วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

หลักการพื้นฐานของระบบการศึกษาเพื่อการพัฒนา

เป็นที่ยอมรับกันว่า การพัฒนาประเทศให้มั่นคงและยั่งยืน จะต้องพัฒนาคน ให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เอื้อต่อการพัฒนา

แต่มีหลายประเทศ ไม่ว่าจะทุ่มงบประมาณเพื่อการศึกษามากเพียงใด การศึกษาก็ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศได้ ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งเกิดจากขาดหลักการพื้นฐานของระบบการศึกษาเพื่อการพัฒนา

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ Louis Malassis ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Rural World : Education and Development. สรุปได้ว่า ในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนา มีหลักการพื้นฐานของระบบการศึกษาเพื่อการพัฒนาดังนี้

1.เป็นระบบการศึกษาเพื่อทุกคน

ระบการศึกษาเพื่อทุกคน เป็นระบบการศึกษาที่ตั้งอยู่บนหลักการเดียวกัน ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน
ระบบการศึกษาเพื่อทุกคนจะต้องจัดให้มีการศึกษาพื้นฐานที่เหมือนกัน และเป็นการศึกษาที่นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ในขณะเดียวกันจะต้องเตรียมผู้เรียนให้มีความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน เป็นความรับผิดชอบที่ต้องรับภาระเพื่อการพัฒนาสังคม

2. มีความเท่าเทียมกันในโอกาส

ความเท่าเทียมกันในโอกาสเป็นคำที่กล่าวถึงกันมากแต่ยากที่จะปฏิบัติ  ความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษาสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

ความจริงแล้ว ความไม่เท่าเทียมกันเป็นผลผลิตของสังคม แต่ความไม่เท่าเทียมกันนี้จะถูกทำให้คงอยู่เรื่อยไปโดยระบบการศึกษา หรือในทางตรงกันข้าม ความไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้อาจทำให้ลดลงโดยระบบการศึกษา ด้วยการเพิ่มความเท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษา ดังนี้

           2.1 ขยายการศึกษาก่อนวัยเรียน

          2.2 ปฏิรูปสถาบันการศึกษา

          2.3 การจัดการศึกษาตลอดชีวิต

การปฏิรูปสถาบันการศึกษา อาจทำได้ด้วยการเลิกระบบคัดเลือกก่อนเวลาอันสมควร โรงเรียนควรทดสอบเฉพาะความสำเร็จทางการเรียนเท่านั้น ส่วนการทดสอบเพื่อการประกอบอาชีพควรเป็นหน้าที่ของสังคม

3. มีวิธีสอนที่สะท้อนให้เห็นถึงแผนสำหรับสังคม

การเปลี่ยนแปลงวิธีสอน ไม่เพียงแต่มีเหตุผลจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม การประดิษฐ์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงวิธีสอนควรมีเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  เป็นสังคมที่มุ่งพัฒนาโครงสร้าง วิธีสอนควรกระตุ้นการทำงานเป็นทีม การทำงานเป็น
กลุ่ม การจัดการด้วยตนเอง และการจัดการร่วมกัน

4. ใช้การเรียนรู้เพื่อชีวิตและเป็นตัวแทนการพัฒนา

การพัฒนาสามารถบรรลุเป้าหมายได้หลายทาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการทางประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ และปรัชญาสังคมการเมือง ตลอดจนขึ้นอยู่กับประชาชนที่ได้รับการศึกษาอบรมทั้งในแง่ของวัฒนธรรมและเทคนิค โดยจะต้องเป็นผู้มีสมรรถนะเฉพาะทาง

การศึกษาพื้นฐานจะต้องเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การศึกษาอบรมจะต้องเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติ จะต้องให้มีการเรียนรู้ในลักษณะพหุวิทยาการ การสอนจะต้องเกี่ยวข้องกับการทำงานเป็นทีมและเตรียมตัวเพื่อใช้สหวิทยาการในการทำงาน

ทั้งหมดเป็นหลัการพื้นฐานของระบบการศึกษาเพื่อการพัฒนา ที่ผู้มีอำนาจทางการศึกษาจะต้องยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจัง หากต้องการจะให้ระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนาที่มีประสิทธผล
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

                                   ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการศึกษา

                     และความไม่เท่าเทียมกันในสังคมก็อาจทำให้ลดลงได้ด้วยระบบการศึกษาเช่นเดียวกัน

*********************************************************************************.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น