4. สถาบันหรือโครงสร้างทางสังคมเดิมแบบจารีตนิยมบางประการยังคงอยู่

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆดังที่กล่าวมา แต่สถาบันหรือโครงสร้างแบบจารีตนิยมบางประการก็ยังคงอยู่ ถึงแม้จะเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง เช่น การเล่นพวก หรือการอุปถัมภ์ช่วยเหลือสนับสนุน ยังคงมีความสำคัญต่อการได้ประโยชน์จากการทำงาน

ในสังคมไทย การวิ่งเต้นฝากเนื้อฝากตัว มีเจ้านายคุ้มครอง การถือตระกูลหรือเชื้อสาย การนับเครือญาติ ก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่

กล่าวโดยสรุป จะได้ว่าสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นสังคมที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างของเก่าที่ตกค้างมาจากสังคมจารีตนิยมกับของใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม อันเป็นกระบวนการปกติที่นำไปสู่สังคมสมัยใหม่

สำหรับสังคมไทยที่อยู่ระยะเปลี่ยนผ่าน ก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่แตกต่างไปจากประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป เพียงแต่ว่าไทยมีวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างไปจากสังคมอื่นๆ  จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดปัญหาแตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด แต่โดยภาพรวมแล้วไม่ถือว่าต่างกันมาก ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เหตุเพราะในสังคมระยะเปลี่ยนผ่านคนไทยบางกลุ่มมีความคิดความเชื่อ ค่านิยม เปลี่ยนไป  ในขณะที่บางกลุ่มพยายามที่จะรักษาของเดิมไว้ ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นตามมาเป็นครั้งคราว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคำ

ค่านิยม หมายถึง สิ่งที่สังคมเห็นว่ามีคุณค่า ทำให้คนในสังคมอยากได้ อยากเป็น และอยากมี

พฤติกรรม หมายถึง การกระทำ หรือแสดงออกเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า

*********************************************************************************



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น