รัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับวุฒิสภาค่อนข้างมาก คือนอกจากทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา เลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบ ให้บุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการเลือกตั้ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
เมื่อมีความสำคัญเช่นนี้ วุฒิสภาจึงควรประกอบด้วยสมาชิก ที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างไปจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ประการแรก สมาชิกวุฒิสภาจะต้องเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ
ในสังคมไทยผู้ทีความเป็นผู้ใหญ่ จะต้องเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ และชาติวุฒิ การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งวุฒิสมาชิก จะต้องมีอายุไม่ตำ่กว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ และสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ก็เพราะตระหนักถึงความสำคัญของวัยวุฒิและคุณวุฒิ ว่าจะต้องมีความรู้และอายุมากพอที่จะทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ
ส่วนชาติวุฒิ อันเป็นคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งนั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ คงให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้เลือกตั้งที่จะเลือกสรรคนดี มีชาติมีตระกูล ได้รับการอบรมมาอย่างดี ไม่มีประวัติด่างพร้อย
ในทางจิตวิทยา ผู้มีวุฒิภาวะ คือเป็นผู้ที่โตเต็มวัย เติบโตทั้งทางกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เป็นภาวะที่สุกสุดขีด ไม่สุกๆดิบๆหรือห่าม มีอายุสี่สิบปีก็ต้องมีพฤติกรรมเยี่ยงคนอายุสี่สิบ ไม่แสดงพฤติกรรมเหมือนวันรุ่น
ประการต่อมา สมาชิกวุฒิสภาจะต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ความเป็นกลางหมายถึงการกระทำที่ยึดหลักฎหมายและความถูกต้อง
คุณสมบัติข้อนี้ รัฐธรรมนูญได้ ห้ามไม่ให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือพ้นจาการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกินห้าปีสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาสามารถทำงานอย่างเที่ยงธรรม เป็นกลาง และอิสระโดยไม่ผูกพันกับมติพรรคการเมือง
นอกจากนั้นยังกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งวุฒิสมาชิกจะต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อตัดความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ
ประการสุดท้าย สมาชิกวุฒิสภาจะต้องทำหน้าที่โดยไม่หวังคะแนนนิยม
คุณสมบัติข้อนี้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดไม่ให้สมาชิกวุฒิสภา ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระ และเมื่อสิ้นสุดการเป็นสมาชิกไม่เกินสองปี จะเป็นรัฐมนตรีหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ ที่กำหนดไว้เช่นนี้ ก็เพื่อไม่ให้สมาชิกวุฒิสภาทำงานเพื่อหวัง ตำแหน่งทางการเมืองหรือประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
คุณสมบัติทั้งหมดที่กล่าวมา จัดว่าเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน ที่สมาชิกวุฒิสภาพึงมี จึงจะสามารถทำงานได้อย่างสง่างาม มีเกียรติ และเป็นที่เชื่อถือของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐสภากำลังพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ หากมีการแก้ไขจนกระทบถึงคุณสมบัติที่กล่าวมา นับว่าเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ส่วนตน มากกว่าประโยชน์ชาติ
---------------------------------------------
สาระคิด
อย่าปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของนัการเมือง เพราะการตัดสินใจของนักการเมืองส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชาชน
-------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น